ไม่พบผลการค้นหา
‘นพดล’ ประธาน กมธ.การต่างประเทศ เสนอ 5 ข้อรับมือสถานการณ์สู้รบ ‘เมียนมา’ แนะรัฐบาลทำงานให้หนักตาม ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ เดินหน้าพูดคุยทุกฝ่าย พร้อมตั้งกลไกผ่าน สมช. เฝ้าระวังสถานการณ์ คืนสิทธิให้ผู้ลี้ภัย ย้ำไทยมีบทบาทพิเศษช่วยคลี่คลายสถานการณ์

วันที่ 21 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (สส.) แถลงเกี่ยวกับการติดตามสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีการพัฒนาไปอย่างมาก ทาง กมธ.การต่างประเทศจึงได้เทียบเชิญทั้ง กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพภาคที่ 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.ตาก และหน่วยงานความมั่นคงเข้าหารือในเชิงนโยบาย ค่ายผู้ลี้ภัย และ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) อย่าง The Border Consortium 

นพดล กล่าวว่า กมธ.การต่างประเทศ ได้มี 5 ข้อเสนอให้แก่รัฐบาลในการรับมือสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาคือ เรียกร้องให้รัฐบาลทำงานในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้นกว่านี้ เนื่องจากการสู้รบในเมียนมาเป็นประเด็นที่อยู่แกนกลางของภูมิภาคอาเซียน 

รวมถึงทำงานให้สอดคล้องกับ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ หรือ Five Point Consensus ที่ว่าด้วย ให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ให้ประเทศไทยทำงานกับภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น รวมถึงพูดคุยกับ 2 ประเทศที่มีบทบาทกับเมียนมาคือ อินเดีย และจีน 

รัฐบาลไทยยังต้องเปิดช่องทางการสื่อสารกับทุกกลุ่มทั้งรัฐบาลทหารของสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยไม่แทรกแซงกิจการภายใน ไม่ใช่การถือหาง แต่เป็นการสื่อสารกับคนทุกกลุ่ม ซึ่งหากกรณีการสู้รบรุนแรงขึ้น ทุกฝ่ายควรพูดคุยเจรจาเพื่อยุติการสู้รบ 

นพดล ยังเสนออีกว่า ให้รัฐบาลตั้งกลไกภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เฝ้าสังเกต ติดตาม และประเมินผลสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงรัฐบาลต้องมอบสิทธิที่เท่าเทียมให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในค่ายผู้ลี้ภัย เนื่องจากสงครามในเมียนมาตั้งแต่ปี 2527 มีผู้ลี้ภัยกว่า 78,000 คน 

โดยองค์กรเอกชนเสนอว่า รัฐบาลต้องให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในประเทศไทยอย่างสร้างสรรค์ และมอบสิทธิในการทำงาน เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหากจะทำงานในประเทศไทยต้องเดินทางกลับไปจัดการเอกสารที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา ก่อนที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทย 

ทั้งนี้ พหุภาคีเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่กลไกของทวิภาคีก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง นพดล มองว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาของกรอบพหุภาคี แต่ขณะเดียวกัน ในกรอบของทวิภาคี ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถานะพิเศษที่จะเข้าไปแก้ปัญหาสถานกาณ์ดังกล่าว ซึ่งเรายังมีข่าวว่า รัฐบาลนี้เอาจริงกับปัญหาเมียนมา ประสานงานในทุกระดับมากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศพยายามพูดคุย แต่ทั้งนี้การทูตไม่ได้เหมือนการปลูกหญ้า แต่เหมือนการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ต้องใช้เวลา 

นพดล กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องทำงานในเรื่องดังกล่าวให้หนักขึ้นเหมือนกับ เฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ใช้การทูตแบบ ‘Shuttle Diplomacy’ บินไปคุยแต่ละประเทศ เพื่อโน้มน้าวการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ซึ่งประเทศไทยนั้นถือเป็น ‘Unique Position’ หรือมีสถานะพิเศษที่หลายประเทศเข้าใจบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว