ยิ่งมาเจอจดหมายด่วนถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดของปลัดกระทรวงมหาดไทยท่ามกลางข่าวลือเตรียมเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ‘วอยซ์ออนไลน์’ ขอพาทบวนมาตรการรับมือโควิด-19 ภายในประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แบบรายสัปดาห์ ดังนี้
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ แคมเปญรัฐบาลเริ่มตีปี๊บตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563
ขณะที่เมืองหลวงของประเทศศูนย์กลางการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสร้าย เริ่มรู้สึกตัวเมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. แถลงสั่งปิดพื้นที่เสี่ยง ห้างร้านตลาดเพื่อลดความหนาแน่นส่งเสริมมาตรการ social distancing ยกเว้นที่ขายอาหารแห้ง-สด มีผลตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. - 12 เม.ย. 2563
ต่อมา นายกฯ ประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีผลวันที่ 26 มี.ค. 2563 - 30 เม.ย. 2563
27 มี.ค. 2563 ผู้ว่าฯ กทม. แถลงสั่งปิดพื้นที่เสี่ยง เพิ่มเติม ลงรายละเอียดเจาะจงสถานที่ เช่น สวนสาธารณะ สนุกเกอร์คลับ ขยายเวลาถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563
อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พล.อ.ประยุทธ์ งัดยาแรงยกสองประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 22.00 - 04.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เป็นต้นไป
ผู้ใดฝ่าฝืนกฎเหล็กโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
แม้จะรณรงค์ขอความร่วมมือให้ทุกคนสร้างระยะห่างในการดำรงชีวิต ควบคู่ไปกับการใช้ยาแรงจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกระดับจำกัดเวลาการใช้ชีวิต
แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับวันละหลักร้อยรายตลอด 2 สัปดาห์ โดยมีเพียงสองวันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่าร้อยที่จำนวน 89 ราย และ 51 รายบ้าง ทว่ามาตรการ social distancing เอง ก็ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า สามารถดำเนินการได้จริงจังมากน้อยเพียงใด
พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่อ้างว่าต้องการสร้างเอกภาพในการดำเนินการของภาครัฐ แต่ทางปฏิบัติก็ยังพบความกระจัดกระจาย ของแต่ละหน่วยงาน ที่ไม่มีมาตรฐานหรือทิศทางเดียวกัน บางแห่งเด็ดขาด สั่ง work from home ทันที บางแห่งกำหนดกรอบเวลา 20:80 บางแห่ง 50:50 บางแห่งตามความจำเป็นของเนื้องาน บางแห่งยึดตามกรอบของความเสี่ยงสำหรับผู้ต้องเดินทางโดยรถสาธารณะ หรือผู้ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป อาทิ
ขณะที่ กราฟผู้ติดเชื้อทยานทะลุหลัก 2,000 ราย ท่ามกลางยาแรงจากรัฐบาล
ล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 6 เม.ย. 2563 โดยมีผู้ติดเชื้อ สะสม 2,220 คน ติดเชื้อเพิ่มวันนี้ (6 เม.ย.) 51 ราย เเละเสียชีวิตอีก 3 รายรวมเสียชีวิตแล้ว 26 ราย
อีกสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดคำถามคือ รัฐบาลมีการตรวจการติดเชื้อให้แก่ประชาชนชาวไทยมากน้อยเพียงใด เพราะมาตรการดังกล่าวพบความประสบความสำเร็จอย่างสูงจากโมเดลของเกาหลีใต้ ประเทศประชาธิปไตยที่มีขีดความสามารถรับมือโรคระบาดอันดับ 6 ของโลกเทียบเท่าประเทศไทย หลังพบการระบาดภายในประเทศ (local transmission)
รัฐบาลโสมขาวไม่รอช้าดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทันที แก่ทั้งผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ ประชาชนที่ถูกประเมินว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยไม่ต้องรอการสอบสวนโรค จนสามารถชะลออัตราการแพร่ระบาดได้เป็นที่น่าพอใจ โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. เกาหลีใต้ ตรวจ 461,233 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 10,237 คน เฉลี่ยตรวจ 8,920 คนต่อ 1 ล้านคน
ข้ามไปยังโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุด ก็ได้ดำเนินการตรวจ 1,779,357 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 332,308 คน เฉลี่ยตรวจ 5,421 คนต่อ 1 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เม.ย.2563)
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก wikipedia covid-19 testing ระบุว่า ตรวจ 23,669 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 1,978 คน เฉลี่ยตรวจ 341 คนต่อ 1 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย.2563)
หากเปรียบเทียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าจำนวนการตรวจของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เป็นรองสิงคโปร์ที่ตรวจ 39,000 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 558 คน เฉลี่ยตรวจ 6,838 คนต่อ 1 ล้านคน ข้อมูลเมื่อ 25 มี.ค.
เวียดนาม ตรวจ 88,551 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ241 คน เฉลี่ยตรวจ 920 คนต่อ 1 ล้านคน ข้อมูลเมื่อ 5 เม.ย. และมาเลเซีย ตรวจ 51,937 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 3,662 คน เฉลี่ยตรวจ 1,585 คนต่อ 1 ล้านคน ข้อมูลเมื่อ 5 เม.ย.
จากข้อมูลจะพบว่า การตรวจหาเชื้อให้แก่ประชาชนจะส่งผลทั้งทางจิตวิทยาความมั่นใจของภาครัฐในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด และกำหนดกรอบมาตรการในการรับมือในการจัดหาทรัพยากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร และเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งความไม่พร้อมในการจัดหาน้ำยา หรือชุดทดสอบ (test kits) ก็ยังเป็นคำถามว่า รัฐบาลรออะไร งบประมาณเพียงพอหรือไม่ หรือนายหน้าวงในอยู่ระหว่างล็อบบี้การนำเข้าล็อตใหญ่ เพื่อฉวยโอกาสฟันกำไรบนความทุกข์ร้อนอยู่หรือไม่
ขนาดส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งอย่าง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจกับการตรวจหาเชื้อโควิดเพิ่มเติมโดยควบคู่ไปกับการทำ social distancing เนื่องจากเห็นว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19นั้น การวัดอุณหภูมิตรวจไข้ไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้ติดเชื้ออาจยังอยู่ในระยะฟักตัวไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว การตรวจหาเชื้อให้ประชาชนจึงมีความจำเป็นยิ่งในการป้องกัน
น.พ.เจตน์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า CDC ของสหรัฐอเมริการับรองบริษัท Roche Diagnostics,Mayo Clinics,Abbott Lab. จีน เกาหลีใต้ เยอรมนี ไต้หวัน ล้วนแต่เร่งเข้ามาวิจัยเพื่อให้ได้ชุดตรวจที่จะแก้ปัญหานี้ที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ต้องการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยให้ได้เร็วที่สุดเพื่อสกัดการแพร่เชื้อ ยิ่งตรวจได้มากก็จะยิ่งลดจำนวนผู้ป่วยได้ แต่ก็ต้องมีความแม่นยำด้วย
เมื่อวันที่ 16 มีค. 2563 ที่ผ่านมา WHO ยืนยันว่าการเพิ่มโปรแกรมการตรวจจะเป็นวิธีดีที่สุดในการชะลอการระบาดของโรค
"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และSocial Distancing แล้ว ต้องเพิ่มจำนวนการตรวจผู้สัมผัสโรคหรือผู้ป่วยด้วย จึงจะสามารถกด curve ของ graph ให้แบนลง เพื่อป้องกันการแย่งไปใช้บริการของผู้ป่วยจนแน่น รพ.แบบอิตาลีได้" ส.ว.แต่งตั้งทิ้งท้ายชวนให้คิด
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเป็นอย่างไรต่อไป รัฐบาลจะเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงหรือไม่ ก็เป็นชะตากรรมร่วมกันของคนไทยภายใต้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลประยุทธ์ที่ทุกคนจะต้องจัดจำ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3084347004932136&id=100000706016040?sfnsn=mo
https://en.wikipedia.org/wiki/COVID-19_testing
ข่าวที่เกี่ยวข้อง