ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ ครป. ชี้กลุ่มอำนาจเก่าเดินหน้าตั้งรัฐบาลซ้อน เตือนเพื่อไทยระวังถูกหลอกไปเชือดซ้ำรอย 'พิธา' เรียกร้อง สว.รับผิดชอบทางการเมือง!

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ถึงวันนี้คงต้องสรุปว่า กลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน และไม่เคารพผลการเลือกตั้ง แม้พวกเขาจะพ่ายแพ้ในสนามการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และแม้ว่าพรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนรวมเสียงข้างมากได้แล้วเกินกว่า 312 เสียงก็ตาม พวกเขาก็ไม่ยอมให้เป็นรัฐบาลโดยเด็ดขาด

ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลือกนายกรัฐมนตรี 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นจุดชี้ขาด ว่ากลุ่มอำนาจเก่าจะเดินหน้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเต็มที่ โดยการบ่อนทำลาย 8 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างมียุทธศาสตร์ โดยรัฐบาลใหม่จะต้องมีพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยปราศจากพรรคก้าวไกล โดยมีตัวแทนที่เคลื่อนไหวตามยุทธศาสตร์หลายคนเริ่มทำงานแล้ว

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะแก้เกมจัดตั้งรัฐบาลโดยการขอปรับแก้ไข MOU 8 พรรคร่วมเพิ่มเติมจากงเงื่อนไขพรรคอื่น โดยการเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลและขอเสียง ส.ว.เพิ่ม แต่ก็คงไม่ทันการเสียแล้ว เพราะแผนการของกลุ่มอำนาจเก่าเดินหน้าเต็มที่ พร้อมล็อบบี้พรรคการเมืองเดิมและ สว. ซ้อนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้โหวตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยได้ เพราะนายกฯ คนใหม่ของกลุ่มอำนาจเก่าหรือรัฐบาลเดิม คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ก็ นายอนุทิน ชาญวีรกุล เท่านั้น!

โดยการต่อรองผลประโยชน์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้กับผู้นำสูงสุดพรรคเพื่อไทย ซึ่งคงใช้ยุทธวิธีถอยลงบันไดทีละขั้นเพื่อหาเหตุข้ออ้างกับมวลชนที่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการที่แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยไม่สามารถผ่่านด่าน ส.ว.ได้ และกลุ่มก๊กในพรรคเพื่อไทยตั้งใจแตกแยกไปสนับสนุนรัฐบาลกลุ่มอำนาจเดิมเอง อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้มีคำสั่งปริศนาให้กลุ่มบ้านใหญ่ทั้งหลายย้ายกลับเข้ามายึดพรรคเพื่อไทย อาจแยกออกไปทีละเล็กที่ละน้อยแล้วค่อยหาเหตุผลในการปรองดองและการนิรโทษกรรมประชาชนเพื่อสร้างผลงาน แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วกลับมาสู้กันใหม่ในสนามเลือกตั้งในอนาคต 

หรือไม่ก็พรรคเพื่อไทยตัดสินใจแยกวงจากพรรคก้าวไกล เพื่อไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยขอให้คงไว้นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย แต่ทิศทางนี้ยากลำบากต่ออนาคตของพรรค แต่นายทุนสนับสนุนของพรรคเห็นด้วย 

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะยุทธวิธีของกลุ่มอำนาจเดิมเดินเกมแผงฤทธิ์และส่งสัญญาณแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และ สว. มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพวก ดังนั้น กลุ่มอำนาจเดิมครอบงำควบคุมองค์กรอิสระได้ไม่มากก็น้อยใช่หรือไม่

การที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณารับคดีถือหุ้นสื่อของนายพิธาไว้ในวันโหวตเลือกนายกฯ รอบสอง ย่อมเป็นกลยุทธ์ที่สอดรับของฝ่ายอำนาจเก่า และการที่พวกเขาใช้ข้อบังคับรัฐสภามากำหนดไม่ให้เสนอชื่อนายกฯ ซ้ำนั้น เป็นแผนการสหบาทาร่วมกันเตะสกัดพรรคก้าวไกลเพื่อให้ไปเป็นฝ่ายค้าน 1 ล้านเปอร์เซ็น โดยไม่สนใจรัฐธรรมนูญ และระบบนิติรัฐ นิติธรรม กันแล้ว ที่คือเรื่องที่เลวร้ายที่สุด

และถ้าจำเป็นต้องทำในอนาคต พวกเขาอาจใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการสั่งยุบพรรคก้าวไกลในอีกไม่นาน ข้อวิจารณ์นี้เป็นสมมุติฐานหากศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง องค์กรอิสระสามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ และรอดูว่าจะพิจารณาเรื่องการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญเหมือนความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือไม่

วันนี้ประเทศไทยต้องยอมรับว่า การจัดตั้งรัฐบาลช้าเกิดขึ้นเพราะสมาชิกวุฒิสภา และวุฒิสภาชุดนี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลไม้พิษจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สืบทอดอำนาจ และมีการกระทำทางนิติบัญญัติที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยโดยแท้จริง โดยไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ทางการเมืองเกิดขึ้น แม้จะถือว่ากระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

แผนการจัดตั้งรัฐบาลของกลุ่มอำนาจเดิมเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์แล้ว การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะยืนหยัดต่อต้านแผนการและร่วมกันรักษาหลักการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาไว้ได้หรือไม่ และภาคประชาชนไทยจะต่อสู้ยืนหยัดพิทักษ์เจตนาประชาธิปไตยและมติมหาชนร่วมกันอย่างมีพลังได้อย่างไร เพื่อเรียกร้องให้ สว.และองค์กรอิสระทั้งหลายเกิดการรับผิดชอบทางการเมือง! 

ข้อเสนอเบื้องต้นของผม 8 พรรคร่วมรัฐบาลต้องเปิดประตูบานใหม่เพื่อต้อนรับเสียง ส.ว.ให้เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น และล็อบบี้ 3 พรรคการเมืองเก่าแก่ร่วมกันทำ MOU ใหม่ร่วมกันเพื่อหาทางออกจากกับดักและทางตัน ทำการบ้านให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะเดินไปตกหลุมพรางของกลุ่มอำนาจเก่าที่ขุดดักไว้ ไม่ให้โดนลวงไปเชือดเหมือนเดิม

แต่น่าเสียดายว่าพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ยังไม่มีท่าทีว่าจะสามัคคีรวมพลังในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อต่อกรร่วมสู้กับวุฒิสภาที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย.