ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' ลั่นยกระดับแก้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ คาดยอดหนี้เกิน 5 หมื่นล้าน ผนึกมหาดไทย-ตร. ไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ ปราบปรามเจ้าหนี้ทวงโหด ด้านคลังพร้อมปล่อยกู้ช่วยลูกหนี้

วันที่ 28 พ.ย. ที่อาคารสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าวถึงการแก้ไขปัญหาแก้ไขหนี้นอกระบบ ที่ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ 

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบ ว่า ปัญหาหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยและเป็นเรื่องใหญ่ของคนจำนวนมาก ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาวาระแห่งชาติ รัฐบาลต้องการฟื้นฟูสภาพชีวิต คืนศักดิ์ศรี คืนความเป็นมนุษย์ ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น รัฐบาลบูรณาการหลายฝ่ายทั้งฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ตำรวจกำกับดูแลใช้กฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน นอกจากนี้ รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงมหภาพ ยกระดับความเป็นอยู่ ไม่กลับไปมีหนี้อีก

สำหรับหนี้นอกระบบ นายกฯ ระบุว่า รัฐบาลคาดไว้ว่าหนี้นอกระบบมีมูลค่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ไม่เป็นหนี้สงสัยว่าทำไมถึงให้ความสำคัญ ตนมองว่าหนี้นอกระบบส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ รากฐานของประเทศต้องเจอกับปัญหาหนี้สินที่ใช้ไม่มีวันหมด ไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน 

“หนี้นอกระบบคือการค้าทาสในปัจจุบัน พรากอิสรภาพความฝันไปจากผู้คน ปัญหาเรื้อรังนี้ใหญ่เกินไปที่จะแก้ไขได้ รัฐบาลต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ไม่ให้ประชาชนอยู่ในวงจรอีกต่อไป“ 

นอกจากนี้ จะให้ภาครัฐเป็นตัวผู้ไกล่เกลี่ย ดูแลเจ้าหนี้-ลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นไปจนถึงปิดหนี้ และการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม มีความรุนแรง ภาครัฐต้องทำให้ลูกหนี้มีกำลังใจดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ ตอนนี้ตนได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีมาตรการต่อเนื่องไม่ให้ประชาชนประชาชนกลับเข้าสู่วังวนหนี้นอกระบบอีก

เศรษฐา ยังกล่าวว่า ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตรงไปตรงมา ต้องถ่วงดุลหน่วยงาน หากเจ้าหนี้ลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขอให้หน่วยงานมีเป้าประสงค์ในการทำงานร่วมกัน กรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งตนจะดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนหลังขั้นตอนไกล่เกลี่ย รัฐบาลจะปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด 

“การแก้ไขหนี้ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่จะไม่ทำให้เกิดขึ้นอีก แต่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน” เศรษฐา กล่าว

สำหรับวันที่ 12 ธ.ค. รัฐบาลจะมีการแถลงภาพรวมหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ จะไม่ปล่อยให้ประชาชนเป็นทาสหนี้นอกระบบ มีแรงใจที่จะทำตามความฝัน

ขณะที่ อนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับข้อสั่งการ และแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งนายกฯ ได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไกลการปกครองท้องถิ่นที่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ มั่นใจว่าประชาชนใกล้ชิดกับการปกครองท้องถิ่นจะเป็นจุดที่พัฒนาการความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงการคลัง และการสนับสนุนของนายกฯ จะร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยเหลือลูกหนี้ในเรื่องการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิด ประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้การแก้ไขหนี้นอกระบบ ไม่ซ้ำซ้อนมีทิศทางเดียวกัน ทุกภาคส่วนจะต้องทำงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามข้อกฎหมาย

อนุทิน กล่าวอีกว่า ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ หรือต้องการแก้ไขหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ สามารถมาลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกที่ ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต 

ส่วนลูกหนี้ที่หวั่นเกรงผู้มีอิทธิพล จะให้การปกครองท้องถิ่นทำการสำรวจ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่มีใครขาดตก ขอบคุณนายกฯ ที่สั่งการให้แนวทางปฏิบัติ ซึ่งปัญหานี้มีความสำคัญต่อปากท้องประชาชน 

ด้าน รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการสอบสวนจับกุม และดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบในทุกรูปแบบ และจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบตั้งแต่ 8 มิ.ย. 2563 และมีสายด่วน 1599 และได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจภูธร และตำรวจในพื้นที่ ทำการเอ็กซเรย์พื้นที่ และส่งข้อมูลผู้ประกอบการหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังจะดูแลลูกหนี้ระบบนอกระบบ หลังจากมีการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธนาคารออมสินจะมีบริการกู้ยืมไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย ในระยะ 5 ปี รวมถึงโครงการสินเชื่อเพื่ออาชีพอิสระรายย่อย สำหรับส่งเสริมอาชีพไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ส่วนดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละท่าน ขณะที่ ธกส. จะมีบริการสำหรับลูกหนี้ที่จำนองที่ดินในหนี้นอกระบบ จะมีเงินช่วยเกษตรกรไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย