ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย เทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน และธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ กรรมการศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย ได้แถลงคำแถลงศูนย์นโยบายฯ พรรคเพื่อไทย เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อนโยบายที่เปลี่ยนไปของสหรัฐอเมริกา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าและเงินบาทแข็งตัว ไทยควรปรับนโยบายการเงิน
ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยบอกว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน อาทิ การผ่อนคลายของนโยบายการเงินขนาดมหึมา, นโยบายการทางค้ากับประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในระยะสั้น-กลาง การใช้การกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) มีแนวโน้มทำให้ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนตัวลงมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาส 2 ของปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป และคาดการณ์ว่าจะอ่อนตัวลงอยู่ในกรอบ 15-20% ในระยะ 2-3 ปีต่อจากนี้
"การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ หมายถึงการแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย"
ในแถลงการณ์กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ เพราะจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับฟื้นตัวของการส่งออกในระยะแรก และต่อด้วยการท่องเที่ยวในระยะถัดไป
"ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยประเมินว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับการชิงจังหวะการส่งออก ชิงห่วงโซ่การผลิตที่ถูกตัดขาด และชิงการกลับมาของนักท่องเที่ยว ควรจะอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ แต่จากปัจจัยข้างต้นประเมินว่าจะทำให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2563 และแข็งค่าไปแตะระดับ 29.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2564"
ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไทยขาดมาตรการการเงินเชิงรุกแบบพิเศษเข้ามาดูแล อาจจะทำให้เกิดหายนะของภาคการส่งออกและท่องเที่ยวไทย ในจังหวะที่นานาชาติกำลังฟื้น ประเทศไทยจะติดกับดักค่าเงินที่เป็นตัวถ่วงการฟื้นตัว
นโยบายการเงินเป็นหัวหอกสำคัญในการกำหนดความได้เปรียบของประเทศ
ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย แนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณามุมมองใหม่ของนโยบายการเงินที่ไม่ใช่แค่คำว่าดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยหลัก ในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนสำคัญยิ่ง และในภาวะที่ความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เหลือน้อย
ทั้งนี้มองว่าคำกล่าวที่ว่า นโยบายการเงินเป็นเสมือนหลังพิง และนโยบายการคลังจะเป็นหัวหอกในช่วงโควิด-19 นั้น ไม่ถูกต้อง เหตุเพราะนโยบายการคลังส่งผลต่อการฟื้นตัวในประเทศ แต่นโยบายการเงินเกี่ยวข้องโดยตรงต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่แต่ละประเทศกำลังชิงตลาดส่งออกและห่วงโซ่อุปทานในช่วงฝุ่นตลบ หมดยุคที่นโยบายการเงินจะเน้นเพียงด้านเสถียรภาพโดยเฉพาะด้านราคา แต่กำลังเข้าสู่ยุคที่นโยบายการเงินเป็นหัวหอกสำคัญในการกำหนดความได้เปรียบของประเทศ
ไทยควรพร้อมเปิดการค้าเสรีใหม่กับสหรัฐฯ ชัดเจนกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนแรงงาน และสิทธิบัตรทางปัญญา
ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จาก นโยบายสนับสนุนให้ชาวอเมริกันใช้ของอเมริกัน (Buy American Product) ของโจ ไบเดน อีกทั้งช่วงนี้สงครามการค้ามีท่าทีที่จะตึงเครียดน้อยลง จึงส่งผลดีกับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าของสหรัฐฯ
"ประเมินว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในปี 2564 จะกลับมาขยายตัว 10-15% นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ วางแผนที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และขยายเครือข่ายระบบ 5G จะช่วยหนุนความต้องการสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ แผงโซลาเซลล์และไดโอด อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์"
ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐบาลไทยควรให้การสนับสนุนการลงทุน ผลิต และต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้มากขึ้น โดยเน้นบทบาทภาครัฐเชิงรุก เช่น การให้เงินสนับสนุน การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี การช่วยเหลือให้ความรู้ทางเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับภาครัฐ เป็นต้น
อีกทั้งไทยควรมีนโยบายการต่อต้านการทุจริต ปรับมาตรฐานของแรงงาน และคุ้มครองสิทธิบัตรทางปัญญาอาจเป็นอุปสรรคต่อการที่ประเทศไทยจะสามารถได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเป็นคู่ค้าทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีได้ เป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าสหรัฐฯจะมีท่าทีอย่างไรกับประเทศไทยที่ยังมีความไม่ชัดเจนต่อการแก้ปัญหาการทุจริตอยู่ในภาครัฐ ยังมีมาตรฐานของแรงงานที่เป็นปัญหา และสิทธิบัตรทางปัญญาที่ยังถูกละเลย
"ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมในการหามาตรการดูแลและเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งเกษตรกร ผู้ผลิตยา และผู้ค้าสินค้าต่างๆ ให้พร้อมรับมือกับการเปิดการค้าเสรีที่อาจเกิดขึ้น หรือหากอเมริกาตัดสินใจที่จะเริ่มเจรจาสนธิสัญญาการค้าเสรีแบบอื่นๆ ใหม่ ประเทศไทยก็ต้องเตรียมความพร้อมในด้านสิทธิมนุษยชนดังที่ได้กล่าวไปเพื่อให้สามารถรับประโยชน์จากการเป็นคู่ค้าในกรอบพันธมิตรประชาธิปไตยได้" ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยกล่าว
ไทยควรชัดเจนกับนโยบายลดโลกร้อน ปัญหามลพิษทางอากาศ หันมาลงทุนด้านพลังงานสะอาด
โจ ไบเดน แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global warming) โดยประกาศเข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) หลังจากที่ทรัมป์แจ้งถอนตัวออกมาไม่นานมานี้ นอกจากนี้ยังมีการผลักดันนโยบายประมง โดยจัดการการประมงและการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มเติมเพื่อปกป้องสัตว์ทะเล พร้อมทั้งยังรวมถึงคุ้มครองพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในป่าให้มีมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของโลกภายในปี 2573
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เข้าร่วมทำสัตยาบันต่อข้อตกลงปารีส ซึ่งกำหนดให้ดำเนินมาตรการเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส แต่ความสามารถของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยนั้นยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และในปัจจุบันประเทศไทยผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนได้เพียงประมาณ 15% เท่านั้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาภัยแล้งทุกปี ฤดูไฟป่าทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล ตามข้อมูลจากงานวิจัยของ NESTPICK ระบุว่า กรุงเทพฯ มีอัตราที่จะจมลง 2 เซนติเมตรต่อปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ต้องมีมาตราการที่เข้มแข็งและสอดคล้องกับสัตยาบันนานาชาติในการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ประเทศไทยควรหันมาลงทุนด้านพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำและการเป็นส่วนของห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ ประเทศไทยจะสามารถหารายได้เข้าประเทศจากประเทศคู่ค้ารายใหญ่เฉกเช่นสหรัฐฯ ได้อีกมาก หากสามารถปรับตัวให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับของสากล