นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวันลอยกระทงทุกปีที่ผ่านมามักจะมีอุบัติเหตุจากการจุดพลุประทัดและดอกไม้ไฟทำให้ได้รับบาดเจ็บตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายหากบาดเจ็บรุนแรงอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรคในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 33 แห่ง พบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558-2562 มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากพลุประทัดและดอกไม้ไฟ 1,770 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนใหญ่ 92.8% เป็นเพศชายและเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-19 ปี จุดเกิดเหตุส่วนใหญ่คือในบ้านและบริเวณบ้าน
ส่วนอวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บรุนแรงจากเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุมากที่สุด คือ บริเวณมือและข้อมือ คิดเป็น 69.2% ในจำนวนนี้ 51% กระดูกแตกหักบริเวณมือและข้อมือ 23% มือขาดถูกตัด รองลงมาคือ บาดเจ็บที่ศีรษะและใบหน้า ส่วนใหญ่เจ็บที่ตาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากพลุประทัดและดอกไม้ไฟ ผู้ปกครองจึงไม่ควรให้เด็กจุดพลุประทัดและดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณที่จุดควรสอนให้เด็กรู้ว่าพลุประทัดและดอกไม้ไฟไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็ก ไม่เก็บพลุประทัดและดอกไม้ไฟที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น เพราะอาจระเบิดโดยไม่คาดคิดและหากจำเป็นต้องจุดพลุประทัดและดอกไม้ไฟในงานพิธีต่างๆ ควรอ่านคำแนะนำอย่างละเอียดและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน
หากพบเห็นหรือเกิดอุบัติเหตุการปฐมพยาบาล เบื้องต้นเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิดให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลและพันบาดแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออกไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเหนือแผล เพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียหายได้ และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพโทร 1669