ไม่พบผลการค้นหา
สภาเดือด 'โรม' ถาม ยธ.ปม 'ทักษิณ' ขอชื่อแพทย์ผู้รับรองการรักษา พร้อมสาเหตุที่ต้องไปรักษาตัวที่ชั้น 14 ด้าน 'ทวี' แจงการเปิดเผยชื่อแพทย์หากทัวร์ไปลงจะเป็นการละเมิดสิทธิ ยันทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีเลือกปฏิบัติ ขณะที่ ‘วันนอร์‘ ใช้อำนาจประธานสภาฯ ปิดไมค์ หลัง ‘โรม‘ ขอขึ้นสไลด์ ทำ ‘ก้าวไกล‘ เดือด ลุกป้องขอประธานฯ วางตัวเป็นกลาง

วันที่ 28 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามทั่วไป ถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งตัวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไปรักษาตัวจากอาการป่วยนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเป็นกระทู้ที่ตั้งถามมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 

ต่อมา ไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ขอประท้วงว่า อย่าเอ่ยถึงชื่อบุคคลภายนอก เพราะเขาไม่มีโอกาสมาตอบโต้ ทำให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ขอให้ รังสิมันต์ อย่าเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก เพราะจะเกิดความเสียหาย ด้าน รังสิมันต์ จึงขอใช้คำว่า “โทนี่ วู้ดซัม” และสุดท้ายได้ใช้สรรพนามเรียก ทักษิณ เพียงว่า “อดีตนายกรัฐมนตรี” 

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่า มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งต่อ อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบครัวและพรรคเพื่อไทย ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารปี 2549 แต่ความอยุติธรรมเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นต่อวงศ์ตระกูลของอดีตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในลักษณะเดียวกัน 

รังสิมันต์ ชี้ว่า การพักอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ซึ่งห้องลักษณะดังกล่าว ห้องพักลักษณะ VIP จึงนำมาสู่คำถามต่อสังคมว่า นี่คือมาตรฐานใหม่ที่ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมคนอื่นไม่สามารถรับสิทธินี้ได้ และมีการดำเนินการแบบหลายมาตรฐาน 

หากพิจารณาทางกฎหมายตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 ระบุไว้ว่า เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ทางราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามสถานที่รักษาผู้ต้องขัง

รังสิมันต์ ระบุอีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ชี้แจงในการประชุมวุฒิสภา (สว.) โดยระบุถึงสาเหตุการจัดห้องพักชั้น 14 สำหรับการรักษา เนื่องจากเคยเกิดเหตุคาร์บอมบ์อดีตนายกรัฐมนตรี จึงตั้งคำถามว่า มีรายงานหรือข้อมูลข่าวกรองว่า จะมีเหตุลอบสังหาร ทำร้ายอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ การพักในโรงพยาบาลตำรวจซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่ใช่ที่ปลอดภัยอย่างไร และการพักรักษาตัวห้องอื่นปลอดภัยน้อยกว่าชั้น 14 อย่างไร

พร้อมทั้งขอให้แสดงว่า ห้องพักชั้น 14 ที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้พักรักษาตัวมีสภาพเช่นไร เหตุใดถึงมีความจำเป็นต้องแยกตัวอดีตนายกรัฐมนตรีออกจากผู้ที่รักษาตัวคนอื่น การแยกเพื่อรักษาตัวจะต้องมีเหตุผลรองรับด้วย เมื่อเทียบกับนักโทษการเมืองคนอื่นเช่น เอกชัย หงส์กังวาน ที่ป่วยเป็นฝีในตับร้ายแรง ปรากฏว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์เร่งส่งตัว เอกชัย เข้ากลับเรือนจำ ร้ายแรงน้อยกว่าอาการป่วยของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างไร

รังสิมันต์ ยังขอชื่อแพทย์ที่รับรองการรักษาของอดีตนายกรัฐมนตรี เพราะหากเรื่องนี้มีเหตุทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้อง จะได้สามารถดำเนินการกับแพทย์ได้ ขอยืนยันว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้ห้ามเปิดเผยชื่อแพทย์

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยกมาตรา 55 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 กรณีผู้ต้องขังป่วยและแพทย์มีดุลยพินิจให้ไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ยังไม่มีผู้บัญชาการเรือนจำคนใดระงับยับยั้ง ท่านอยู่ชั้น 14 รัฐบาลปัจจุบันยังไม่เข้ามา ย้ำว่าการพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามสถานที่รักษาจัดหาให้ ทำได้ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 พร้อมกับเหล้ารายละเอียดคดีระเบิดคาร์บอมบ์ เมื่อปี 2549

ทำให้ รังสิมันต์ ยืนยันว่า พ.ต.อ.ทวี เป็นรัฐมนตรีที่น่าชื่นชมเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีคนอื่น ท่านดีกว่าค่ามาตรฐาน เข้าใจถึงความยากลำบากในการตอบคำถาม ทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตอบไม่ง่าย ยิ่งบอกว่ามีทั้งเรื่องบุญคุณ และกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่คิดมาก สะท้อนว่าท่านอยู่ในจุดที่ตอบหลายเรื่องลำบาก ตนเองก็ต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลแต่เป็นเรื่องมาตรฐานยุติธรรม โดยสิ่งที่รัฐมนตรีชี้แจงว่าอดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามาก่อนรัฐบาลนี้ ในทางกฏหมายให้อำนาจในการใช้ดุลยพินิจกับรัฐมนตรีน้อยมาก แต่ท่านมีหน้าที่กำกับให้คนในกระทรวงปฏิบัติให้ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้แยกจากคนอื่นได้ ถ้าจะแยกต้องอยู่ในห้องควบคุมพิเศษ บอกแบบนี้แสดงว่า โรงพยาบาลตำรวจมีความผิด 

“ขอให้ยืนยันว่าห้องพักชั้น 14 มีหน้าตาอย่างไร การออนทัวร์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาประชาชนเข้าถึงตัวอดีตนายกรัฐมนตรีได้ง่าย ยืนยันได้ว่าการเกิดเหตุคาร์บอมบ์คงไม่ใช่อย่างที่ท่านเข้าใจ ขอให้เปิดข้อมูลของหน่วยข่าวกรอง และชื่อแพทย์ในการรักษา” รังสิมันต์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ รังสิมันต์ อภิปรายมี สส.ขอประท้วงอยู่เป็นระยะ โดย วันมูหะมัดนอร์ จึงขอให้ รังสิมันต์ ตั้งประเด็นคำถามเลยโดยไม่ต้องใช้ภาพจากสไลด์ เพราะจะเป็นการอธิบาย ขอให้เก็บไว้ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ม.152 ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากกังวลว่า จะมีการประท้วงอีก ทำให้ประธานสภาฯ ไม่สามารถควบคุมการประชุมได้ 

รังสิมันต์ ได้ชี้แจงว่า จะตั้งคำถามจากสไลด์ และจะเปิดสไลด์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดู ทำให้ วันมูหะมัดนอร์ ตอบกลับว่า “ก็ถามเลยสิครับ” รังสิมันต์ จึงถามกับว่า “ทำไมมาปิดไมโครโฟนเช่นนี้” วันมูหะมัดนอร์ จึงกล่าวต่อว่า “เป็นอำนาจของประธาน ท่านเข้าใจผมนะครับ ประธานต้องดูแลการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบ จะมาตวาดกลับผมได้ไง ผมได้วินิจฉัยแล้วว่า หากเอาภาพขึ้นมาก็มีการประท้วงอีก ท่านถามได้เลย ไม่เช่นนั้นผมจะปิดกระทู้นี้แล้ว” 

จากนั้น ซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นประท้วง โดยระบุว่า คำวินิจฉัยของประธานสภาฯ เป็นคำวินิจฉัยที่เด็ดขาด อยากให้เพื่อนสมาชิกเคารพด้วย ขณะที่ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงขอให้ประธานสภาฯ ดำเนินการประชุมเป็นกลาง และให้ประธานสภาฯ ดำเนินการประชุมด้วยความสงบเรียบร้อย เราใช้สภาฯ เป็นพื้นที่ในการถามและตอบคำถาม การใช้ดุลยพินิจว่าสไลด์ดังกล่าวเปิดมาแล้วจะถูกประท้วงคงไม่ถูกต้อง

จากนั้น รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการพักโทษจากการเป็นคนแก่อายุ 70 ปีช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีการประเมินและทดสอบอย่างไร เพราะหากการประเมินเหล่านี้เป็นการประเมินที่มีการทุจริตไม่ถูกต้อง ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะรับผิดชอบอย่างไร

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า การรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ถือว่าโรงพยาบาลเป็นที่คุมขังอื่น ท่านอยู่โรงพยาบาล 6 เดือน โดยมีผู้ควบคุมตามกฎกระทรวง ไม่ได้บอกว่าเป็นห้องพิเศษแต่เป็นห้องควบคุมพิเศษ ท่านไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือออกไปข้างนอก อยู่ในการบริหารโทษ ย้ำว่าการพักโทษไม่ใช่การลดโทษ ท่านยังอยู่ระหว่างการลงโทษ ซึ่งการพักโทษในแต่ละปีมีจำนวนเป็นหมื่นคนบางคนก็ไปออกทีวี เป็นเรื่องปกติของการพักโทษ ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ผู้ต้องขังอื่นสามารถไปอยู่โรงพยาบาลแม่ข่าย 129 แห่งทั่วประเทศของกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่แก้แค้นคน

ทั้งนี้การเปิดเผยชื่อแพทย์ หากทัวร์ไปลงก็เป็นการละเมิดสิทธิ เพราะใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติแข็งมาก หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ท่านก็ไปถาม ป.ป.ช.ยืนยันว่า ตนเองและข้าราชการทั้งหมดปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรมและไม่เลือกปฏิบัติใคร คนทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมถ้วนหน้า

รังสิมันต์ ยืนยันว่าการเอ่ยชื่อแพทย์สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เพราะประชาชนสงสัยทั้งประเทศ หากรัฐมนตรีลำบากใจที่จะพูดยินดีให้ส่งเป็นเอกสารข้อมูลหรือพิมพ์ไลน์ส่งมา ก่อนจะกล่าวต่อว่า “เรื่องนี้ไม่ได้แก้แค้นใคร”