ไม่พบผลการค้นหา
ทำความรู้จัก ตำรวจตระเวนชายแดน - ตำรวจพลร่ม หนึ่งกองปราบปรามคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น นักรบใต้เบื้องพระยุคลบาท ผู้ปิดทองหลังพระซึ่งอยู่ในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราช

1

“ในยามที่มีความตึงเครียดระหว่างประเทศอยู่นี้ ประชาชนชาวโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่กับความยุ่งยากลำบากเป็นประจำวัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้อาวุธแก่มนุษย์เพื่อพิทักษ์เสรีภาพ และเกียรติของมนุษย์ อาวุธที่ใช้ได้ผลดีที่สุดนั้น มิใช่ปืนใหญ่หรือลูกระเบิดปรมาณู แต่เป็นการศึกษา นั่นคือความรู้ที่ช่วยเราให้ตัดสินใจได้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ การศึกษาเป็นอาวุธสำหรับต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อที่มุ่งหวังจะก่อความแตกแยก ความพินาศย่อยยับ เป็นการง่ายที่จะถูกชักจูงจิตใจหรือชักนำคนที่ไร้ความรู้ แต่คนที่ฉลาดและมีการศึกษาแล้วย่อมยากที่จะทำให้หลงเชื่อได้โดยง่าย”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อ 20 ธ.ค. 2502

เนื่องในโอกาสที่เสด็จเยือน มหาวิทยาลัยเว้ ประเทศเวียตนาม 

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้นไม่ใช่ความสุขสงบ แต่กลับกลายเป็นการต่อสู้อย่างดุเดือดไม่แพ้กันของสองขั้วอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีนิยม และโลกสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ สถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือการเข้าสู่สงครามเย็น ซึ่งมีสภาวะเป็นสงครามตัวแทนที่สหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียต เป็นพี่ใหญ่ระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ 

ความผันผวนของโลก โดยเฉพาะสถานการณ์ของประเทศในแถบอินโดจีน กลายเป็นภัยคุกคามที่กำลังคืบคลานเข้ามาในประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด นับจากเหมา เจ๋อตง ได้รับชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง ในสงครามกลางเมืองของจีน ในปี 2492 การเริ่มต้นบุกโจมตีเกาหลีใต้โดยเกาหลีเหนือเมื่อปี 2493 ตามด้วยความพ่ายแพ้แก่คอมมิวนิสต์ของรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน ทั้งกัมพูชาแตกพ่ายแก่เขมรแดงในวันที่ 17 เม.ย. 2518 ทั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชนเวียตนามและกองกำลังเวียตกงได้รับชนะในวันที่ 30 เม.ย. 2518 กระทั่งราชอาณาจักรลาว โดยรัฐบาลของเจ้าสุวรรณภูมา ก็แพ้พ่ายต่อขบวนการปลดปล่อยเทดลาว เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2518 

สายตาของโลกในเวลานั้นล้วนจับจ้องมาที่โดมิโน่ตัวถัดไปคือ ราชอาณาจักรไทย แต่รัฐไทยกลับสามารถหยุดยั้งทฤษฎีโดมิโน่ที่เชื่อว่า เมื่อประเทศหนึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แล้วประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็จะเปลี่ยนไปปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน 

สิ่งเหล่านี้หากศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่าสหรัฐอเมริกา รัฐบาลเผด็จการทหารนับตั้งแต่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ และจอมพลถนอม กิจติขจร รวมทั้งราชสำนัก ล้วนมีส่วนสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามที่โลกกำลังหวาดหวั่น บทบาทหน้าที่ และการประสานงานร่วมมือกันระหว่างสามหน่วยหลักนี้มีให้ศึกษาในงานวิทยานิพนธ์เลื่องชื่อของ ณัฐพล ใจจริง ซึ่งถูกเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบหนังสือที่ชื่อว่า ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ 

ณัฐพล ใจจริง

ทว่าอีกหนึ่งที่หน่วยสำคัญ ซึ่งยังไม่ได้รับการถูกกล่าวถึงบ่อยนักคือ ตำรวจตระเวนชายแดน โดยเฉพาะตำรวจพลร่ม ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นมาโดยมีหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักคือ การสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่กำลังขยายแนวร่วม และแผ่อิทธิพลเข้ามาภายในราชอาณาจักรไทย

“เมื่อยามค่ำคืน เธอนอนไม่สุขเหมือนผู้อื่น

ต้องนอนกอดปืน ผจญศัตรูสู้ไป

ชีพดับสลาย ความตายคือเกียรติที่เธอได้

พวกเราชาวไทย เห็นใจยอดตำรวจชายแดน”


ท่อนหนึ่งของเพลง ‘ตำรวจตระเวนชายแดน’ ประพันธ์คำร้องโดย หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค

 ผู้เป็นพระมาตุจฉา (น้า) และนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การก่อตั้ง ‘ตำรวจตระเวนชายแดน’ เกิดขึ้นจากการที่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญากรุงเจนีวากับฝรั่งเศส โดยมีหนึ่งในข้อกำหนดคือ ห้ามไม่ให้มีกำลังทหารในระยะ 25 กิโลเมตรจากแนวชายแดน จึงมีการก่อตั้ง ตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อเป็นกำลังเสริมแทนการใช้กำลังทหารในการรักษาความสงบตามแนวชายแดน พร้อมทั้งช่วยเหลือดูแล และให้การศึกษากับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

อย่างไรก็ตาม ในงานวิทยานิพนธ์ ของปราการ กลิ่นฟุ้ง ซึ่งศึกษาเรื่อง ‘การเสด็จพระราชดำเนินท้องที่ต่างจังหวัดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2493-2530’ ได้กล่าวถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนว่า ตั้งแต่ปี 2493 (หลังเหมา เจ๋อตงได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองของจีน, การปะทุขึ้นของสงครามเกาหลี และการต่อสู้ยืดเยื้อในเวียตนาม) สถานการณ์รุกคืบของคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเชีย กำลังสร้างความกังวลใจต่อสหรัฐอเมริกา ไทยจึงกลายเป็นฐานที่มั่นหลักในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับการสนับสนุนทางการทหารจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น

ในเดือน เม.ย. 2493 สหรัฐอเมริกา ได้ให้การสนับสนุนทางการไทย โดยการเริ่มต้นฝึกตำรวจที่ค่าย เอราวัณ จังหวัดลพบุรี มีหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการทำสงคราม, การโจมตี, การใช้ชีวิตในป่า และการใช้อาวุธที่ทันสมัย ผู้ที่ผ่านการฝึกนี้ถูกขนานนามว่า ‘ตำรวจรักษาดินแดน’ จากนั้นได้มีการตั้งกองบัญชาการตำรวจรักษาชายแดนขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการสนับสนุนรถถังให้กับตำรวจ โดยตั้งหน่วยใหม่ขึ้นมาเรียกว่า 'ตำรวจยานยนต์' กระทั่งต่อมาในเดือน ม.ค. 2498 จึงได้มีการจัดตั้ง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยผู้มีอำนาจบัญชาการสูงสูดในเวลานั้นคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจเวลานั้น สถานะของตำรวจตระเวนชายแดนในเวลานั้นมีความเป็นเอกเทศ และขึ้นตรงกับ พล.ต.อ.เผ่า โดยตรง

เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ CIA กับในหลวง ร.9
  • เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ หน่วยสืบราชการลับแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยภาพนี้ถูกจัดแสดงไว้ที่ศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตำรวจพลร่ม ภายในค่ายนเรศวร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ หน่วยสืบราชการลับแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) ยังมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ อีกหน่วยหนึ่ง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์คือ กองกับกองการสนับสนุนทางอากาศ หรือตำรวจพลร่ม โดยเริ่มต้นการฝึกในปี 2494 ที่ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี โดยมีหลักสูตรได้แก่ การฝึกโดดร่ม, การรบในป่า, การลาดตระเวน รวมทั้งการก่อวินาศกรรม กระทั้งปี 2496 ได้มีการย้ายสถานที่ฝึกไปยังค่ายนเรศวร อ.หัวหิน จ.ประจวบศีรีขันธ์ และในปี 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเสร็จเปิดค่าย

ทั้งนี้ เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฝึก และการก่อตั้งกองพันทหารพลร่ม ป่าหวาย ที่จังหวัดลพบุรีด้วย อีกทั้งระหว่างสงครามลับในประเทศลาว เขายังเป็นผู้พาตำรวจพลร่ม เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนั้น จนทำให้ตำรวจพลร่มเป็นที่ยอมรับในหมู่นักรบทั้งทหารไทย และทหารอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2503 หลังการรัฐประหาร 2500 พล.ต.อ.เผ่า ได้ลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ การลดทอนอำนาจของตำรวจได้ดำเนินต่อไป จอมพลสฤษดิ์ ได้สั่งยุบรวมตำรวจพลร่มเข้ากับกองทัพ และกระจายเข้าไปอยู่ภายใต้สังกัดหน่วยราชการอื่น ส่วนกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก็ถูกยุบเป็นส่วนหนึ่งของตำรวจภูธรในแต่ละท้องที่ ถึงอย่างนั้นภารกิจหน้าที่หลักของตำรวจตระเวนชายแดนยังคงเป็นการปราบปรามคอมมิวนิสต์เช่นเดิม 

กระทั่งหลังเหตุการณ์เสียงปืนแตก เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2508 (กรณีนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์  13-19 ส.ค.2547 โดยชี้ให้เห็นข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ พร้อมเสนอว่าแท้จริงแล้ววันเสียงปืนแตกคือวันที่ 8 ส.ค. 2508) ซึ่งกองกำลังของรัฐบาลไทย และกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ปะทะกันเป็นครั้งแรก จึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจตระเวรชายแดนขึ้นมาใหม่ จนมีการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปี 2515 โดยประกาศของคระรัฐประหารของ จอมพลถนอม ให้เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ โดยปัจจุบันยังมีสถานะขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่เช่นเดิม แต่มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปจากเดิม โดยมุ่งเน้นที่งานพัฒนาตามโครงการในพระราชดำริมากขึ้น

3

“ในการต่อสู้กับศัตรู ตำรวจชายแดนต้องยึดประชาชนเป็นหลัก ด้วยการป้องกันและคุ้มครองประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าใจเจ้าหน้าที่ ทำให้ประชาชนเห็นว่าผู้สวมเครื่องแบบของราชการอย่างเช่นตำรวจชายแดนนั้น เป็นคนดี มีเมตตา และเห็นแก่ความผาสุกของประชาชน”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขณะแปรพระราชฐานไปประทับยังพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ โดยทรงเสด็จไปตรวจเยี่ยมกองกำกับการตำรวจชายแดนเขต 5 ช่วงปลายปี 2513

งานของปราการ เผยให้เห็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังเหตุการณ์เสียงปืนแตก ในเดือน ส.ค. 2508 เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งรัฐ มีกองกำลังติดอาวุธ และมีประสิทธิภาพในการรบ ประกอบกับก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรับรู้ถึงสถานการณ์การรุกคืบของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอินโดจีน จากหนังสือกราบบังคมทูลถึงการประหารชีวิต ครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศ ในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ได้ระบุถึงลักษณะเฉพาะของภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการรุกรานของคอมมิวนิสต์ว่า เป็นพื้นที่มีพลเมืองหนาแน่น แต่ทำมาหากินลำบาก เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์พลเมืองในท้องที่นี้ไม่เคยต่อสู้กับพลเมืองในภูมิภาคอื่น อีกทั้งเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อภัยคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ในท้ายหนังสือจอมพลสฤษดิ์ ยังได้กราบบังคมทูลถึงคำให้การของพยานในคดีการสอบสวนครอง จันดาวงศ์ ด้วยว่า “คนที่ประทุษร้ายราชบัลลังก์ขนาดนี้ ไม่ควรจะให้มีชีวิตอยู่ในแผ่นดินไทยต่อไปเลย”

