เมื่อเวลา 13.42 น. วันที่ 5 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเสร็จสิ้น โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาในขณะนั้น โดยเป็นพิจารณาแบบเรียงไปตามมาตรา ซึ่งมีทั้งหมด 31 มาตรา
เมื่อการประชุมได้ดำเนินไปจนถึงมาตราที่ 6 ประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อยากให้ใช้หลักเกณฑ์เรื่องเขตพื้นที่ปกครองแทนจำนวนประชาชน ขณะที่ กรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้สมัคร
อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุมเดินหน้ามาถึงมาตรา 6/3 ประเด็นเรื่องหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน แต่ได้มีสมาชิกท้วงติงว่าเอกสารรายงานการประชุมไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่ได้ลงมติในมาตรา 6/2 จึงยังไม่ควรอภิปรายต่อในมาตรา 6/3
ทำให้ พรเพชร ประธานในที่ประชุม สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที เพื่อให้กรรมาธิการได้จัดทำเอกสารใหม่ให้เรียบร้อย และจึงกลับมาพิจารณาต่อ เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น.
ภายหลังพักการประชุมเสร็จ เวลาประมาณ 17.20 น. จึงได้เริ่มการประชุมอีกครั้ง โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม กดออดเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุม พร้อมระบุว่า ไม่เป็นไร มีปัญหาก็แก้กันไปตามครรลองประชาธิปไตย แต่ผ่านไปราว 15 นาที องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ
จากนั้น ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้หารือต่อประธานฯ โดยขอให้ประธานกำชับให้สมาชิกฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการมาเป็นองค์ประชุม โดยเฉพาะ ส.ส.จากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังแสดงตนไม่ครบ ซึ่ง ชวน ได้ตอบว่า องค์ประชุมเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนี่ง พร้อมยืนยันว่าจะรอจนกว่าสมาชิกเข้ามาครบ
ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ขอหารือต่อประธานฯ ในประเด็นอื่น ซึ่ง ชวน เตือนว่า อย่านอกประเด็นไปไกล เดี๋ยวจะกลับมายาก จิรายุ จึงเสนอให้ปิดประชุมไปเลย เพราะวันนี้รออย่างไรก็คงไม่ครบ จะได้มีเวลาไปงานศพสักงานวันนี้ ซึ่ง ชวน ตอบกลับว่า ถ้าต้องไปงานศพ ก็อนุญาต
จากนั้น วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ แจ้งต่อประธานฯ ว่า เนื่องจากช่วงพักการประชุมทิ้งช่วงนาน ทำให้สมาชิกฯ บางส่วนเข้าใจว่าเลิกประชุมแล้ว จึงเดินทางกลับไปเป็นจำนวนมาก จึงขอเสนอให้ปิดประชุม ขณะที่ ชวน ยืนยันว่าจะรออีกสักครู่ หากเห็นว่าจำนวนยังน้อย ก็อาจจะดำเนินการปิดประชุม
ที่สุด มีสมาชิกฯ เข้ามาประชุมจำนวน 366 คน ถือว่าเกินองค์ประชุมที่กำหนดคือ 363 คน มาเพียง 3 คน ทำให้การประชุมสามารถดำเนินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสมาชิกฯ หลายฝ่ายได้อภิปรายในประเด็นเลขประจำตัวผู้สมัครเสร็จสิ้นลง ชวน ได้ กดออดเรียกสมาชิกให้มาลงมติ แต่กินเวลานานร่วม 10 นาที และเห็นว่ามีสมาชิกในห้องประชุมบางตา
ทำให้ อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล เสนอว่า ขณะนี้เวลาล่วงเลยมานาน ขอให้ปิดประชุม และมาพิจารณาต่อวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค. 2565)
แต่ จุลพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเวลาลงมติ ฝ่ายค้านมีความพร้อมทำงาน ประธานฯ ขอให้แสดงตนมานานแล้ว ให้แสดงผลเลย ถ้าไม่ครบก็ปิดการประชุมและกลับบ้าน
