โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกอดีตเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและ ส.ส.ฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ กรณีที่เขาปล่อยให้ 'อิวังกา ทรัมป์' ลูกสาวคนโตของเขา และ 'จาเร็ด คุชเนอร์' สามีของอิวังกา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี20 (G20) ที่นครโอซากาของญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งคู่ยังได้รับอนุญาตให้ร่วมเดินทางไปกับทรัมป์ที่มีกำหนดการพูดคุยกับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ในเขตปลอดอาวุธ DMZ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญด้านความมั่นคงและประวัติศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.
นอกจากนี้ บัญชีทวิตเตอร์ของทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส @Elysee ยังได้เผยแพร่คลิปสั้นขณะที่เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พูดคุยกับเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา และคริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. และอิวังกาปรากฏอยู่ในคลิปดังกล่าวด้วย
คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์ขณะที่อิวังกาพยายามเข้าไปร่วมบทสนทนากับกลุ่มผู้นำประเทศและผู้บริหารไอเอ็มเอฟ แต่กลับถูกมองอย่างไม่เป็นมิตรจาก 'คริสตีน ลาการ์ด' และมีผู้ใช้ทวิตเตอร์นำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อเป็นจำนวนมาก พร้อมวิจารณ์ว่าอิวังกาทำตัวไม่เหมาะสม ขัดต่อหลักปฏิบัติทางการทูต ทั้งยังประเมินว่าท่าทีของผู้บริหารไอเอ็มเอฟดูจะไม่พอใจที่อิวังกาพูดแทรกขึ้นมา
สื่อการเมืองสหรัฐฯ The Hill รายงานว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กจำนวนมาก ไม่เฉพาะชาวอเมริกัน นำคลิปและภาพนิ่งของอิวังกาขณะพยายามแทรกบทสนทนาไปเผยแพร่ต่อโดยติดแฮชแท็ก #unwantedivanka (อิวังกาที่ไม่มีใครต้องการ) ทั้งยังมีการตัดต่อภาพอิวังกาลงในภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกหลายภาพ โดยมีนัยล้อเลียนว่าอิวังกา 'ไม่เข้าพวก' กับบุคคลสำคัญในภาพ โดยกระแสดังกล่าวติดอันดับต้นๆ ในทวิตเตอร์สหรัฐฯ จนถึงวันที่ 1 ก.ค.2562
เจสซิกา ดิตโท รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารประจำทำเนียบขาวสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์โต้กระแสโจมตีอิวังกา ทรัมป์ โดยระบุว่า เป็นเรื่องเศร้าที่ผู้มีใจอคติเกลียดชังเลือกโจมตีอิวังกา ทั้งที่เธอเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีทรัมป์ และเป็นผู้เข้าร่วมในการประชุม G20 ในฐานะผู้ดำเนินการโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงในโครงการความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ พร้อมย้ำด้วยว่าภารกิจเข้าร่วมการประชุม G20 การเดินทางเยือนเกาหลีใต้ และการพบกับผู้นำเกาหลีเหนือของ ปธน.ทรัมป์และคณะ ประสบความสำเร็จด้วยดี
ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งดูแลบัญชีทวิตเตอร์ Elysee แถลงผ่านสื่อว่า การนำคลิปวิดีโอที่มีอิวังกา ไปล้อเลียนและโจมตีเรื่องความเหมาะสม เป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของฝรั่งเศส พร้อมย้ำว่า การเผยแพร่คลิปไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือความเคลื่อนไหวใดๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังชี้แจงด้วยว่า คลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ก่อนที่อิวังกา ผู้นำประเทศกลุ่ม G20 ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ จะต้องเข้าร่วมการพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง
เอ็นบีซีนิวส์รายงานว่า อเล็กซานเดรีย ออกคาซิโอ คอร์เตซ ส.ส.นิวยอร์ก สังกัดพรรคฝ่ายค้านเดโมแครต เป็นหนึ่งในผู้ทวิตคลิปวิดีโออิวังกา ทรัมป์ ที่พยายามเข้าร่วมวงสนทนากับเหล่าผู้นำโลก โดยระบุว่า การเป็น 'ลูกสาว' ของใครสักคนไม่ใช่คุณสมบัติที่จะเอาไปอ้างในการทำงานได้ และรัฐบาลสหรัฐฯ ควรเปิดให้นักการทูตตัวจริงได้ปฏิบัติหน้าที่ การทำเช่นนี้กระทบต่อภาพลักษณ์ทางการทูตของรัฐบาลสหรัฐฯ
นอกเหนือจากการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ G20 อิวังกาและจาเร็ดเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาอาวุโสของ ปธน.ทรัมป์ ที่ได้ข้ามฝั่งไปยังเขตปลอดอาวุธ DMZ ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่ได้พบกับผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือในขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง และเป็นคนแรกที่ได้เดิมข้ามฝั่งจากเกาหลีใต้ไปยัง DMZ
ขากลับจากเกาหลีใต้เพื่อไปยังสหรัฐฯ อิวังกาให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกันสั้นๆ ว่า ภารกิจเยือนเกาหลีเหนือครั้งนี้ทำให้เกิดความรู้สึก 'เหนือจริง' ทำให้มีผู้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะอิวังกาเป็นที่ปรึกษาของทรัมป์ก็จริง แต่มีประสบการณ์ด้านการแสดงและธุรกิจแฟชั่น ไม่ใช่ประเด็นความมั่นคง เช่นเดียวกับจาเร็ดซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เช่นกัน
เสียงวิพากษ์วิจารณ์อิวังกา ทำให้ผู้สนับสนุน ปธน.ทรัมป์ โต้เถียงในทวิตเตอร์ว่าบทบาทในการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงเป็นสิ่งหนึ่งที่อิวังการิเริ่มตั้งแต่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติร่วมกับ ปธน.ทรัมป์ตั้งแต่ปี 2017 การล้อเลียนหรือต่อต้านอิวังกาจึงไม่ต่างจากการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้หญิงที่พยายามทำงานเพื่อผู้อื่น
ทว่า 'ฮอลลี แบกซ์เตอร์' คอลัมนิสต์ของดิอินดีเพนเดนท์ เผยแพร่บทความตอบโต้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของอิวังกาเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับของเธอนั้นมาจากการเลือกตั้งหรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามที่ควรจะเป็น
คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ อดีตผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ผู้นำการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ สมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช พรรครีพับลิกัน เป็นอีกคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์การปรากฏตัวของอิวังกาและจาเร็ดในคณะทำงานของ ปธน.ทรัมป์ โดยเขาให้สัมภาษณ์กับเดอะวอชิงตันโพสต์ว่า ภาพที่รัฐบาลทรัมป์กำลังสื่อให้คนทั่วโลกเห็น เหมือนกับการประกาศว่าสหรัฐอเมริกามี 'ราชวงศ์' เกิดขึ้น
ภาพดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศพันธมิตร เพราะการดำเนินการต่างๆ ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนไม่กี่คนในตระกูลทรัมป์ ทั้งยังเป็นการ 'ล้ำเส้น' ผู้ที่ควรปฏิบัติหน้าที่ตัวจริงอย่างไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ ฟีเวอร์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายกลาโหมในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน และที่ปรึกษาพิเศษของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ระบุว่า อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ก็เคยแต่งตั้ง 'โรเบิร์ต' หรือ 'บ๊อบบี' น้องชายของตัวเองเป็น รมว.ยุติธรรมเช่นกัน จนมีผู้ตั้งคำถามถึงการเอื้อประโยชน์ต่อเครือญาติและพวกพ้อง แต่กรณีของบ๊อบบี เคนเนดี้ เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองหลายปี จึงไม่มีเสียงคัดค้านมากเท่ากับกรณีของอิวังกาและจาเร็ด
ฟีเวอร์ระบุด้วยว่า บทบาทของอิวังกาในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ ยกระดับจากที่เคยนั่งในวงนอก สู่ใจกลางการประชุม เห็นได้จากภาพที่อิวังกานั่งเคียงข้างทรัมป์ในภาพถ่ายรวมหมู่ของเหล่าผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม G20 ที่ญี่ปุ่น
เขากล่าวสรุปว่า การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ จะถูกบันทึกลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ และการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญควรมีความรับผิดชอบ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ควรจะได้รับความเห็นชอบตามกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือการเสนอชื่อบุคคลที่ควรดำรงตำแหน่งให้สภาคองเกรสลงมติรับรอง ซึ่งต่างจากกรณีของอิวังกาและจาเร็ดที่ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งที่พิเศษด้วยอำนาจของประธานาธิบดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: