ไม่พบผลการค้นหา
'อ.ยุทธพร' ชี้ นายกฯ ต้องรับผิดชอบหาก พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ผ่านสภา-ศาล รธน. มองเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แม้กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ ลั่นเงินดิจิทัลเป็นทางสองแพร่ง “เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ก็ดี”

วันที่ 15 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกระแสเสียงวิจารณ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่าไม่ตรงปก โดยมองเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ดี เปรียบเป็นสภาวะทางสองแพร่งสำหรับรัฐบาลพอสมควร เพราะถือเป็นนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียง ถ้าเกิดถอยกระบวนการตั้งคำถามก็จะเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยเองก็ไม่สามารถล้มเลิกนโยบายนี้ได้ 

อีกทั้งต้องยอมรับว่าในช่วงของการข้ามขั้วทางการเมือง เครดิตและความเชื่อมั่นของพรรคเพื่อไทย ก็เป็นปัญหาใหญ่ แต่เมื่อข้ามขั้วแล้วนโยบายและผลงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะถอยไม่ได้ในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันถ้าเดินหน้าก็จะต้องถูกกระบวนการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. ซึ่งมีคณะทำงานขอข้อมูลในหลายเรื่อง รวมถึงหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปดูทั้งหมด หรือแม้การถูกวิจารณ์จากสังคม ก็ถือมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบเหมือนกัน รวมไปถึงข้อกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายวินัยการเงินการคลัง เรื่องการเสนอ พ.ร.บ.กู้เงิน ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะมีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือหรือเปล่า ที่จะคล้ายกับกฎหมายเงินสองล้านล้านบาทในสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุกอย่างถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางกฎหมายและทางการเมืองด้วย

เมื่อถามว่าหากสุดท้ายกฎหมายไม่ผ่านทั้งชั้นสภา หรือศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบอย่างไร รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่าปกติตามธรรมเนียม นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนเอาไว้ ว่าจะต้องทำอย่างไรในกรณีกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน แต่คงต้องแสดงความรับผิดชอบ


รับหนักใจ กม.ประชามติเงื่อนไขผ่านยาก

รศ.ดร.ยุทธพร ในฐานะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวถึงแนวทางการทำประชามติว่า เรื่องการทำประชามติอย่างน้อยในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้ทำ 2 ครั้ง ซึ่งการทำประชามติต้องพิจารณาทั้งในแง่กฎหมายและประเด็นทางการเมือง รวมทั้งต้องให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนตัวคิดว่าจะต้องทำประชามติ 2-3 ครั้ง จึงจะสามารถทำให้ประชามติเป็นเครื่องมือที่สำคัญ การแก้ไขและธรรมนูญต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งสองส่วน คือ สมดุลในเรื่องของความเป็นไปได้ และสมดุลเรื่องความลงตัว ซึ่งเนื้อหารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย สามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว ส่วนองค์กรผู้ร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ตกผลึกร่วมกันแล้วว่าจะต้องเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนที่มาของ ส.ส.ร.จะต้องหารือกันในรายละเอียด เมื่อตั้ง ส.ส.ร.ลงตัวแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการประชามติเลยหรือไม่ หรือต้องกลับไปที่รัฐสภาอีก ต้องไปดูเชิงเทคนิคของกฎหมายมหาชน ขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายในการมารับฟังความคิดเห็น เหล่านี้จะทำให้เกิดความลงตัวในเรื่องของเนื้อหา

“ตอนนี้ที่หนักใจคือเรื่องของการทำประชามติ เพราะมีกฎหมายประชามติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเรื่องของการรณรงค์ให้มีการโนโหวต นั่นคือ การให้อยู่บ้าน ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ทำให้เสียงประชามติไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และตกม้าตายไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย มันมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ถ้าเสียงขั้นตอนแรกเกินกึ่งหนึ่ง ขั้นตอนที่สองก็เกินกึ่งหนึ่งอีก กระบวนการทำประชามติก็จะได้รับความเห็นชอบต่อไป”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ก่อนใช่หรือไม่ ยุทธพร กล่าวว่า มีโอกาสที่จะต้องทำอย่างนั้น เพื่อที่จะทำให้โอกาสของการทำประชามติเป็นไปได้ แนวทางแก้มี 2 ทางคือ ทำให้เหลือเสียงข้างมากชั้นเดียว กับเสียงข้างมากยังเป็นสองอยู่ แต่ในชั้นที่สองอาจจะลดสัดส่วน ไม่ต้องถึง 50%