นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อโซเชียล กรณีบริษัทญี่ปุ่นเรียกคืนมันฝรั่งทอดที่ส่งจากไทย หลังจากตรวจพบสารไกลโคแอลคาลอยด์ สูงกว่าปกตินั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งให้ทราบว่า ไกลโคแอลคาลอยด์ (glycoalkaloids) เป็นกลุ่มของสารพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยในหัวมันฝรั่งจะพบสารกลุ่มไกลโคแอลคาลอยด์ ชนิดโซลานีนและชาโคนีนในบริเวณเปลือกผิว ตา บริเวณที่มีต้นอ่อนงอก บริเวณที่มีรอยช้ำหรือเป็นรอยแผลและส่วนที่มีสีเขียวมากกว่าส่วนเนื้อผลมันฝรั่ง โดยทั่วไปพบประมาณ 10 – 150 มก.ของน้ำหนักผลสด การได้รับสารไกลโคแอลคาลอยด์ในระดับสูง (มากกว่า 200 มก.ต่อ กก.น้ำหนักผลสด) ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง กรณีที่รุนแรงคือจะมีผลกระทบทางระบบประสาท การปรุงอาหารด้วยความร้อน เช่น การอบ ต้ม ทอด ไม่สามารถลดปริมาณสารดังกล่าวได้ การที่จะลดได้คือการปอกเปลือกลึกเข้าไปในเนื้อผลให้มาก ควบคู่กับเก็บรักษา ผลมันฝรั่งสดที่ดี
จากการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ผู้ผลิตแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดดังกล่าว ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อย. ได้สุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบที่จำหน่ายในประเทศส่งตรวจวิเคราะห์พร้อมทั้งประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบสถานที่ผลิตต่อไป
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อมันฝรั่งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยตัด ฟกช้ำ ตำหนิ เป็นแผล ไม่แตกหน่อ ไม่มีจุดเขียว ควรเก็บไว้ในที่มืดพ้นแสง แห้ง และเย็นประมาณ 5-8 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการแตกหน่อซึ่งช่วยลดการเกิดไกลโคแอลคาลอยด์ ปอกเปลือกให้ลึกเข้ามาในเนื้อให้มาก และ ตัดส่วนที่เสียหายออก ก่อนนำไปปรุงอาหาร กรณีผลิตภัณฑ์จากมันฝรั่ง ไม่ควรบริโภคอาหารที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ผลิตภัณฑ์มีรสขม และฝาด กรณีเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุต้องมีการแสดงฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน ข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์บนฉลาก