ไม่พบผลการค้นหา
'โรม' สวน 'เสรีพิศุทธ์' ไม่ได้ติดค้างพรรคใด มีแต่หนี้บุญคุณประชาชน ลั่น 'ก้าวไกล' ยอมแล้ว ยอมอีก ยอมต่อ ถ้านับเป็นบุญคุณคงมหาศาล เผยยังไม่ได้ข้อสรุปช่วยโหวต 'เศรษฐา' หรือไม่

วันที่ 3 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรค เผยว่า พรรคยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องของแนวทางการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยการประชุมเมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ได้เปิดโอกาสให้ สส. ได้แสดงความเห็น ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะต้องมีข้อสรุปทิศทางการโหวตในวันนี้ และต้องรอความชัดเจนหลังมีการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีวันที่ 4 ส.ค. นี้ออกไป ซึ่งวันนี้จะคุยกันว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร 

รังสิมันต์ ยังยืนยันว่า หากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการโหวตของรัฐสภาเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยพรรคก้าวไกลก็จะไม่โหวตให้นั่งนายกฯ 

โรม.jpg


ส่วนกรณี ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ว่าอาจขาดคุณสมบัติ รังสิมันต์ มองว่า เป็นสิทธิของ ชูวิทย์ และพรรคยังไม่ได้หยิบยกข้อเสนอดังกล่าวมาหารือกันในที่ประชุม สส. ซึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และพรรคพร้อมที่จะรับฟังอย่างจริงใจ

"จะเห็นได้ว่า พรรคก้าวไกลยอมถอยในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องประธานรัฐสภา เรื่องจำนวนวันประชุมสภา และ เรื่องนายกรัฐมนตรี ก็เจอวิชามาร ตีความให้เสนอชื่อ พิธา ซ้ำไม่ได้ เรายอมมาหลายเรื่องเพื่อรัฐบาล 8 พรรค แต่ไม่ยอมรับที่มีความพยายาม จากคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถที่จะเข้าใจได้" รังสิมันต์กล่าว 

โรม.jpg

รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ระบุว่าพรรคก้าวไกลควรโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเพราะมีบุญคุณต่อกัน โดยระบุว่า ประชาชนคือบุคคลที่มีบุญคุณกับพรรคก้าวไกลสูงสุด และพรรคก้าวไกลไม่ได้มีบุญคุณติดค้างกับพรรคการเมืองใด 

"พรรคก้าวไกลยอมมาแล้วหลายเรื่องยอมแล้วยอมอีกยอมต่อ ซึ่งหากนับเป็นบุญคุณ คงเป็นบุญคุณมูลค่ามหาศาล ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละพรรคการเมืองก็ย้ำในจุดยืนว่าพรรคการเมืองอันดับหนึ่งจะต้องให้เป็นรัฐบาล จึงไม่ถือเป็นเรื่องบุญคุณ แต่เป็นการทำหน้าที่ สส." รังสิมันต์ กล่าว


วอนอย่าใช้วิชามารทำประชุมรัฐสภาล่ม

รังสิมันต์ เผยถึงการพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) เพื่อตัดอำนาจ สว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เราไม่สามารถมีนายกฯ ตามความต้องการของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ การโหวตนายกฯ ที่มีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจบลงด้วยการที่ สว.ส่วนใหญ่ไม่ให้ความเห็นชอบ ชัดเจนว่า หากไม่มีมาตรา 272 เราคงมีนายกฯ แล้ว มาตรา 272 ที่ไม่ชอบด้วยประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น กลายเป็นหล่มทางการเมือง เราต้องรีบเอาหล่มทางการเมืองนี้ออก เพื่อให้มีนายกฯ ของประชาชน 

"หล่มมาตรา 272 สะท้อนรัฐบาลเสียงข้างมากแบบพิสดาร ที่ไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกัน เป็นกระบวนการผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์ เป็นไปได้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลที่ไม่สนใจอุดมการณ์ที่ต้องกัน เปิดโอกาสให้ สว.ตั้งเงื่อนไขกับพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง"

โรม.jpg

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่าเราจะปล่อยให้มาตรา 272 เป็นอุปสรรคทางการเมืองต่อไปทำไม เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงมาตรา 272 ไว้ โดยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปิดสวิตช์ สว.ใช้เวลาไม่นาน หากพรุ่งนี้สามารถโหวตวาระแรกได้ คาดว่ากระบวนการพิจารณา 3 วาระ น่าจะจบภายใน 1 เดือน และประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ก.ย.นี้ ทำให้ สว.ไม่มีอำนาจลงมติโหวตนายกฯ จบความแปลกประหลาดทางการเมือง ไม่ต้องพึ่งพา สว. และรัฐบาลเสียงข้างน้อย

"ที่ผ่านมาพวกท่านพูดเสมอว่าอยากปิดสวิตช์ตนเอง ดังนั้นการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ต้องช่วยกันปิดสวิตช์มาตรา 272 เพื่อเอา สว.ออกจากสมการเลือกนายกฯ"

รังสิมันต์ ยังเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจจะทำให้องค์ประชุมล่ม ไม่สามารถพิจารณาการยกเลิกมาตรา 272 ได้ จึงหวังว่าทุกฝ่ายอย่าใช้วิชามารทำให้องค์ประชุมล่ม หวังว่าทุกท่านจะมีความจริงใจต่อประชาชนเพื่อทำหน้าที่อย่างมีวุฒิภาวะ ให้ประชาชนมีศรัทธากับการทำหน้าที่ของรัฐสภาต่อไป

ส่วนที่ สมชาย แสวงการ สว.เสนอให้เลื่อนการแก้ไขมาตรา 272 ออกไปก่อน รังสิมันต์ ระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับการรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขอให้ สมชาย กลับไปอ่านรัฐธรรมนูญให้ดี เป็นคนละเรื่องกัน กระบวนการโหวตเรื่องนายกฯ เป็นกระบวนการที่จะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ เราเข้าใจความหวังดีของประธานสภาฯ แต่กระบวนการโหวตเรื่องนายกฯ ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตัดสิน