ไม่พบผลการค้นหา
'ภาคีร่วม' เสนอ 'กิโยตินกฎหมาย' 16 กระทรวง ลดต้นทุน-ค่าเสียโอกาสของประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมกำจัดภาระงานไม่จำเป็นของข้าราชการ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (เจเอฟซีซีที) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (อีเอบีซี) เสนอทางออกกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ ‘กิโยตินกฎหมาย’ หรือการปรับ-จัดกว่า 1,000 กระบวนงานที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชน เพื่อลดต้นทุนการเสียโอกาสของภาคธุรกิจาราว 1.3 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 0.8% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)

กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า กระบวนการเพื่อไปสู่ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าเดิมเริ่มได้ด้วยการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการอนุญาตทางราชการเพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของประชาชน

กิรติพงศ์ แนวมาลี
  • กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ

เมื่อปี 2562 ทีดีอาร์ไอและภาคี เคยทบทวนเนื้อหากฎระเบียบของ 16 กระทรวง โดยแบ่งเป็น พระราชบัญญัติ 112 ฉบับ และอนุบัญญัติ 410 ฉบับ ซึ่งพบว่า กฎระเบียบทั้งหมดนี้เพิ่มต้นทุนให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ ไปจนถึงภาครัฐที่ต้องแบกภาระงานจำนวนมาก เป็นเงิน 2.79 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 0.85% ของจีดีพีปี 2562

ด้วยเหตุนี้ ทีดีอาร์ไอและภาคี จึงเสนอให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติทั้งหมด 39 ฉบับ และอนุบัญญัติอีก 120 ฉบับ โดยหากดำเนินการได้จริง จะเป็นประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่อทุกภาคส่วน

ด้าน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และประธานกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ชี้ว่า เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจโดยตรง ยิ่งมีกฎหมายมากยิ่งเพิ่มต้นทุนในการประกอบอาชีพทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นในการคดโกง (คอร์รัปชัน) เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทางแก้ที่ดีที่สุดคือกำจัดกฎหมายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นการสร้างภาระให้กับทุกฝ่ายแทน 

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
  • บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และประธานกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน

พร้อมกันนี้ บวรศักดิ์ ชี้ว่า ทั้งๆ ที่กฎหมายเป็นประเด็นสำคัญแต่ “เป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคการเมืองมีนโยบายฏิรูปกฎหมายเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจน้อยมา ทำอย่างไรให้ภาคการเมืองสนใจเรื่องนี้”

กิรติพงศ์ ทิ้งท้ายว่า การกิโยตินกฎหมายต้องตั้งอยู่บน 3 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1. คู่มีเพื่อเป็นแนวทาง เป้าหมาย และลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะปฏิรูป 2. ส่วนร่วมจากภาคธุรกิจและประชาชน และ 3. พิจารณาปฏิรูปกฎระเบียบลำดับรองมากกว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