ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประท้วงนับหมื่นคนรวมตัวขับไล่ ปธน.ปากีสถาน ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็น 'หุ่นเชิดของทหาร' - ล้มเหลวด้านเศรษฐกิจ ขีดเส้นตายให้ลาออกใน 48 ชม. แต่รัฐบาลโต้แกนนำฝ่ายค้าน 'อ้างศาสนาปลุกระดม' ส่วนกองทัพย้ำ เคารพ รธน.- หนุนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

การเดินขบวนประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดี 'อิมราน ข่าน' ผู้นำปากีสถานคนปัจจุบัน เริ่มขึ้นที่กรุงอิสลามาบัด ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 1 พ.ย.จนถึงวันที่ 2 พ.ย.2562 โดยแกนนำการประท้วง คือ 'มาอูลานา ฟาซลูร์ เรห์มาน' ผู้นำพรรคการเมือง JUI-F ที่ชูนโยบายเคร่งศาสนา โดยเขาประเมินว่า มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ประมาณ 20,000 - 35,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ในรอบหลายปี

เหตุผลที่ผู้ประท้วงออกมากดดันให้ข่านลาออกมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ ไม่พอใจที่ข่านเปรียบเสมือน 'หุ่นเชิดของกองทัพ' และแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ แม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งมาได้หนึ่งปีแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ขณะที่ 'เรห์มาน' แกนนำประท้วง กล่าวว่าข่านโกงการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันทรงอิทธิพลอย่างกองทัพปากีสถาน จึงไร้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศ 

พลตรีอาซิฟ กาฟูร์ โฆษกกองทัพปากีสถาน แถลงตอบโต้ 'เรห์มาน' โดยระบุว่า กองทัพวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด พร้อมยืนยันว่า "กองทัพยึดมั่นในหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาตามกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย" ขณะที่พลเอกคามาร์ จาเวด บาจวาร์ ผู้บัญชาการสูงสุด เตือนรัฐบาลให้รับมือกับการชุมนุมประท้วงด้วยสันติวิธี

ทั้งนี้ การประท้วงรัฐบาลข่านเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. ก่อนจะยกระดับเป็นการเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงอิสลามาบัด โดยใช้ชื่อว่า 'การเดินขบวนเพื่อเสรีภาพ' ในวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และผู้ชุมนุมเกือบทั้งหมดปักหลักบนท้องถนนข้ามคืน เพื่อกดดันให้ข่านลาออกจากการเป็นประธานาธิบดี พร้อมทั้งขีดเส้นตาย 48 ชั่วโมง แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าถ้าข่านไม่ทำตามข้อเรียกร้องแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป 


จากนักกีฬาคริกเก็ตสู่ประธานาธิบดี 'หุ่นเชิดของกองทัพ'?

อิมราน ข่าน ประธานาธิบดีปากีสถานคนปัจจุบัน เคยเป็นนักกีฬาคริกเก็ตที่มีชื่อเสียงก่อนจะผันตัวสู่แวดวงการเมือง และการประท้วงครั้งนี้ถูกมองเป็นบททดสอบการทำงานและการบริหารประเทศของข่าน ซึ่งเพิ่งอยู่ในตำแหน่งครบปีไม่นานมานี้ ทั้งยังมีผู้เปรียบเทียบว่าข่านเองก็เคยรับบทบาทแกนนำประท้วงขับไล่รัฐบาลมาก่อนในปี 2014 แต่ตอนนั้นเขาเองก็ไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้มากนัก

AFP-ผู้ประท้วงรัฐบาลปากีสถานเดินขบวนเพื่อเสรีภาพ Azadi March-2.jpg

ข้อกล่าวหาหนึ่งที่แกนนำประท้วงใช้เป็นเหตุผลในการเดินขบวนขับไล่รัฐบาลครั้งล่าสุด คือ ความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อปี 2018 แต่องค์กรระหว่างประเทศของยุโรปซึ่งได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์การเลือกตั้งสรุปว่า "ไม่พบหลักฐานเรื่องการทุจริตเลือกตั้ง" ในปากีสถานเมื่อปีที่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งยอมรับว่า พบปัญหาความไม่เสมอภาค เพราะบางพรรคการเมืองไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับพรรคใหญ่อื่นๆ ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่่ผ่านมา

ส่วนผู้เข้าร่วมการประท้วงอีกจำนวนหนึ่งให้เหตุผลว่า ไม่พอใจการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะไม่มีมาตรการใดๆ ช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะว่างงาน พวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ แต่กลับไปเอาใจกลุ่มอิทธิพลอย่างกองทัพมากกว่าจะดูแลประชาชน 


การเดินขบวนเพื่อเสรีภาพที่ปราศจาก 'ผู้หญิง' เข้าร่วม

แม้ว่าการประท้วงครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ผู้หญิงถูกกีดกันจากการเดินขบวนในครั้งนี้ โดย 'ชิฟฟา ยูซาฟไซ' ผู้สื่อข่าวหญิงของปากีสถาน ทวีตข้อความว่า เธอและช่างภาพกำลังติดตามรายงานสถานการณ์ในที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 1 พ.ย. แต่ถูกกลุ่มผู้ชายที่ชูป้ายต่อต้านรัฐบาลเดินเข้ามาล้อมกรอบ และตะโกนว่า 'ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมชุมนุม' และคนกลุ่มนั้นยังเดินตามดูจนแน่ใจว่าทีมของเธอออกจากพื้นที่ชุมนุมแล้วจริงๆ 

  • ทวิตเตอร์ของผู้สื่อข่าวหญิงปากีสถาน บอกเล่าเหตุการณ์ถูกไล่ออกจากที่ชุมนุม

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาอูรดู รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'เบนาซีร์ ชาห์' ผู้สื่อข่าวหญิงชาวปากีสถาน ซึ่งมองว่า การเดินขบวนประท้วง ซึ่งนำโดยพรรค JUI-F เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีข่าน เป็นเพียงเกมอำนาจเตอบสนองอีโก้ของผู้ชาย 2 คน ไม่ใช่การเดินขบวนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมใดๆ และพรรค JUI-F พยายามจะล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงจำเป็นจะต้องใช้ทุกวิถีทาง รวมถึงการแอบอ้างศาสนา เธอจึงหวังว่าผู้หญิงปากีสถานจะเลือกยืนให้ถูกข้างในครั้งนี้

AFP-ผู้ประท้วงรัฐบาลปากีสถานเดินขบวนเพื่อเสรีภาพ Azadi March-3.jpg

ส่วน 'นาอีมา คิชวาร์ ข่าน' ส.ส.ของพรรค JUI-F ประจำจังหวัดไคเบอร์ปักตุนควา ออกมาปฏิเสธว่าผู้หญิงไม่ได้ถูกกีดกันจากการชุมนุม แต่แกนนำเปรียบเทียบการเดินขบวนครั้งนี้กับการทำสงคราม ซึ่งผู้ชายเป็นแนวหน้าออกรบ ต้องมีกองหนุนที่คอยดูแลเมื่อนักรบได้รับบาดเจ็บ และผู้หญิงจะเป็นคนทำหน้าที่เหล่านั้น โดยในช่วงเวลาที่ผู้ชายเดินขบวนประท้วง ผู้หญิงก็เข้ามัสยิดเพื่อไปสวดภาวนา 

แม้จะมีการย้ำหลายครั้งจากพรรค JUI-F ว่าการประท้วงครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและเรียกร้องความเป็นธรรม แต่สื่อของปากีสถานบางส่วนก็เรียกการเดินขบวนเพื่อเสรีภาพ (Azadi March) ว่า 'การเดินขบวนของมาอูลานา' (Maulana March) พร้อมทั้งระบุว่า มาอูลานา ฟาซลูร์ เรห์มาน ผู้นำการประท้วง เป็นนักการเมืองคร่ำหวอดมานาน ในสมัยที่เขารับตำแหน่งในรัฐบาลชุดก่อนๆ ก็ไม่เคยมีปัญหากับการใช้อิทธิพลแทรกแซงการเมืองของกองทัพ จนกระทั่งเขาแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีให้กับข่านเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เรห์มานเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำพรรคการเมืองที่อิงกับฐานคะแนนที่เป็นกลุ่มเคร่งศาสนา และเขาเป็นคนหนึ่งที่เคยออกมาเรียกร้อง 'ศาลเตี้ย' เพื่อลงโทษประหาร 'อาซิอะ บีบี' หญิงชาวคริสต์ที่ถูกใส่ร้ายว่าดูหมิ่นศาสนา หลังจากที่เธอได้รับการปล่อยตัว

นอกจากนี้ เขายังเคยออกมาตั้งข้อสงสัยด้วยว่า 'มาลาลา ยูซาฟไซ' เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2014 นักต่อสู้เพื่อสิทธิเข้าถึงการศึกษาของเด็กหญิงและผู้หญิงปากีสถาน ซึ่งกลุ่มติดอาวุธตอลิบานยิงบาดเจ็บสาหัส แต่รอดชีวิตมาได้ แท้จริงอาจจะไม่ได้ถูกยิง แต่สร้างเรื่องขึ้นมาเอง

ที่มา: BBC/ Telegraph/ Reuters