วันที่ 21 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงความรู้สึกภายหลังการเข้ารับหนังสือรับรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า รู้สึกตื่นเต้น แต่ก็รู้สึกดี ที่เห็นว่าตอนนี้ประชาชนเริ่มเห็นแล้วว่าการเมืองไทยจำเป็นต้องพลิกโฉมจริงๆ จากการเลือกตั้งจะเห็นว่า ประชาชน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลขึ้นมา และพรรคเป็นธรรมก็ได้มีชื่อในการเข้าร่วมรัฐบาล เป็นการเปลี่ยนโฉมประชาธิปไตยในครั้งนี้ มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไป ต้องขอบคุณ กกต. จริงๆ ที่รีบรับรอง ส.ส. ทั้ง 500 คน ในครั้งนี้ พร้อมเปิดเผยว่า ยังไม่ไปรายงานตัวต่อรัฐสภาในวันนี้ เนื่องจากจะต้องใช้เวลาเตรียมเอกสารเพิ่มเติมก่อน
เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล กัณวีร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยในคณะทำงานประสานงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เป็นการพูดคุยในตัวนโยบายเท่านั้น ซึ่งเป็นรายละเอียดของ 10 คณะทำงาน ที่ได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งต่อจากนี้จะมีการประชุมของหัวหน้าพรรคร่วม ทั้ง 8 พรรค ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ แต่เนื่องจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ติดโควิด-19 จึงจำเป็นต้องเลื่อนไปก่อน เป็นสัปดาห์หน้า ถึงจะมีการพูดคุยกัน
เมื่อถามถึง การแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ หรือปาตานี จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่โหวตเลือก พิธา เป็นนายกฯ หรือไม่ กัณวีร์ กล่าวว่า ตอนแรกอาจจะมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ในภายหลังเราก็ได้มีการอธิบายต่างๆ ของทั้ง 3 พรรคที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ ซึ่งเราชี้แจงไปเรียบร้อยแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไป เราสนับสนุนการให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพี่น้องประชาชน และจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาล และต้องอยู่ภายใต้กรอบธรรมนูญ ทำให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น ไม่หวั่น ถ้าเกิดมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น เราจะยืนหลักของเราที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด
เมื่อถามถึงกรณีแบบสอบถามการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนของขบวนการนักศึกษาแห่งที่ชาติที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่อาจจะทำให้มีการยื่นยุบพรรค กัณวีร์ กล่าวว่า เราชี้แจงไปแล้ว ว่าเป็นความเข้าใจผิด ในวันที่มีแบบสอบถามในการทำประชามติ จริงๆ แล้ว เป็นแค่แบบสอบถามว่าสมควรจะทำประชามติหรือไม่ ในเรื่องนี้ เป็นเพียงกรอบวิชาการเท่านั้น สมัยก่อนเขาก็เคยทำกันมา แต่ที่เป็นประเด็นในขณะนี้ เพราะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เท่านั้นเอง
เมื่อถามย้ำว่า จะต้องมีการทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ RSD (Right to Self-determination) เพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากมีการถูกนำไปเชื่อมโยงกับ “การแบ่งแยกดินแดน” กัณวีร์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาหลักคือการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
เมื่อถามว่า เรื่องข้างต้นจะมีส่วนในการล้มรัฐบาลหรือไม่ กัณวีร์ กล่าวว่า เราเห็นว่าเป็นขบวนการในการโค่นล้มในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้แน่นอน หน่วยงานความมั่นคงหรือหน่วยงานในพื้นที่ก็มีการพยายามนำประเด็นนี้ขึ้นมาพูด