ชวนจึงแจ้งว่า "เวลาไม่มีปัญหา แต่อาจรอนาน ยังขาดอีก 100 กว่าคนเท่านั้น ขอบคุณสมาชิก เมื่อสมาชิกปรารถนาให้ปิดประชุม ก็ปิดประชุม"
จากนั้นประธานฯ จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 19.25 น. โดยพิจารณาไปได้ทั้งหมด 8 มาตรา หลังใช้เวลาประชุมไปราว 7 ชั่วโมง
รัฐสภาผ่านฉลุยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงเช้า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ในช่วงแรกประธานการประชุม เปิดให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชี้แจงต่อที่ประชุม โดย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงประธานฯ ตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 47 และ 96 โดยระบุว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้กับกฎหมายปฏิรูปประเทศด้วยนั้น รัฐสภาต้องพิจารณาตามลำดับมาตรา และให้สมาชิกอภิปรายเฉพาะถ้อยคำหรือข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือที่มีผู้สงวนคำแปรญัตติหรือสงวนความเห็น ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติเป็นอย่างอื่น
ธีรัจชัย เห็นว่า ข้อยกเว้นนั้นจะสลับอันดับใดก็ได้ ไม่ใช่ยกเว้นทุกเรื่องที่เข้าพิจารณาในรัฐสภา แต่เท่าที่ฟังผู้เสนอในการประชุมครั้งก่อน ดูเหมือนว่ารัฐสภาสามารถยกเว้นอะไรก็ได้ ตลอดจนให้นำผลการประชุมของกรรมาธิการฯ มาเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ไม่ใช่แก้ไขกันซึ่งหน้า
“ถ้ารัฐสภาจะตีความตามอำเภอใจไปเรื่อยเปื่อย ไปเรื่อยโดยมีข้อกำหนดอะไรเลย ไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์และเจตจำนงของมาตรา 96 อย่างแท้จริง ทำให้การพิจารณากฎหมายโดยไร้หลัก และเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายออกมาแล้วโดยชอบ เราจะให้สภาฯ แห่งนี้เป็นอย่างนั้นหรือ” ธีรัจชัย กล่าว
ทำให้ สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการ ขอใช้สิทธิพาดพิงอภิปรายว่า ธีรัจชัย น่าจะเข้าใจผิดหลายประการ การประชุมครั้งที่แล้ว ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ใช้มาตรา 96 และ 108 กรรมาธิการไม่ได้เสนอ ประธานจึงให้พักการประชุมเพราะมาตรา 169/1 มีปัญหา จึงทำให้กรรมาธิการกลับไปประชุมใหม่ ท่านไปมโนอย่างไรไม่ทราบ
ธีรัจชัย จึงประท้วงให้ สมชาย ถอนคำพูดว่า “มโน” โดยกล่าวว่า รู้สึกว่าจะไม่สุภาพเลย ชวน ประธานฯ ในขณะนั้น จึงกล่าวขอให้ถอน แต่ สมชายกับ ธีรัจชัย ยังคงโต้เถียงกันต่อ
จากนั้น ธีรัจชัย กล่าวว่า ท่านมาชี้หน้าอย่างนี้ พฤติการณ์แบบนี้มันไม่เหมาะสม ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่”
ขณะที่ สมชาย ตอบว่า “ไม่เป็นไร ผมไม่กลัวอะไรท่านหรอก อย่ามาขอข้อมูลเลย แอบมาขอข้อมูลอยู่เรื่อย ผมเป็นผู้ใหญ่ไม่มารบกับเด็กหรอก”
ชวน ปรามว่า อย่าไปพาดพิง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะหาว่าเราถ่วงเวลา และ สมชายได้ชี้แจงต่อไป โดยยืนยันว่ากรรมาธิการฯ ใช้ข้อบังคับที่ 75 วรรคสอง อย่างเรียบร้อยถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อบังคับการประชุมตามที่สมาชิกบางท่านกล่าวอ้าง
ต่อมา ชวน ชี้แจงที่ประชุมว่า ถึงแม้ตนไม่ได้อยู่วันนั้น แต่ก็ติดตาม และอ่านคำอภิปรายของแต่ละคน วันนั้นมีปัญหาคือ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย เสนอเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับมาตรา 169/1 ขึ้นมาระหว่างพิจารณา สมาชิกรัฐสภาจึงท้วง ประธานฯ เองก็เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่กรรมาธิการร่างขี้นใหม่ จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องเป็นมติ จะเขียนข้อความใหม่ไปจากเดิมก็ไม่ได้ จนกระทั่งอนุโลมให้สิทธิ พล.ต.อ.ปิยะ มีสิทธิอภิปราย แต่ไม่สามารถนำข้อความใหม่ขึ้นมาได้ เว้นแต่ที่ประชุมจะยอมให้กรรมาธิการกลับไปแก้ไข
