องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ออกรายงานดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index - CPI) ประจำปี 2564 จัดอันดับ 180 ประเทศและดินแดนทั่วโลกตามระดับการรับรู้เรื่องการทุจริตของภาครัฐ โดยให้คะแนนจาก 0 (ทุจริตมาก) ถึง 100 (โปร่งใสมาก) โดยประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ได้อันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน
แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการรวบรวมมาคำนวณคะแนน CPI มาจากวิธีการทุจริตของภาครัฐ เช่น การติดสินบนในภาครัฐ การแปลงงบประมาณสาธารณะเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง การมีข้าราชการใช้สถานที่ราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ต้องรับผิด ความสามารถของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ การแต่งตั้งข้าราชการแบบเลือกที่รักมักที่ชัง การมีกฎหมายที่รับรองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยการเงินและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น การคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผู้ที่แจ้งความคดีทุจริต และการเข้าถึงข้อมูลด้านกิจการสาธารณะและกิจกรรมของภาครัฐ เป็นต้น
ไทยคะแนนตก ตกมาตลอด
ครั้งนี้ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก คะแนนของประเทศไทยตกลงมาหนึ่งคะแนนจากปีก่อนหน้า ในขณะที่อันดับร่วงลงมาจากเดิมเคยอยู่ที่อันดับ 104
ภาพรวมตั้งแต่ปี 2558 คะแนน CPI ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แม้จะไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การที่คะแนนและอันดับไม่ดีขึ้นก็สะท้อนว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่ได้ดำเนินการปราบปัญหาคอร์รัปชันได้ดีเท่าที่ควร ด้านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แนะรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาการทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ
ภาพรวมการทุจริตทั่วโลก: ชะงักงัน ไม่ดีขึ้น
สองปีหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมทั้งสถานการณ์ที่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังถูกโจมตี รายงานดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2564 เปิดเผยว่า ระดับการทุจริตทั่วโลกไม่ดีขึ้น โดย 131 ประเทศไม่มีความคืบหน้าเรื่องการต่อต้านการทุจริตในช่วงสิบที่ผ่านมาเลย และในปีนี้ มี 27 ประเทศที่คะแนนอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
จาก 180 ประเทศที่ถูกสำรวจ มากกว่าสองในสาม หรือเกือบ 70% มีคะแนน CPI ต่ำกว่า 50 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน ในขณะเดียวกัน คะแนนของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งที่เคยอยู่ในอันดับต้นๆ ของดัชนี และสนับสนุนความพยายามในการต่อต้านการทุจริตก็กำลังถดถอย ประเทศที่มีคะแนนสูงเหล่านี้ หลายแห่งยังคงเป็นที่หลบภัยของผู้ทุจริตจากต่างประเทศ
ในรายงานระบุว่า การทุจริตในภาครัฐทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น การตรวจสอบและถ่วงดุลกำลังถูกทำลายไม่เพียงแค่ในประเทศที่มีการทุจริตอย่างเป็นระบบและมีสถาบันตรวจสอบที่อ่อนแอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศที่มีประชาธิปไตยตั้งมั่นด้วย
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า การทุจริตอาจเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แต่ก็เป็นปัญหาที่มีวิธีแก้ไข เพื่อยุติวงจรอุบาทว์ของการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเสื่อมในระบอบประชาธิปไตย แต่ละประเทศควรปฏิบัติดังนี้
สิทธิมนุษยชนกับการยุติคอร์รัปชัน
ในปีนี้ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ มีคะแนนนำเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี ที่เข้ารอบ 10 อันดับแรก ด้านซูดานใต้ ซีเรีย และโซมาเลีย ยังคงอยู่ระดับล่างของดัชนี รายงานระบุว่า ประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธหรือปกครองโดยเผด็จการมักจะมีคะแนนต่ำสุด
การวิเคราะห์ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า การทุจริตมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการละเมิดเสรีภาพพลเมือง ในกรณีส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์นี้มีสาเหตุมาจากทั้งสองทิศทาง คือการทุจริตมากขึ้นอาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ในขณะที่การมีเสรีภาพพลเมืองน้อยลง ทำให้การต่อสู้กับการทุจริตยากลำบากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ละเมิดเสรีภาพพลเมืองได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่า การทุจริตครั้งใหญ่ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง มักจะมีการขโมยกองทุนสาธารณะขนาดใหญ่ข้ามชาติ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ในรายงานพูดถึงประเทศสิงคโปร์ที่มีคะแนน CPI อยู่ในอันดับ 4 ของโลก ว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ทันสมัย มีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ และมีหลักนิติธรรมที่เข้มงวด ซึ่งล้วนมีส่วนสนับสนุนความสำเร็จของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิมนุษยชนของสิงคโปร์ยังคงล้าหลังอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัว นั่นหมายความว่า ความสำเร็จในการต่อต้านการทุจริตใดๆ ก็ตาม เชื่อมโยงกับเจตจำนงทางการเมืองของชนชั้นปกครอง ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการป้องกันการทุจริตไม่ยั่งยืน
ด้านอุซเบกิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องการต่อต้านการทุตจริตมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยสาเหตุสำคัญมากจากการปฏิรูปตั้งแต่ปี 2559 ที่มีส่วนทำให้เสรีภาพพลเมืองเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก อย่างไรก็ตาม อุซเบกิสถานยังคงเป็นระบอบเผด็จการและจำเป็นต้องแก้ปัญหาอีกมากเพื่อที่จะป้องกันการคอร์รัปชันได้ดีขึ้น
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุว่า การทุจริตและการได้รับการยกเว้นโทษ ทำให้คนที่จะพูดและเรียกร้องความยุติธรรมต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 98 ของคดีฆาตกรรมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จาก 331 ครั้งในปี 2563 เกิดขึ้นในประเทศที่มีการทุจริตในภาครัฐในระดับสูง ซึ่งเป็นประเทศที่มีคะแนน CPI ต่ำกว่า 45 คะแนน โดยอย่างน้อย 20 คดี ผู้ถูกฆาตกรรมเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน
ที่มาภาพปก: Amy Chiniara © Transparency International
อ่านรายงานเพิ่มเติม: