ไม่พบผลการค้นหา
รองเลขาฯคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจงแนวคิด "โรงเรียนอีลิท" หมายถึงการเน้นโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง มีความพร้อมสร้างเด็กเก่งเพื่อไปพัฒนาประเทศ ยืนยันไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้น ย้ำเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์คัดค้านแนวนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ให้มีการสร้าง “โรงเรียนอีลิท” นั้น

สพฐ. ขอชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งมีตอนหนึ่งที่ได้พูดคุยถึงเรื่องแนวคิดการเน้นโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง โดยแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าว คือ การเน้นให้เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง ได้สร้างเด็กเก่งเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ 

ในเรื่องนี้ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงแนวคิดการเน้นโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง (High Quality School) เพื่อสร้างเด็กเก่งให้เป็นอนาคตของประเทศว่า ไม่เกี่ยวกับการเป็นโรงเรียนสำหรับอภิสิทธิ์ชน หรือการแบ่งแยกชนชั้น

ทั้งนี้ การใช้คำว่า อีลิท (Elite) ของ รมว.ศธ. มิได้มีเจตนาใช้คำตรงกับความหมายของคำศัพท์ภาษาอังกฤษแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หมายถึงการเน้นโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง มีความพร้อมที่สามารถสร้างเด็กเก่งจริง ๆ เพื่ออนาคตของประเทศ มิได้เกี่ยวกับโรงเรียนสำหรับอภิสิทธิ์ชน หรือแบ่งแยกชนชั้นแต่อย่างใด 

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่าแนวปฏิบัติของ สพฐ. ต้องดูแลนักเรียนทั้งหมด ทั้งเด็กปกติ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กเรียนช้า เด็กด้อยโอกาส และเด็กพิการ อีกทั้งขณะนี้มีโรงเรียนบางประเภทที่เปิดสอนเฉพาะทางอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนในพื้นที่พิเศษ โรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี และอื่น ๆ ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา ก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับการพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน ซึ่งคำว่าเด็กเก่ง ไม่ใช่เก่งแต่ทักษะวิชาการ ด้านทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตก็เป็นเรื่องที่ สพฐ. ให้ความสำคัญ

"ส่วนในเรื่องของ “โรงเรียนอีลิท” เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่ง สพฐ. จะต้องศึกษาข้อมูลทุกด้านและสอบถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบกับแนวทางการรับนักเรียนในปีนี้ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ และจะต้องหารือกันหลายฝ่าย รวมทั้งจะต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบต่อไป" นายพีระกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :