ไม่พบผลการค้นหา
"พิชัย" ห่วง "ประยุทธ์" ไม่สามารถรับมือวิกฤตเศรษฐกิจหนักขึ้นได้ ชี้หมดทางต้องขอ 20 เศรษฐีช่วย และเรื่องแจกเงินยังถูกด่าเละ แนะ 9 แนวทางปฏิบัติรวมยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการแถลงข่าวของสภาที่ 3 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยิ่งทรุดหนัก โดยล่าสุดไอเอ็มเอฟได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะถดถอยและติดลบร้อยละ 6.7 ซึ่งหนักกว่าที่แบงก์ชาติคาดการณ์ และเอกชนยังคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานถึงกว่า 10 ล้านคน ซึ่งหนักหนาสาหัสมาก ขนาดตอนนี้ยังมีข่าวการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาก ห่วงว่าถ้าปัญหาเศรษฐกิจหนักกว่านี้คนจะยิ่งทนกันไม่ไหวจะมีฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไปอีก อีกทั้งอาชญากรรมจะเพิ่มมากขึ้น 

ทั้งนี้ เป็นห่วงว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถรับมือกับเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ลงไปอีกได้ ขนาดในช่วงที่เศรษฐกิจโลกดีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังบริหารได้ย่ำแย่ และล่าสุดยังประกาศออกสื่อว่าได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีขอความช่วยเหลือ ซึ่งแสดงถึงความหมดหนทาง ทั้งที่แจ้งกันส่วนตัวก็ได้ ทำให้หลายคนห่วงว่าจะมีการเอื้อประโยชน์กันภายหลังหรือไม่ และหากจำได้ พล.อ.ประยุทธ์เคยเรียกกลุ่มเศรษฐีนี้เข้าพบแล้วก่อนที่จะประกาศโครงการประชารัฐ ผลคือทำให้คนจนยิ่งจนลง แต่กลับทำให้เศรษฐีรวยขึ้นจนติดอันดับเศรษฐีโลกกันเป็นแผง

แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างการแจกเงินเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท ยังทำได้ย่ำแย่ สับสนและวุ่นวาย อ้างว่ามีการใช้เอไอคัดกรอง แต่คนทำเพจกลับบอกไม่ใช่เอไอ ทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนจริงกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดต้องไปบุกกระทรวงการคลังเพื่อทวงถาม ปรากฏภาพประชาชนที่ลำบากร้องไห้สะเทือนใจออกมามาก 

เท่านั้นยังไม่พอ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาพูดว่า 5,000 บาทได้แค่เดือนเดียว จะให้ 3 เดือนต้องกู้ 1 ล้านล้านก่อน เหมือนกับตั้งใจผูกความลำบากของคนกับเงินกู้ก้อนมหาศาลนี้ ประชาชนออกมาวิจารณ์เต็มโซเชียล จนต้องส่งโฆษกรัฐบาลและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาแก้ตัวและยืนยันว่าจ่าย 3 เดือนแน่ พร้อมเจ้าตัวออกมาขอโทษว่าสื่อสารผิด ขนาดเรื่องแจกเงินที่ต้องได้คะแนนกลับทำจนเละเทะได้ขนาดนี้ อีกทั้งประชาชนยังสงสัยว่าที่บอกจะกู้ 200,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ เพื่อมาแจก ตกลงยังจะกู้อยู่ไหม ถ้ารวมไปแล้วก็บอกประชาชนด้วย จะได้ทราบว่าหนี้ประเทศจะเพิ่มเท่าไหร่ การสื่อสารเรื่องนี้จึงยังสับสนและแสดงถึงวิธีคิดที่ไม่รอบคอบ

นอกจากนี้รัฐบาลยังทำประชาชนสิ้นหวัง โดยมีการตั้งนายทหาร 10 กว่าคน รวมทั้งพลเอกปรีชา จันทร์โอชา เป็นกรรมาธิการท่องเที่ยว ทั้งที่การท่องเที่ยวต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆเข้ามาฟื้นฟูในภาวะที่ย่ำแย่นี้ และ ประชาชนแปลกใจกันมากว่ารัฐบาลไม่มีคนที่มีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจที่จะมาอธิบายโต้แย้งทางแนวคิดแล้วหรือ ถึงได้ส่งคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีเครดิด แถมต้นทุนทางสังคมยังติดลบ ออกมาตอบโต้แบบไร้ปัญญาและไม่มีวุฒิภาวะ ซึ่งกลายเป็นภาพพจน์ของรัฐบาลทางด้านลบไปแล้ว 

ทั้งนี้ แม้ว่าดูเหมือนไทยจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสได้แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องขอชมเชยบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ความล้มเหลวในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้ความไว้ใจของประชาชนลดลงจนแทบไม่เหลือ ประชาชนไม่เชื่อว่าการกู้จำนวนมหาศาลจะทำให้ช่วยเหลือได้จริงๆ ดังนั้นจึงอยากขอเสนอแนวทาง 9 ข้อ ดังนี้

1. การช่วยเหลือเยียวยาต้องกระจายอย่างทั่วถึง ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต้องได้รับการเยียวยาทุกคนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม และต้องทำให้เร็วที่สุดเพราะคนที่เดือดร้อนไม่สามารถจะรอได้ อีกทั้งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ให้ทั่วถึง ก่อนที่จะไปช่วยนายทุนเจ้าสัว

2. การจ่ายเงินประกันสังคมแก่ประชาชนที่ตกงานต้องกระทำอย่างเร่งด่วน และรัฐบาลต้องชี้แจงเรื่องการกู้ยืมจากกองทุนประกันสังคมว่ามีจริงหรือไม่ หากจำกันได้ พลเอกประยุทธ์เคยพูดเรื่องการกู้ยืมเงินประกันสังคมนี้และถูกตำหนิกันอย่างมาก ถ้ายังคงทำก็ต้องนับว่าผิดปกติแล้ว

3. การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อตราสารหนี้เองโดยไม่ช่วยเหลือผ่านธนาคารรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ ธปท. ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนจะยอมถอยแล้วแต่กลัวเสียหน้า โดยได้เพิ่มเงื่อนไขให้ทำได้ยากแล้ว ซึ่งหาก ธปท. ยังคงดันทุรัง ธปท. คงต้องตอบคำถามดังนี้

  • 3.1 ธปท. ใช้เงิน 4 แสนล้านบาท ซื้อตราสารหนี้ที่มีอยู่กว่า 3.6 ล้านล้านบาท ธปท. จะเลือกซื้อตราสารหนี้ของบริษัทใดที่จะไม่ถูกหาว่าเลือกปฏิบัติ Investmest Grade ในแต่ละช่วงเวลาอาจจะต่างกัน หากซื้อของนายทุนเจ้าสัวที่สนับสนุนรัฐบาลที่กำลังจะถึงกำหนดจำนวนมาก ธปท. จะถูกข้อครหาหรือไม่
  • 3.2 หากมีการผิดนัดชำระเงิน ธปท. จะต้องฟ้องร้องเอกชนเองใช่หรือไม่ ถึงแม้เป็นกองทุนก็ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ โดย ธปท. ก็เท่ากับ ธปท. ฟ้องเอง ใช่หรือไม่?
  • 3.3 ในกรณีฟ้องร้อง ธปท. จะเข้าไปยึดทรัพย์สินของเอกชนเองได้หรือไม่ หรือ เข้าไปควบคุมการเงินของเอกชนได้หรือไม่ นี่เป็น 3 คำถามเบื้องต้นง่ายๆว่าทำไม ธปท. จึงควรช่วยผ่านธนาคารรัฐหรือธนาคารพาณิชย์มากกว่าที่จะเข้าไปดำเนินการเอง เพราะมีโอกาสสูงที่จะเกิดการผิดชำระเงินของตราสารหนี้ของเอกชนในภาวะวิกฤตนี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจซึ่งจะก่อให้เกิดหนี้เสียที่จะต้องขอลดดอกเบี้ยและลดเงินต้นได้ในอนาคตตามบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้ไม่อยากให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์เรียก 20 เศรษฐี เข้าพบ และสุดท้ายจะมีการตอบแทนกันเรื่องการซื้อตราสารหนี้นี้

4. ในด้านพลังงานรัฐบาลยังสับสนอย่างมากเหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง นโยบายพลังงานยังสะเปะสะปะหาแนวทางไม่พบ ดังนั้นจึงอยากให้ปฏิบัติดังนี้

  • 4.1 ยกเลิกการใช้ E20 และ E 85 และถ้าจำเป็นก็ควรยกเลิก E10 ด้วยเพราะปัจจุบันราคาเอทานอลสูงกว่าราคานำ้มันกลั่นแล้วถึงกว่า 4 เท่า จะใช้ผสมน้ำมันทำไมถ้าผสมแล้วทำให้ราคาแพงขึ้น และหากสามารถนำเอทานอลไปปรับเปลี่ยนใช้ในการทำแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันและปัญหาไวรัสโควิด-19ได้หมด ก็ไม่ต้องผสมน้ำมันแล้ว
  • 4.2 ปรับลดราคาน้ำมันทุกชนิดให้ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาก และลดสัดส่วนการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้เป็นไปตามราคาน้ำมันที่ลดลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ยังคงเก็บอยู่ควรนำแยกออกมาต่างหากเพื่อมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงลำบากนี้ หากแยกออกมาไม่ได้ก็ยกเลิกการเก็บไปเลย เพราะรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะใช้เงินอย่างสะเปะสะปะ นอกจากนี่ยังควรต้องปรับราคาหน้าโรงกลั่นด้วย
  • 4.3 คนบ่นค่าไฟฟ้าแพง ดังนั้น ต้องยกเลิกการอนุญาตการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงเพิ่ม อย่าทำให้ประเทศมีต้นทุนไฟฟ้าสูงเกินจำเป็น อีกทั้งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยมีล้นกว่าความต้องการใช้ถึงร้อยละ 32 แถมปีนี้เศรษฐกิจไทยจะติดลบมาก การใช้ไฟฟ้าก็จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจด้วย 

5. เปิดให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อยร้อยละ 50 โดยรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดขอวไวรัสด้วย

6. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะพิสูจน์แล้วว่าตกยุคไม่ทันสมัยตามโลกไม่ทัน และที่ผ่านมารัฐบาลเองทำผิดยุทธศาสตร์ชาติมาโดยตลอด

7. เตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่จะต้องปรับประเทศเข้ากับสภาวะของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงภายหลังวิกฤตการณ์ ซึ่งอาจจะต้องมีการอัดฉีดเงินอีกเป็นจำนวนมาก โดยมุ่งเน้นการสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

8. จัดสรรงบประมาณในอนาคตใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

9. การปรับปรุงระบบราชการทั้งหมดให้เป็นระบบออนไลน์โดยประชาชนติดต่อราชการได้สะดวกโดยไม่ต้องไปเองและเพิ่มประสิทธิภาพ

นายพิชัย ทิ้งท้ายว่า ที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นเพียงหลักคิดขั้นแรกที่อยากแนะนำ โดยอยากให้รัฐบาลได้คิดล่วงหน้าและป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด ไม่ใช่ตามแก้ปัญหาตลอดเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยห่วงว่าปัญหาเศรษฐกิจจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่ารัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์จะรับมือได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส