ไม่พบผลการค้นหา
วุฒิสภามีมตินัดประชุม 10 ม.ค.ต้องเร่งเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน หลัง กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วต้องพิจารณาใน 30 วัน เล็งแก้ข้อบังคับฯ ให้ประชุมออนไลน์ได้

วันที่ 7 ม.ค. 2565 คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ระบุว่า ในการประชุมวิปวุฒิสภา วันเดียวกันนี้ มีมติในประเด็นสำคัญว่า จะมีการประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 10 ม.ค.นี้ เฉพาะวาระที่จำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คือ วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขและสงวนคำแปรญัตติไว้ 4 มาตรา โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 และขอขยายเวลาไปเป็นกรณีพิเศษแล้ว 30 วันแล้ว โดยจะครบกำหนดในวันที่ 13 ม.ค.

“เพราะถ้าไม่เสร็จ ตามรัฐธรรมนูญก็ถือว่าให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นไปตามร่างที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร การพิจารณาในชั้นวุฒิสภาก่อนหน้านั้นจะตกไป ไม่มีผล เสมือนว่าวุฒิสภาไม่ได้กลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติตามหน้าที่เลย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

คำนูณ กล่าวว่า การทำงานของวุฒิสภามีความแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรตามสมควร ตรงที่มีระยะเวลาจำกัดกำกับไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมยังเสนอแนะประธานวุฒิสภาว่าในโอกาสต่อไปควรเร่งบรรจุระเบียบวาระร่างขัอบังคับการประชุมวุฒิสภาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้จัดประชุมวุฒิสภาทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดซ้ำมาเป็นปีที่ 2

นอกจากนั้น ในการประชุมวันที่ 7 ม.ค.นี้ก็จะมีการบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาที่คาดว่าใช้เวลาสั้น ไม่ยืดเยื้อ แต่มีความจำเป็นต้องอาศัยมติที่ประชุมวุฒิสภา อาทิ การขอเสนอยกเว้นข้อบังคับไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการรัฐสภา (ก.ร.) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คณะกรรมาธิการอาจไม่สามารถจัดประชุมในสถานที่ได้เนื่องจากสภาวะของโรคระบาดโควิด-19 เพราะตามข้อบังคับการประชุมที่ใช้อยู่ขณะนี้คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯยังไม่สามารถจัดประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

โฆษกวิปวุฒิสภากล่าวว่า ศ.พิเศษพรเพชร วิขิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้กราบเรียนรายงานให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทราบแล้วว่าเป็นความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องป้องกันโรคโควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง โดยจะวางมาตรการป้องกันให้เข้มข้นสูงสุด และพยายามใช้เวลาให้จำกัดที่สุดโดยมิให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ ซึ่งประธานรัฐสภาเข้าใจ