วันที่ 27 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา กรุณพล เทียนสุวรรณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พักหนี้เกษตรกร 3 ปี โดยระบุว่า ไม่ได้ต่อต้าน และเห็นด้วยกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้ได้มีโอกาสในการเริ่มชีวิตใหม่
กรุณพล ระบุว่า พรรคก้าวไกล เองเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่ต่างกับรัฐบาลเช่นกันและเห็นว่าการที่รัฐบาลรีบออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเรื่องดีที่ไม่ควรชักช้า
แต่พรรคก้าวไกล มีความกังวลกับมาตรกรดังกล่าวเพราะการพักหนี้ครั้งนี้ ช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่มีหนี้สินรวมกันของ ธกส. ไม่เกิน 3 แสนบาท ทำให้เกษตรกรเข้าร่วมได้เพียง 2.69 ล้านคนจาก 4.8 ล้านรายที่เป็นหนี้ ธกส. ซึ่งแปลว่าเกษตรกรอีกประมาณ 40% ที่มีหนี้กับ ธกส. ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ทั้งๆที่อาจจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้เรื้อรัง และหนี้เสียที่สร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรไม่ต่างกัน หรือบางรายอาจมีความเสี่ยงมากกว่าด้วยซ้ำ
"เราทราบดีว่าการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรนั้น จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้มีโอกาสในการชำระหนี้และมีเงินสำหรับลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่จากอดีตที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 10 ปีเรามีนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรมามากกว่า 13 โครงการ หากการพักหนี้สามารถแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้จริงเราคงสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้มาหลายปีโดยไม่เสียงบประมาณไปเปล่าๆหลายแสนล้าน แต่หนี้ของเกษตรกรกลับเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่ง"
จากงานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักและของพรรคก้าวไกลเองได้ผลลัพธ์ตรงกันว่าการพักชำระหนี้ไม่ได้ช่วยลดมูลหนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่กลับเพิ่มปริมาณหนี้ให้กับเกษตรกรเมื่อโครงการสิ้นสุดลง ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการสนับสนุนด้านการเงินเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีการวางแผนในการสร้างงาน สร้างรายได้ และการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างเป็นระบบ
การให้งบประมาณ พัฒนาศักยภาพเกษตรกรจำนวน 1000 ล้านบาทเพื่อให้เกษตรกร 300,000 คนได้มีความรู้ทางด้านการเกษตรที่มากขึ้นพรรคก้าวไกลยังมองไม่เห็นตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าการใช้เงินหลักพันล้าน นอกจากจะเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างไรเนื่องจากปัญหาหลักของเกษตรกรในปัจจุบันนี้คือ
1.ปัญหาปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นมากหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซียยูเครน
2.ตลาดในการกระจายสินค้าอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มทุนจากนอกประเทศทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะทำการตลาดได้ด้วยตัวเอง
3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรเนื่องจากคนหนุ่มสาวหันเข้าทำงานในตัวเมืองใหญ่เหลือ ทิ้งไว้เพียงผู้สูงอายุุที่ยังคงทำการเกษตรแบบเก่า แม้จะมีบางส่วนหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ก็เป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ
4. ปัญหาพื้นที่ชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเนื่องจากภาวะเอลนีโญที่ทำให้หลายพื้นที่ทางการเกษตรต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำ และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานก่อนจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต
5. ปัญหาการเข้าถึงความรู้ทางการเกษตร และการลงทุนทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยข้อจำกัดนานาประการ เช่น ไม่มีแหล่งทุน ไม่มีแหล่งน้ำ และไม่มีผู้ให้คำแนะนำ/ช่วยเหลือและติดตามที่เชื่อถือได้
6. การขาดผู้ให้คำแนะนำในด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สินสำหรับเกษตรกรเฉพาะราย (ซึ่งมีลักษณะ/เงื่อนไขที่แตกต่างกัน) และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะเวลาชำระคืนยาวเพียงพอที่จะปรับโครงสร้างการผลิตของตนได้
7. การขาดการวางแผนของภาครัฐในการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแข่งขันในตลาดโลก
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นปัญหาหลักๆที่เราได้มองเห็นว่าเหตุใดเกษตรกรจึงยังคงมีหนี้สะสมจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามแนวทางของรัฐบาลสำหรับพรรคก้าวไกลมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่มีข้อน่ากังวลและมีช่องโหว่ในหลายจุดที่เราเห็นว่าอาจจะทำให้งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาทที่จะใช้ตลอดระยะเวลาสามปีเมื่อสิ้นสุดโครงการอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแบบยั่งยืนแต่เป็นการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก
พรรคก้าวไกลจึงขอฝากคำแนะนำ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไปยังรัฐบาลดังนี้
1. เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนตัวชี้วัดเป้าหมายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จากการเน้นนำรายได้ส่งเข้าคลัง มาเป็นการมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ และการปรับลดปลดหนี้สินของเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง
2. การชำระหนี้ของเกษตรกรนั้นจะต้องนำไปตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ใช่การหักเพียงดอกเบี้ยแต่เงินต้นคงเดิมเช่นที่ผ่านมา ซึ่งในข้อนี้ก็อยู่ในมาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศออกมา และถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และ ธกส. ควรถือปฏิบัติต่อไป ไม่ใช่เฉพาะกับผู้เข้าร่วมโครงการนี้ และรัฐบาลควรให้สหกรณ์การเกษตรอื่นๆ ถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรลูกหนี้
3. รัฐบาลควรเสนอแนวทางเลือกในการปรับลดปลดหนี้ให้เกษตรกร โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง ขยายเวลาชำระคืนให้นานยิ่งขึ้น หรือมีมาตรการในการคืนดอกเบี้ยที่เกษตรกรชำระบางส่วน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรนำไปปรับปรุงโครงสร้างการผลิต
4. สำหรับเกษตรกรที่มีหนี้สินสะสมมาก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้วยคุณภาพตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการรับซื้อหนี้ของเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้เกษตรกรลูกหนี้ที่แม้สินทรัพย์กำลังถูกขายทอดตลาด หรือขายไปแล้วยังสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอเช่าใช้ทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ หรือเช่าซื้อที่ดินกลับคืนมา
5. รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเกษตรเป็นเพิ่มศักยภาพทางด้านการจัดการทางด้านการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกร โดยมีแนวทางและคำตอบที่ชัดเจนสำหรับเกษตรกรแต่ละราย เพื่อให้เข้าใจการบริหารจัดการหนี้อย่างถูกต้อง และสามารถเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินได้ทันที
6. เพิ่มทางเลือกในแง่อาชีพ หรือแหล่งรายได้เสริมให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองและมีหนี้สินมากเกินกว่าจะชำระได้ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้สูงอายุ เช่น การเพาะกล้าไม้ หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และทางเลือกในการจัดการทรัพย์สินของเกษตรกรผู้สูงอายุ เช่น เกษตรกรที่มีที่ดินแต่ไม่ได้ทำการเกษตรต่อไป ภาครัฐอาจเป็นคนกลางในการนำที่ดินมาให้เกษตรกรรุ่นใหม่เช่าใช้ประโยชน์ หรือลงทุนหรือเช่าเพื่อปลูกไม่ยืนต้นมูลค่าสูง ที่จะสามารถนำมาเป็นมูลค่าในการชำระหนี้สิน/เงินออมสำหรับเกษตรกรในอนาคต
"เราเชื่อว่านโยบายที่รัฐบาลออกมาแม้จะออกมาด้วยความหวังดีต่อเกษตรกร แต่ยังเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอ และไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรที่สูงอายุที่มีหนี้สินสะสมมากกว่ารายได้หลายเท่าตัวซึ่งมีมากถึง 1.4 ล้านคน แปลว่าเมื่อพ้นระยะเวลาในการพักชำระหนี้ หนี้สินทั้งหมดก็จะกลับมาพอกพูนและกดดันเกษตรกรเหมือนเดิม" กรุณพล กล่าว
กรุณพล กล่าวถึงผลการประชุม สส.ของพรรคก้าวไกลเมื่อวานนี้ (26 ก.ย.) เรื่องของตำแหน่งรองประธานสภาฯ โดยระบุว่า จะมีการประชุมอีกครั้งร่วมกับ ปดิพัทธิ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เนื่องจากในครั้งที่แล้ว ปดิพัทธ์ ยังไม่กลับจากสิงค์โปร์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีมติออกมาชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ และขับเคลื่อนสภาฯ รวมถึงตรวจสอบรัฐบาล เพราะฉะนั้นจะมีการพูดคุยกับ ปดิพัทธ์ ว่าเมื่อพรรคมีมติเช่นนี้แล้ว ปดิพัทธ์ ยอมรับกับมติของที่ประชุมอย่างไร โดยจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้
โดยหาก ปดิพัทธ์ ไม่ลาออกจะต้องมีการขับออกหรือไม่ กรุณพล กล่าวว่า ต้องอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคว่าจะมีมติอย่างไร การพูดคุยยังไม่เริ่มขึ้น คงตอบได้ลำบาก
กรุณพล ยังย้ำว่า พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ เพื่อให้สามารถผลักดันประเด็นที่แหลมคม และทำการตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างชัดเจน รวมถึงกรรมาธิการหลายคณะที่เราได้เป็นประธานฯ เราจึงมีความกังวลว่าเมื่อมีการตรวจสอบภาครัฐโดยที่ประธานกรรมาธิการไม่ใช่สัดส่วนของพรรคฝ่ายค้าน อาจมีปัญหาหรือความล่าช้าในการตรวจสอบ การมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ย่อมทำให้เราตรวจสอบได้ดียิ่งขึ้น
กรุณพล กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วสนิทกับ ปดิพัทธ์ ก็รู้สึกเสียดายหากต้องมีการขับออกจริง แต่เท่าที่เคยคุยกันไม่เกี่ยวกับการขับหรือไม่ขับ ตัว ปดิพัทธ์เองไม่เคยเข้าพรรคและไม่เคยเข้าร่วมประชุมของพรรคเลย หรือแสดงความเห็นใดๆ ถึงนโยบายหรือญัตติของพรรคเลย ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องบอกว่า ปดิพัทธ์ เป็นคนนอกของพรรคตั้งแต่วันที่รับตำแหน่งแล้ว
ส่วนหากต้องขับออกจริงๆ จะมีเหตุผลเพียงพอต่อการชี้แจงต่อประชาชนหรือไม่ กรุณพล กล่าวว่า อยู่ที่กรรมการบริหารพรรคและ ปดิพัทธ์ ว่าเหตุผลที่จะยังอยู่หรือจะลาออกจะเป็นอย่างไร เพราะในวันนี้ยังไม่ตัดสินใจได้ ว่า ปดิพัทธ์ จะยังคงอยู่ในตำแหน่งหรือยินดีที่จะลาออก เพื่อมาร่วมงานกับพรรคก้าวไกลอีกครั้งหนึ่ง
"สุดท้ายแล้วเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ และแนวทางการทำงานของ ปดิพัทธ์ จะเป็นไปในทิศทางหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็คงต้องมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จากกรรมการบริหารพรรคซึ่ง สส.ทุกคนคงไม่มีสิทธิ์ก้าวล่วงในการตัดสินใจนั้น"
เมื่อถามว่า ส่วนตัวอยากเห็น ปดิพัทธ์อยู่ในตำแหน่งใด กรุณพล กล่าวว่า ส่วนตัวอยากเห็นในตำแหน่งรองประธานสภาฯ เนื่องจาก ปดิพัทธ์ อยากให้สภาขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็วและตรวจสอบได้ คิดว่า ปดิพัทธ์ น่าจะเหมาะกับการดูแลสภาฯ แห่งนี้
"ถ้าแค่ขับออกก็รับได้ แต่ถ้าให้อยู่ก็ยินดีมากๆ"
เมื่อถามว่า หาก ปดิพัทธ์ ลาออกแล้วตำแหน่งนี้ไปอยู่กับพรรคอื่นจะคุ้มกับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ กรุณพล กล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญเราคงใช้คำว่าคุ้มหรือไม่คุ้มไม่ได้ เพราะเป็นข้อกำหนดที่บังคับอยู่ สุดท้ายเราจำเป็นต้องเลือก 1 ตำแหน่ง หากพรรคก้าวไกลมีส.ส.151 คน จะปล่อยให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไปอยู่ในมือ ของพรรคที่มี สส.หลัก 10 เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพรรคก้าวไกลพลาดจากการเป็นรัฐบาล ก็ควรจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
ขณะที่การขับ ปดิพัทธ์ ออกไปพรรคอื่น พรรคนั้นอาจถูกมองว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคก้าวไกลหรือไม่ กรุณพล กล่าวว่า แล้วแต่มุมมอง ในกรณีที่จับออกแล้วไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ แล้วพรรคเหล่านั้นเป็นพรรคสำรองของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ก็คงจะไม่ใช่คำตอบ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ความเชื่อและความเห็นของแต่ละคน คงไม่สามารถห้ามความคิดใครได้