การเสด็จราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพื้นที่ต่างจังหวัด ระหว่างทศวรรษ 2510 (2511-2520) จึงมีนัยสำคัญว่า เป็นการเสด็จที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามของภัยคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ และเป็นช่วงเวลาที่มีการเสด็จราชดำเนินพื้นที่ต่างจังหวัดมากที่สุดด้วย โดยคิดเป็นจำนวนวันได้ทั้งหมด 1,465 วัน คิดเป็นร้อยละ 40.14 ของวันทั้งหมด ขณะที่ทศวรรษที่ 2500 (2501-2510) ทรงเสด็จทั้งหมด 847 วัน คิดเป็นร้อยละ 22.66 

การเสด็จท้องที่ต่างจังหวัดของ ในหลวง ร.9
  • ตารางจำนวนวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จท้องที่ต่างจังหวัดช่วง 2493 -2545 จากวิทยานิพนธ์ของ ปราการ กลิ่นฟุ้ง

ทั้งนี้การเสด็จพระราชดำเนินพื้นที่ต่างจังหวัดของพรบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หลายครั้งเป็นการเสด็จเพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ภายในประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น 

  • การเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากกรุงเทพไปยังค่ายนเรศวร ที่อ.หัวหิน เพื่อพระราชทานสิ่งของให้กับตำรวจร่มพล ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ อ.กุยบุรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2510 
  • การเสด็จเยี่ยมเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับพรรคคอมมิวนิสต์ ที่โรงพยาบาลจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2511
  • การเสด็จตรวจแนวรบแม้วแดง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ จนสามารถเข้าเจ้าตียึดภูขี้เถ้า ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2511 
  • การเสด็จเยี่ยมพระราชทานของขวัญและเวชภัณฑ์ และทอดพระเนตรเอกสาร สิ่งของที่ยึดได้จากคอมมิวนิสต์ ที่ฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดน จ.น่าน หลังจากถูกเข้าโจมตีเพียง 1 วัน ช่วงปลายปี 2515 โดยในครั้งนั้นพระองค์ทรงทอดพระเนตรการยิงปืนใหญ่ยังเป้าหมายที่คาดว่ามีกำลังข้าศึกตั้งอยู่ และทรงทดลองยิงปืนยิงนั้นด้วยพระองค์เองด้วย 

นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชการทหาร และตำรวจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ่งในด้านสรรพาวุธ รวมทั้งทรงแสดงพระปรีชาสามารถคิดค้นดัดแปลงอาวุธ ยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย และทำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังทรงพระราชทานอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ทรงแก้ไขความขัดข้องให้แก่ข้าราชการทหาร ตำรวจอยู่บ่อยครั้ง 

ยิ่งในสถานการณ์การสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์พระองค์ทรงห่วงใยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้ทรงใช้เวลาว่างจากพระราชภารกิจเสด็จพระราชดำเนินไปงานภายนอก ทรงงานแก้ไขอาวุธยุทโธปกรณ์ที่บกพร่อง ซึ่งทรงได้มาจากข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ได้ใช้อาวุธนั้นทำการสู้รบจนสิ้นชีวิต โดยได้ทรงตรวจสอบสมรรถภาพของอาวุธนั้นๆ ด้วยพระองค์เอง ในบางโอกาสก็ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพาวุธทหารบก ได้เข้าเฝ้าฯถวายคำแนะนำ ทั้งในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระราชวังไกลกังวล อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นที่แน่ชัดว่าใครได้ใช้ปืนที่ทรงแก้ไขนั้น

ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดซื้ออาวุธสำหรับข้าราชการ ทหาร และตำรวจ ที่ปฏิบัติราชการอยู่ชายแดนอีกด้วย และเมื่อทรงทราบว่า เฮลิคอปเตอร์ของกรมตำรวจที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนามนั้น ไม่มีอาวุธติดกับเครื่อง เพราะเป็นเฮลิคอปเตอร์ธรรมดาสำหรับใช้ขนส่งทั่วไป ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานความคิดให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรไปประดิษฐานติดตั้งปืนกลติดกับตัวเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้นักบินสามารถยิงตรงไปทางด้านหน้าได้

นอกจากนี้พระองค์ทรงเสด็จตรวจเยี่ยมค่ายนเรศวร โรงเรียนฝึกตำรวจพลร่มอยู่บ่อยครั้งทั้งยังทรงพระราชความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย 

“หลักสูตรเราไม่ได้สอนว่าอะไรคือศัตรูของชาติ แต่สอนให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องปกป้อง” 

อดีตตำรวจพลร่ม ผู้เคยได้รับพระราชความรู้เกี่ยวกับอาวุธจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

เครื่องแบบ ตำรวจพลร่ม

ข้อมูลในทางวิชาการทั้งเรื่องการก่อตั้ง ‘ตำรวจตระเวนชายแดน’ และ ‘ตำรวจพลร่ม’ การได้รับสนับสนุน และการอยู่ในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้รับการยืนยันจาก อดีตตำรวจพลร่มนายหนึ่ง ซึ่งเขาได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูฝึกตำรวจพลร่ม ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ทั้งนี้ในช่วงเวลาราชการของเขาได้ผ่านช่วงเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 ด้วย อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ถูกเรียกตัวไปยังธรรมศาสตร์ แต่ถูกเรียกไปประจำการที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตบนถนนพหลโยธิน

เขาเล่าถึงเรื่องราวการเข้ามาเป็น ตำรวจพลร่ม ว่านายตำรวจคนหนึ่งจะมาเป็นตำรวจพลร่มได้ จะต้องผ่านการทดสอบขั้นพื้นฐานในด้านสมรรถภาพร่างกายก่อน ซึ่งมีความยากกว่าการเข้าเป็นตำรวจหน่วยอื่นๆ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้เข้าสู่ระบบการฝึก ซึ่งมีการทดสอบสภาพจิตใจด้วยการฝึกที่หนักเกินขีดจำกัด และทารุณ โดยเป้าหมายของการฝึกเป็นไปเพื่อที่จะทำให้ตำรวจพลร่มทุกคนสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์จริง เพราะตำรวจพลร่มมีคำขวัญว่า “คุณต้องฝึกหนักเพื่อให้มีชีวิตรอด ถ้าคุณสบายคุณตายง่ายๆ” 

อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่า ตำรวจพลร่มเป็นหน่วยตำรวจที่โหดที่สุดนั้น เขาเห็นว่าเป็นการมองที่เกินไปจากความจริง แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหน่วยที่แกร่งที่สุดหน่วยหนึ่งได้ เพราะทุกคนจำเป็นต้องฝึกหนักเพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตในป่าได้เป็นเวลานาน สามารถปฏิบัติการในพื้นที่ทุรกันดารได้ มีความรู้ในเรื่องอาวุธ กระสุน วัตถุระเบิด มีความรู้ในเรื่องยุทธวิธี รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ เช่น ภัยพิบัติ และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่

“พื้นที่ที่คุณนั่งอยู่นี้เคยเป็นพื้นที่การสู้รบ เมื่อก่อนมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามาตีเยอะ เคยตีทางกุยบุรีแตกหลายรอบ แล้วก็มาเข้าตีที่จุดนี้ ตอนเราสู้กันผู้บังคับหมวดเขาสั่งว่า กระสุนอย่ายิงหมดให้เหลือไว้สองนัด ตอนหลังก็มีคนไปถามผู้หมวดว่าให้เหลือไว้สองนัดทำไม ผู้หมวดก็ตอบว่า ถ้าเราแพ้เราจะต้องไม่ถูกจับไปเป็นเชลย สองนัดนั้นก็เพื่อสังหารตัวเอง นี่คือวิถีของตำรวจพลร่ม”

“สิ่งที่ได้รับการส่ังสอนกันมาจนถึงปัจจุบันคือ การจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ตำรวจพลร่มสมัยก่อน รวมทั้งตัวผมสามารถที่จะสละชีพเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ และทุกคนได้รับการสั่งสอนให้รักชาติ รักสถาบันฯ และต้องช่วยเหลือประชาชน”

ในประสบการณ์การทำหน้าที่พลร่ม เข้าเคยได้รับภารกิจดูแลความปลอดภัยในการสร้างเส้นทางจากแม่สอด ไปยังอุ้มผาง เนื่องจากการก่อสร้างไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ เพราะได้รับการต่อต้านจากกลุ่มแม้วแดง จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธไปด้วย 

เขาระบุว่า ในการปฏิบัติหน้าที่มีเจ้าหน้าที่เดินเหยียบกับระเบิดจนได้รับบาดเจ็บ ล้มตายหลายคน และเมื่อเจอกับกลุ่มแม้วแดงก็มีการปะทะกันเกิดขึ้นทุกครั้ง โดยยังไม่เห็นหน้ากัน เพราะต่างคนก็ต่างยิง แม้ตัวเขาจะอยากเข้าไปพูดคุยมากกว่า แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เขาเชื่อว่า ชาวบ้านถูกเสี้ยมสอนมาให้เกลียดเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับชุดความเชื่ออุดมการณ์อีกชุดหนึ่ง โดยเชื่อไปง่ายๆ ว่า หากตำรวจเข้ามาจะไม่สามารถต้มเหล้าเถื่อนได้ และจะถูกเก็บภาษี

สำหรับการก่อสร้างเส้นทางนี้มี ตำรวจ ทหาร นายช่างของกรมทางหลวง และประชาชนเสียชีวิตจากการโจมตีของคอมมิวนิสต์รวมทั้งสิ้น 93 ราย ในปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้แทนพระองค์มาประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ ที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก 

ทั้งนี้ในหนังสือ ‘คือเส้นทางสร้างชาติไทย’ ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกครบรอบ 84 ปี การก่อตั้งกรมทางหลวง มีตอนหนึ่งที่ นายช่าง บุญเลียง มหาไพบูลย์ (เข้าถึงบทความของบุญเลียงได้ที่นี่) ผู้มีประสบการณ์รอดตายจากการก่อสร้างเส้นทางแม่สอด-อุ้มผาง ระบุว่า ลักษณะการทำงานในช่วงเวลานั้น จะต้องไม่เปิดเผยตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะที่ผ่านมาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการ และนายช่างโครงการได้กำหนดให้ทุกคนต้องมีบันทึกการทำงานและส่งให้ตรวจทุกวัน ทั้งที่เป็นงานในหน้าที่โดยตรง และข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการโดยข้อมูลนี้จะถูกไปยัง กอ.รมน.ภาค ด้วย

ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจพลร่ม ศัตรูที่ต้องเผชิญหน้ามีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นผู้ลักลอบค้ายาเสพติดข้ามประเทศ ผู้หลบหนีเข้าประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าศัตรูที่เข้าปะทะกับมากที่สุดคือ ผกค. หรือผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ 

“คำว่า ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) มันก็คือความคิดที่มันไม่ตรงกัน เขาก็เป็นอีกระบบหนึ่ง เราก็เป็นระบบเสรี ระบบหนึ่ง มันก็เกิดความจงเกลียดจงชังกันแบบไม่รู้ตัว แล้วพวกนั้นเขาก็ได้รับการเสี้ยมสอน มีการสนับสนุนอาวุธมาจริงๆ อาวุธไม่ใช่ M-16 เหมือนเรา เขาใช้เป็นปืนอาก้า (AK47) เรียกว่ามีอาวุธดี มีพรรคพวกเยอะกำลังพลเยอะ ส่วนอาวุธที่เราใช้ก็มีเหมือนทหารมีปืนเล็ก ปืนประจำกาย ปืนยิงสนับสนุน และก็พวกเครื่องยิงระเบิด ระเบิดขว้างสังหาร โลกเสรีก็จะใช้อาวุธของโลกเสรี โลกคอมมิวนิสต์ก็เป็นอาวุธของพวกเขา”

เขาเล่าต่อไปว่า ค่ายนเรศวร ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกตำรวจพลร่มนั้น ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังไกลกังวล และภายในค่ายมีสนามซ้อมยิงปืนอยู่ด้วย เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่พระราชวังไกลกังวล บางทีพระองค์ท่านก็เสด็จมาที่สนามยิงปืน เขาได้มีโอกาสเข้าไปรับใช้เบื้องพระยุคลบาท และได้มีโอกาสขอความรู้จากพระองค์ 

“พระองค์เป็นผู้เชี่ยวชาญ ต้องยอมรับว่าท่านเป็นบรมครูในความเชี่ยวชาญทางด้านอาวุธ พระองค์ทรงคิดอะไรที่ลึกซึ้ง ทรงมีความรู้มาก แต่ก็แกล้งถามเรื่องปืนกับข้าราชการ เหมือนว่าทรงไม่รู้อะไร แล้วก็ทรงแนะนำวิธีการดัดแปลงปืน เมื่อทำตามคำแนะนำของพระองค์ท่านก็พบว่าปืนที่ยิงมันนิ่งขึ้น ไม่สะบัดเหมือนตอนแรก แล้วก่อนหน้านี้เราก็รู้เพียงแค่พวก ผกค. มันใช้ปืนอาก้า แต่เราก็ไม่เคยเห็นไม่เคยจับสักที ท่านก็ทรงมอบปืนอาก้ามาให้ศึกษาดูว่ามันทำงานยังไง”

ส่วนเรื่องหลักสูตรการเรียนของตำรวจพลร่มนั้น เขายืนยันว่า ไม่มีการสอนเรื่องเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ เพราะสังคมในช่วงเวลานั้นต่างรับรู้ และเข้าใจเรื่องเหล่านี้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ส่วนตำรวจพลร่มอย่างพวกเขาจะได้รู้จักกับคอมมิวนิสต์ก็ต่อเมื่ออยู่ในแนวปะทะ เวลานั้นสิ่งเรียนรู้คือ ยุทธวิธีการเข้าโจมตีของกองกำลังคอมมิวนิสต์เสียเป็นส่วนใหญ่

“ไอ้ที่เป็นหลักสูตรผมว่ามันไม่มีนะที่จะมาสอนว่าคอมมิวนิสต์มันไม่ดีอย่างไร เพราะเราก็รู้จากข่าวทั่วไป เหมือนกันกับประชาชนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้รู้ถึงขั้นว่าอุดมการณ์มันเป็นอย่างไร มันมาจากไหน” 

5

สะท้อนความทรงจำตำรวจพลร่ม 6 ต.ค. 19
สนามรบป่าคอนกรีต

ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 ตำรวจพลร่มถูกเรียกเข้ามาปฏิบัติการในกรุงเทพโดยเฉพาะที่ธรรมศาสตร์ อดีตครูฝึกเล่าว่า เขาเองก็ถูกเรียกตัวมาด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ที่ธรรมศาสตร์ และในความรับรู้ของเขาในเวลานั้นยังไม่รู้ว่าธรรมศาสตร์ตั้งอยู่ที่ใด ในเวลานั้นมีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้เคลื่อนกำลังมารักษากองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่กรุงเทพ เพราะจุดนี้เป็นหน่วยธุรการ ไม่มีอาวุธ ไม่มีกำลังพล ที่จะสู้รบกับใคร และเวลานั้นก็ไม่รู้ใครเป็นใคร ผู้มีอำนาจมีอยู่หลายฝ่าย พอมีความไม่สงบเขาก็เรียกกำลังมาประจำการ แต่ก็ไม่ได้ออกไปที่ส่วนอื่น พอเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา จบก็เดินทางกลับ

“เรารู้ว่ามีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ รู้ว่าตอนนั้นแตกกันเป็นฝ่ายระหว่างประชาชนด้วยกันเอง แล้วมันก็ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้จนเกิดการลากคนออกมาทำร้ายกัน มาแขวนคอ มีการยุแยงให้เกิดความขัดแย้ง แต่ก็เป็นการรู้ข่าวจากวิทยุที่มีการสื่อสารในสมัยนั้น”

“ตอนนั้นที่เข้าไปที่ธรรมศาสตร์ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นหน่วยไหนบ้าง แต่ที่เห็นในรูปภาพก็มีหลายหน่วย ที่สังเกตจากปืนก็รู้ว่ามันไม่ใช่ของ ตชด. อย่างเดียว เพราะปืนบางชนิด ตชด. ไม่ได้มีใช้ พวกลูกซอง พวกสไนเปอร์ แต่ก็ต้องดูให้ดีนะสไนเปอร์เราก็ไม่รู้ว่าเป็นหน่วยไหน อาจจะปลอมว่าเป็นสไนเปอร์ก็มี เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้น่ากลัว” 

“ได้เจอเพื่อนที่ไปที่ธรรมศาสร์วันนั้น คนที่คุยน่าจะอยู่หน่วยการข่าว มันก็บอกว่าพอได้เห็นเหตุการณ์ที่สนามหลวงแล้วก็รู้สึกทุเรศตัวเอง สมเพช สงสารคนที่ถูกลากมาทำร้าย แล้วคนที่ไปปฏิบัติหน้าที่วันนั้นก็ไม่มีวินัย นึกจะยิงก็ยิง สังเกตดูในภาพข่าวข้างตึกมีแต่รอยกระสุน ไม่รู้มันจะยิงกันไปทำไม ยิงเพื่ออะไร”


หมายเหตุ: การสัมภาษณ์อดีตครูฝึกตำรวจพลร่ม ได้รับการช่วยเหลือประสานงานจาก โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ส่วนภาพปกของงานชิ้นนี้เป็นภาพที่ปฐมพร ศรีมันตะ ได้รับมาจากบุคคลอื่น และได้มอบให้กับโครงการบันทึก 6 ตุลา

อ้างอิง :

  • ปราการ กลิ่นฟุ้ง. 2551. การเสด็จพระราชดำเนินท้องที่ต่างจังหวัดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2493-2530. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • บุญเลียง มหาไพบูลย์. 2539. คือเส้นทางสร้างชาติไทย 84 ปี กรมทางหลวง. เว็บไซต์ กรมทางหลวง (เข้าถึงได้ที่ http://www.doh.go.th/content/page/journals/103977#page/1)
  • ณัฐพล ใจจริง. 2563. ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  • พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์. 2565. ตำรวจพลร่ม. เว็บไซต์ไทยโพสต์ (เข้าถึงได้ที่ https://www.thaipost.net/columnist-people/193165/)
  • พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก. 2563. ภาพเก่าเล่าตำนาน : พันตำรวจเอก เจมส์ วิลเลียม แลร์ ภารกิจลับ…งานใหญ่…จะไม่ใช้คนเยอะ. เว็บไซต์มติชน (เข้าถึงได้ที่ https://www.matichon.co.th/article/news_2388297)