เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลงานด้านปราบปรามการทุจริตในไตรมาสแรก ปี 2565 โดยพบว่ามีคำกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวหาที่ร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช. โดยตรง จำนวน 1,835 เรื่อง (ร้อยละ 69.09) รองลงมาเป็นคำกล่าวหาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 389 เรื่อง (ร้อยละ 14.65) และสำนักงาน ป.ป.ท. จำนวน 296 เรื่อง (ร้อยละ 11.14) ตามลำดับ
สำนักงาน ป.ป.ช.ยังชี้แจงด้วยว่า คำกล่าวหามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำนวน 2,031 เรื่อง จัดซื้อจัดจ้าง 393 เรื่อง และอื่น ๆ เช่น ร่ำรวยผิดปกติ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จำนวน 232 เรื่อง
เมื่อจำแนกตามปีงบประมาณที่เกิดเหตุ พบว่าคำกล่าวหาส่วนใหญ่เกิดเหตุใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมจำนวน 1,570 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 59.11 ของจำนวนคำกล่าวหาทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวหาพบว่า หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุดจำนวน 655 เรื่อง (ร้อยละ 24.66) รองลงมาเป็น กระทรวงมหาดไทย จำนวน 536 เรื่อง (ร้อยละ 20.18) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 146 เรื่อง (ร้อยละ 5.49) และเป็นส่วนราชการอื่น ๆ จำนวน 1,319 เรื่อง (ร้อยละ 49.66)
เมื่อพิจารณาคำกล่าวหาของหน่วยงานที่มีคำกล่าวหามากที่สุด 3 อันดับแรก ดังนี้
• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวหาประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ / ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำนวน 438 เรื่อง (ร้อยละ 66.86) รองลงมาเป็นประเภทจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 163 เรื่อง (ร้อยละ 24.88) และประเภทอื่นๆ จำนวน 29 เรื่อง (ร้อยละ 4.42)
• กระทรวงมหาดไทย ส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวหาประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่/ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำนวน 426 เรื่อง (ร้อยละ 81.52) รองลงมาเป็นประเภทจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 70 เรื่อง (ร้อยละ 13.05) และประเภทอื่นๆ จำนวน 28 เรื่อง (ร้อยละ 5.22)
• กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวหาประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่/ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำนวน 114 เรื่อง (ร้อยละ 79.44) รองลงมาเป็นประเภทจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 24 เรื่อง (ร้อยละ 16.43) และประเภทอื่นๆ จำนวน 5 เรื่อง (ร้อยละ 3.41)
สำหรับการไต่สวนข้อเท็จจริงประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ต.ค. 2564 – ม.ค. 2565)
สำนักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาที่ค้างสะสมมาจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 2,767 เรื่อง และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ต.ค. 2564 – ม.ค. 2565) เรื่องที่รับใหม่ จำนวน 236 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 3,003 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 246 เรื่อง คงเหลือ 2,756 เรื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตั้งเป้าหมายดำเนินการแล้วเสร็จ ไว้ 1,667 เรื่อง
โดยเป็นเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – มกราคม 2565) จำนวน 189 เรื่อง แยกเป็นชี้มูลความผิดทางอาญา 82 เรื่อง ชี้มูลความผิดทางวินัย 2 เรื่อง ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา 102 เรื่อง ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ 3 เรื่อง
ปีงบฯ 65 ได้ชี้มูลไปแล้ว 189 คดี
ในส่วนของการประเมินมูลค่าความเสียหายของคดีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นั้น พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดในคดีต่างๆ รวมทั้งสิ้น 189 คดี สามารถคิดประเมินมูลค่าความเสียหายของคดีโดยประมาณ 152,811,052.00 บาท
หากจำแนกข้อมูลตามหน่วยงานของผู้ถูกชี้มูลความผิดแล้ว พบว่า ลำดับที่ 1 คือ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ลำดับที่ 2 คือ กระทรวงมหาดไทย ลำดับที่ 3 คือ กระทรวงศึกษาธิการและรัฐสภา
โชว์ชี้มูลคดีเสียบบัตรแทนกัน-กล่าวหา 'จารุพงศ์' บินไปนอกฟรี
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เปิดเผยผลการชี้มูลคดีที่สำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ต.ค. 2564 – ม.ค. 2565) มีคดีที่สำคัญ อาทิ
1.เรื่องกล่าวหา นริศร ทองธิราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นแสดงตน และลงมติในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... โดยมิชอบ
โดยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. 19 ต.ค. 2564 ชี้มูลอาญา ให้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 (อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ไม่มีมูลค่าความเสียหาย)
2.เรื่องกล่าวหา จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กับพวก รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ- กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 ชี้มูลอาญา (อยู่ระหว่างเสนอลงนามสำนวน ไม่มีมูลค่าความเสียหาย)
3.เรื่องกล่าวหา ดำรงค์ พิเดช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กับพวก อนุมัติโครงการ และอนุมัติเงินงบประมาณในโครงการฝึกอบรมจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระหว่างวันที่ 7 – 16 มิ.ย. 2555 โดยมิชอบ
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ชี้มูลอาญาและวินัย (ส่งอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 3 กุ.พ. 2565 อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด)
4.เรื่องกล่าวหา พนม ศรศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวก ทุจริตเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดที่ได้จัดสรรให้วัดญาณเมธี ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ 2558
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ชี้มูลอาญาและวินัย (ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยมีมูลค่าความเสียหาย 2,000,000 บาท)
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงด้วยว่า การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ส่วนผลคำพิพากษาของศาลตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
1.กรณีอัยการสูงสุดฟ้องคดีอาญา
ศาลชั้นต้น จำนวน 128 เรื่อง ลงโทษ จำนวน 121 เรื่อง ยกฟ้อง จำนวน 7 เรื่อง
ศาลอุทธรณ์ จำนวน 59 เรื่อง ลงโทษ จำนวน 52 เรื่อง ยกฟ้อง จำนวน 7 เรื่อง
2.กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ฟ้องคดีเอง จำนวน 2 เรื่อง ศาลชั้นต้น ลงโทษ จำนวน 2 เรื่อง