นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเร่งรัดเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งยังไม่มีการเลือกตั้งมาเกือบ 6 ปีแล้ว ตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบดำเนินการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 6 ฉบับ รวมถึงระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และไปแก้ไขกฎหมายในประเด็นที่ทำให้ล้าหลังมากขึ้น ควรชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่น จะทำให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่ที่มีการเลือกตั้งมากขึ้น
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยังล่าช้าอยู่ เพราะนอกจากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ยังต้องมีกฎหมายจัดตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ 5 ฉบับ และกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติ แต่จะมีการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดบ้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ไขประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี โดยแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ทราบ เพื่อประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง จึงเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเมื่อใช้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ก็ต้องมีการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องอีก 10 ฉบับ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2562 ส่วนกระทรวงมหาดไทยก็มีการสำรวจประชากรวันที่ 31 ธ.ค.2562 แล้ว โดยกรมการปกครองสำรวจหมู่บ้านทั่วประเทศ ว่าหมู่บ้านใดมีจำนวนราษฎรไม่ถึง 25 คน จะต้องรวมหมู่บ้าน ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วน กกต. ก็จะมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่และแบ่งเขตเลือกตั้ง
เมื่อพร้อมแล้วก็จะมีการหารือกับคณะรัฐมนตรี แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ ซึ่งต้องใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมด้านงบประมาณ 7,702 แห่ง ส่วนอีก 150 แห่ง ยังไม่มีความพร้อมจัดการเลือกตั้งได้ แต่หากรัฐบาลจะประกาศให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่พร้อม ก็สามารถทำเรื่องขอใช้งบกลางของรัฐบาลได้ หรือใช้เงินทุนสำรองสะสมเพื่อจัดการเลือกตั้งได้
ส่วนกรอบเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น พล.อ.อนุพงษ์ชี้แจงว่า สามารถแจ้งได้อย่างไม่เป็นทางการว่าจะมีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นภายในปี 2563 แต่จะเลือกตั้งในส่วนใดก่อนจะต้องโยงเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ไม่สามารถเลือกตั้งพร้อมกันได้ แต่องค์กรปกครองพิเศษอย่างพัทยาหรือกรุงเทพมหานคร สามารถจัดการเลือกตั้งซ้อนกับรูปแบบอื่นได้ หาก กกต. มีความพร้อม ก็คงหารือกับคณะรัฐมนตรีได้