ในที่สุดที่ประชุมก็ไม่คัดค้าน และขอให้รองประธานกรรมาธิการฯ ขอกลับไปทบทวนใหม่ นี่คือที่มาของวันนี้ แม้ช่วงต้นมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่กระบวนการได้อนุญาตแล้ว จึงไม่ผิด ถ้าเราไม่อนุญาตให้เขากลับไปทบทวน เขาก็ไม่มีสิทธิไปทบทวน
อย่างไรก็ตาม ธีรัจชัย ยังลุกขึ้นประท้วงประธานการประชุมตามข้อบังคับ ข้อที่ 47 ว่า ความเห็นของประธานอาจคลาดเคลื่อนต่อการตีความข้อกฎหมาย ข้อที่ 69 และขอเรียนว่า ตามที่กรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ข้อ 65 กรรมาธิการฯ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ทุกเรื่องนั้น ยังคลาดเคลื่อนต่อข้อบังคับอยู่
ชวน ประธานการประชุม กล่าวขอบคุณ และระบุว่า เคารพความเห็นทุกคน ยืนยันว่าดูข้อบังคับเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด ซี่งการพิจารณานามลำดับมาตรานั้นเป็นจริง แต่ข้อบังคับระบุว่าเว้นแต่ที่ประชุมมีมติเป็นอื่น เราทำได้ เราก็ทำอย่างนี้มาตลอด และกระบวนการที่ประธานการประชุมทำวันนั้นไม่ผิดอะไร
ธีรัจชัย ยังอภิปรายคัดค้านว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตนยกมือขออภิปราย แต่ประธานการประชุมปิดการประชุมเสียก่อน จึงอยากให้การตีความกฎหมาย สมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายได้ว่ามีความเห็นแตกต่างกันอย่างไร เรื่องอย่างนี้ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ในสภาฯ ไว้ เพื่อให้ในวันข้างหน้าตัดสินว่าใครผิดใครถูก
ชวน จึงจะดำเนินการประชุมโดยให้กรรมาธิการ อภิปรายต่อไป แต่ ธีรัจชัยยังคงขอประท้วงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกล่าวว่า “ประธานไม่วางตัวเป็นกลาง
ทำให้ ชวน พยายามปิดไมค์ของ ธีรัจชัยและกล่าวว่า “พอแล้ว ผมก็ได้ยินแต่คำนี้ เวลาไม่พอใจคุณก็พูดแต่คำนี้ คุณได้พูดมากกว่าคนอื่นแล้ว ให้โอกาสพูดและชี้แจงได้เต็มที่”
ทำให้ ธีรัจชัย เสนอญัตติให้ลงมติว่าการใช้ข้อ 69 ให้ตีความอย่างกว้างได้ทุกเรื่องนั้นไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ชวน ตอบว่า เมื่อมีการประท้วงว่าประธานฯ ทำผิด ประธานฯ ก็ชี้แจงแล้ว คำวินิจฉัยของประธานฯ นั้นคือที่สุด
จากนั้น วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงผู้เสนอญัตติว่า การเสนอญัตติซ้อนญัตตินั้นทำไม่ได้ จึงขอให้ประธานฯ ดำเนินการประชุมต่อ ชวน ยอมรับว่า ญัตติของ ธีรัจชัยนั้นซ้อนญัตติจริง และมีผู้รับรองไม่ถึง 40 คน ซึ่งจะทำให้ พ.ร.บ.ตำรวจฯ มีปัญหา ในที่สุดจะหาว่าสภามีเจตนาจะถ่วงเวลา แล้วจึงเชิญ นายอดิศร เพียงเกษ กมธ. อภิปรายต่อ
“ผมเป็นคนที่ไม่บ้าอำนาจ เคารพความเห็นคนอื่น และเคารพกติกา นี่คือสิ่งสำคัญที่อยู่มาได้นาน แต่ขณะเดียวกัน ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำอะไรที่ผิด แต่ถ้าผิดตัวเองก็ต้องรับผิดชอบ” ชวน กล่าว
ท้ายสุดแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ด้วยคะแนน 494 ต่อ 40 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากนั้นจะส่งร่าง พ.ร.บ.พิจารณา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อออกเป็นราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ต่อไป