เวทีคุยเรื่องถนน หัวข้อ “ไม่อยากรู้ ก็ต้องรู้... อะไรอยู่ในห้อง ER” จัดโดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สะท้อนความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ผ่านมุมมองพยาบาลห้องฉุกเฉิน ผู้มีประสบการณ์ยาวนานมากกว่า 30 ปี
วรรณี มีขวด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ต้องทำความเข้าใจว่า “ห้องฉุกเฉิน” คือ “สถานที่กู้ชีพ” เคสผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ามานั้น ส่วนมากมักเกิดจากอุบัติเหตุทางถนน จากประสบการณ์ทำงานมากกว่า 30 ปี ได้พบเห็นผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกวัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เฉลี่ยเข้ารักษามากถึงวันละ 5-10 เคส บางรายเจ็บหนักถึงขั้นพิการและเสียชีวิต เมื่อเด็กเหล่านี้ตายก่อนวัยอันควร หรือต้องพิการไปตลอดชีวิต ทำให้พวกเขาต้องเสียโอกาส ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
แม้ว่าอุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ในแต่ละวันทีมงานห้องฉุกเฉินต้องทำการกู้ชีพ หรือ CPR บ่อยครั้ง พวกเราสู้กันเต็มที่ช่วยให้ถึงที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง แต่ด้วยการทำงานที่ใกล้ชิดผู้ประสบเหตุทุกวัน ทำให้ทุกคนในห้องฉุกเฉินรู้สึกหวั่นใจเหมือนกัน เวลามีสายโทรเข้ามา เพราะกลัวว่าอาจจะเกิดขึ้นกับครอบครัวและคนใกล้ตัว
“อุบัติเหตุทางถนนแต่ละเคส ไม่ได้ส่งผลต่อตัวผู้ประสบเหตุเท่านั้น แต่กระทบต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดด้วย การที่พ่อแม่ถูกตามตัวจากบ้าน ให้มาดูลูกที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล เป็นภาพที่ค่อนข้างบีบหัวใจอย่างมาก ยิ่งในเคสที่เด็กเสียแล้ว หรือประเมินได้ว่าหลังผ่าตัดจะต้องพิการ การที่พยาบาลต้องแจ้งกับผู้ปกครอง บางครั้งก็พูดไม่ออกเหมือนกัน ต้องตั้งสติเรียบเรียงคำพูดอยู่นาน เคสเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมาก” วรรณี กล่าว
วรรณี เชื่อว่าอุบัติเหตุทางถนน เป็นเรื่องที่ป้องกันได้หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทีมห้องฉุกเฉิน รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และเครือข่ายในพื้นที่ ได้พูดคุยกันว่าจะตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องออกไปทำงานป้องกันเชิงรุกควบคู่กันไปด้วย โดยทั่วไปแล้ว รพ. ทุกแห่ง จจะมีระบบข้อมูลอยู่เฝ้าระวังอยู่แล้ว จะรู้ว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด อย่างใน จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเด็กขับมอไซค์ก่อนวัยอันควร ขับโดยไม่มีใบขับขี่และไม่สวมหมวกกันน็อคเยอะมาก
วรรณี กล่าวว่า การขับมอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่อันตรายมาก เพราะส่วนใหญ่ 80% ของผู้ประสบเหตุ จะมาด้วยอาการบาดเจ็บที่หัว ซึ่งหมอต้องใช้เวลาผ่าตัดเคสละ 6-8 ชม. ในขณะที่ รพ. มีหมอผ่าตัดสมองเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งต้องดูแลคนไข้อื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก ดังนั้น ต่อให้มีหมอผ่าตัดสมอง 10 คน ก็ไม่เพียงพอ เราจึงส่งของมูลไป ศปถ. จังหวัด และร่วมกันทำมาตรการป้องกัน โดยสื่อสารความรู้เหล่านี้ไปยังชาวบ้าน ทำให้รู้ว่าแม้ส่วนใหญ่จะมีความรู้ แต่เป็นความรู้แบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่มากพอที่จะทำให้ตระหนัก ถึงอันตรายและการป้องกันที่ถูกวิธี
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทุกคนรู้ว่าเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ไม่ควรให้ขี่มอเตอร์ไซค์ แต่ด้วยวิถีชีวิตและข้อจำกัดจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อถามถึงความเสี่ยงและผลเสีย จากการไม่สวมหมวกกันน็อค ส่วนใหญ่กลัวโดนตำรวจจับและเสียค่าปรับ มากกว่าหัวกระแทรกพื้น สมองแตก พิการ และเสียชีวิต
“ช่วยป้องกันตัวเอง เพราะทุกคนในห้องฉุกเฉิน พวกเราต้องสู้กันอย่างหนักและโดดเดี่ยว อุบัติเหตุทางถนนเป็นศึกที่ไม่มีวันจบ เราไม่ได้หยุดเสาร์อาทิตย์ หรือ 8 วันตามวันหยุดราชการเหมือนคนปกติ ต้องพร้อมโดนเรียกตัวขึ้นเวรตลอดเวลา หากทุกคนช่วยกันป้องกันตัวเอง ขับขี่เคารพกฎจราจร ลดใช้ความเร็ว และสวมหมวกกันน็อค จะช่วยลดภาระทีมงานห้องฉุกเฉินลงได้มาก เรียกว่านอกจากตัวเองจะปลอดภัยแล้ว ยังช่วยส่งต่อผลบุญมาถึงพวกเราด้วย” วรรณี กล่าว
ด้าน ‘บุษริน เพ็งบุญ’ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.อินทร์บุรี กล่าวว่า กรณีลูกหลานประสบอุบัติเหตุทางถนน เป็นเรื่องยากมากที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะทำใจยอมรับได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับแจ้งข่าวจาก รพ. ถือเป็นสิ่งที่กระเทือนจิตใจอย่างมาก โจทย์ของพยาบาลและทีมห้องฉุกเฉิน คือทำอย่างไรให้พ่อแม่รับสภาพนั้นได้ ยิ่งในเคสที่จำเป็นต้องตัดแขนหรือขา จะสื่อสารกับผู้ปกครองยากมาก เพราะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างโหดร้าย เช่นเคสรถพ่วงชนรถบรรทุกเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เด็กอายุ 17 ปี ขาเละทั้ง 2 ข้าง เมื่อฝื้นสติที่ห้อง ER และรับรู้ว่าต้องตัดขาทั้งสองข้าง ทั้งหมอและพยาบาลต้องหายใจลึกๆ เมื่อต้องแจ้งกับตัวเด็กและครอบครัว
บุษริน กล่าวว่า ในเคสที่เรารู้เลยว่าผู้ประสบเหตุ เมื่อรักษาแล้วต้องพิการตลอดชีวิต เช่น เคสเด็กอายุ 16 ปี กระดูกเคลื่อนที่บริเวณคอ ด้วยความที่เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ทำให้สถานการณ์ในครอบครัวเปลี่ยนไป พ่อแม่ที่แก่เฒ่าต้องมาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เหนื่อยกายและต้องทุกข์ใจไปพร้อมกัน กรณีนี้ทีมแพทย์ต้องซับพอร์ตด้านจิตใจอย่างมาก พูดคุยกับทั้งคนไข้และผู้ปกครอง ให้ยอมรักและสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ตามบริบทของแต่ละครอบครัวเท่าที่จะทำได้
“จ.สิงห์บุรี เป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เฉลี่ย 80 ราย แม้อัตราการเกิดอุบัติเหตุไม่สูงนัก แต่เป็นจังหวัดที่มีถนนสายเอเชียตัดผ่าน ทำให้อุบัติเหตุในแต่ละครั้งค่อนข้างรุนแรง” บุษริน กล่าว
บุษริน กล่าวต่อว่า อุบัติเหตุรุนแรงส่วนใหญ่มักเกิดกับรถมอเตอร์ไซค์ ยานพาหนะที่คนต่างจังหวัดนิยมใช้ และขับขี่กันตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งประเด็นนี้มีหลายองค์ประกอบซ้อนอยู่ เช่น ความไม่พร้อมของครอบครัว ชนบทปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่กับตายาย มากกว่าอยู่กับพ่อแม่ เด็กอายุไม่ถึง 15 ไม่มีใบขับขี่ก็ขับมอเตอร์ไซค์กันแล้ว อายุแค่ 9-10 ขวบ ก็ขับขี่กันจนเป็นภาพคุ้นชินตา ขาไม่ถึงพื้นแต่ใช้วิธีกระโดดขึ้นกระโดดลง ขณะที่ปู่ย่า ตายาย ไม่ได้มองว่าอันตราย กลับมองว่าเก่ง พอเห็นว่าทำได้ ก็ใช้ไปซื้อของซะเลย ทว่าวุฒิภาวะการตัดสินใจของเด็กยังไม่ดีพอ
“เมื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ พ่อแม่และผู้ปกครองควรสอนให้ลูกหลาน ขับขี่อย่างปลอดภัย ที่สำคัญคือต้องสวมหมวกกันน็อค บางคนอ้างว่าไม่มีเงินซื้อเพราะแพง แต่สามารถซื้อมอเตอร์ไซค์ทั้งคันให้ลูกได้ บางครอบครัวบอกว่าเตือนแล้วแต่ลูกไม่ฟัง เมื่อย้อนถามทำให้รู้ว่าสิ่งที่บอกไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะบ่นมากกว่า ทำให้เด็กไม่ใส่ใจรับฟัง” บุษริน กล่าว
บุษริน กล่าวว่า วัยรุ่นไม่มีความอดทนมากนัก ผู้ปกครองควรพูดกับลูกแบบกระชับสั้นๆ ได้ใจความสำคัญ เมื่อเห็นขับรถเร็ว อยากให้เริ่มจากการบอกความรู้สึก เช่น บอกไปเลยว่า “ลูกขับรถเร็ว แม่เป็นห่วงนะ” เมื่อเด็กได้ยินใจความสำคัญนี้ อย่างน้อยจะทำให้หยุดฟังเหตุผลต่อไปได้ แต่ส่วนใหญ่สังคมไทยไม่พูดความรู้สึก มักจะบ่นๆ ไปก่อน สุดท้ายลูกจึงไม่ได้รับรู้ถึงความห่วงใย ที่พ่อแม่อยากจะบอก ดังนั้น อย่าอายที่จะแสดงความรู้สึก ยิ่งตอนจะให้กุญแจรถเด็กจะฟัง ต้องพูดไปเลยว่าซื้อให้ด้วยความห่วงใย แต่ขอให้ขับขี่ด้วยความปลอดภัยและระมัดระวัง
“จากประสบการณ์การเป็นพยาบาลห้องฉุกเฉิน จนมาเป็นพยาบาลด้านจิตวิทยา ยืนยันว่าหมวกกันน็อคช่วยลดการบาดเจ็บได้ ก่อนการรณรงค์ขับขี่สวมหมวกกันน็อค มีเคสต้องเข้าฝ่าตัดสมองทุกวัน เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจัง สถิติลดลงอย่างชัดเจน ยืนยันได้ว่าช่วยลดการกระแทรกกระทบกระเทือนที่หัวได้ ถ้าหมวกได้มาตรฐานและใส่อย่างถูก” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.อินทร์บุรี กล่าว