ไม่พบผลการค้นหา
ประธานวิปรัฐบาล เผยพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอกฎหมายลูกเลือกตั้ง ประกบร่าง ครม. โยนถามนายกฯ ปมยุบสภา - พปชร.ไม่หวั่นใช้บัตร 2 ใบ ซัดฝ่ายค้านคิดคับแคบหลังฝากให้รััฐบาลรักษาองค์ประชุมสภา ด้าน 'นิกร' ย้ำสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ใช้แบบ รธน.ปี 50 ที่ใช้เลือกตั้งเมื่อปี 54 จะใช้สูตรเลือกตั้งแบบเยอรมนีไม่ได้

วันที่ 22 พ.ย. 2564 นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พรรคการเมือง หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้มอบให้แต่ละพรรคไปจัดทำร่างฯ ส่งให้คณะทำงานฯ ที่วิปรัฐบาลตั้ง เพื่อพิจารณาร่วมกันเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และต้องรับฟังความเห็นจาก กกต. พร้อมระบุว่า ดำเนินการโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้จะมีร่างฯ ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย เมื่อเสนอเข้าสู่สภาก็จะมี 2 ร่างฯ ประกบกัน  ทั้งนี้ หากทำกฎหมายลูกแล้วเสร็จจะมีการยุบสภาหรือไม่ นิโรธ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และต้องไปถามนายกรัฐมนตรี 

นิโรธ กล่าวอีกว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้กังวล เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะการแบ่งเขตจะถูกกำหนดในกฎหมายลูกอยู่แล้ว พรรคพลังประชารัฐไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งสิ่งใดที่เป็นสากลมากขึ้นก็ต้องทำ 

ส่วนที่ฝ่ายค้าน ฝากถึงรัฐบาลเรื่ององค์ประชุมสภาฯ ที่ล่มบ่อย จนทำให้ประธานสภาต้องชิงสั่งปิดประชุมเพื่อช่วยนั้น นิโรธ กล่าวว่า ไม่รู้จะพูดอย่างไรถ้าคิดแบบนี้ ทัศนะคับแคบไม่เป็นธรรมกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาเป็นของ ส.ส.ทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล และขอให้ผู้สื่อข่าวเข้าใจว่าไม่ใช่การตอบโต้ พร้อมระบุ ในครั้งที่ฝ่ายค้านเสนอร่างกฎหมายฝ่ายรัฐบาลก็อยู่ร่วมเป็นองค์ประชุม และย้ำว่าทัศนคติแบบนี้แคบ ไม่มี อย.รับรอง ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า อย. หมายถึงอะไร นายนิโรธ หัวเราะและกล่าวว่า “ก็ไม่ได้รับการรับรอง”

นิโรธ ยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้าน เตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ด้วยเสียงหัวเราะว่า ฝ่ายค้านไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือ แต่ยืนยันฝ่ายรัฐบาลไม่ได้กังวล เพราะทำงานอย่างเต็มที่ ในฐานะฝ่ายบริหาร ไม่มีข้อบกพร่องที่ทำให้เกิดเสียหาย ซึ่งการอภิปรายของฝ่ายค้านน่าจะชี้แนะบางเรื่อง ที่รัฐบาลทำแล้วไม่เข้าตาฝ่ายค้านในลักษณะนี้มากกว่า 

'นิกร' ปิดช่องนับคะแนน MMP ชงใช้กึ่งไพมารี่โหวต

ด้าน นิกร จำนง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา และกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เห็นด้วยกับข้อเสนอฝ่ายค้านเรื่องวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ลิสต์ ว่า จะเสนอให้ใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2550 ที่นำมาใช้ในการเลือกตั้งปี 2554 

โดยนิกร ระบุว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.ได้ผ่านแล้วตามที่คาดหมาย ซึ่งต่อจากนี้ก็สามารถเดินหน้าทำกฎหมายลูกได้เต็มที่ เนื่องจากเดิมต้องรอให้รัฐธรรมนูญลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้จึงจะสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งเดิมตกลงกันว่าใช้เสียง 50 เสียง ต่างพรรคต่างยื่น แต่ตอนหลังมาคิดกันว่ารวมกันดีกว่าในฝ่ายรัฐบาล จึงตั้งคณะทำงานขึ้น โดยหลักการคือแก้ไม่มาก เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยแก้ในกฎหมายเลือกตั้ง ไปกำหนดเรื่องการนับคะแนน หลักการคล้ายรัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ไขปี 2554 ที่รวมคะแนนกันทั้งประเทศ มาคำนวณกับ 100 ที่ระบุว่า ส.ส.พึงมีมาตรา 92 ซึ่งเป็นส่วนค้างที่ไม่กล้าแก้ ซึ่งคำว่าพึงมีนั้นหมายถึงบัตรใบเดียว จะไม่มีผลว่าจะสามารถทำระบบการเลือกตั้งแบบ MMP (ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี) หรือ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมได้ จึงไม่สามารถทำได้ พร้อมกับระบุว่า จะร่วมกันเป็นร่างเดียวในเบื้องต้น และมีการพูดคุยกันว่าแต่ละพรรคจะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน และมองว่าหากมีการแก้ไขเยอะจะแตกและจะทำยาก

ส่วนจะเป็นการเสียเปรียบของพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่นั้น นิกร กล่าวว่า ไม่เสียเปรียบ แต่ยอมรับตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้เป็นพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อแก้กฎหมายให้เลือกตั้งบัตรสองใบก็รู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถือว่าเป็นโครงการให้ความสะดวกประชาชนในการลงคะแนนเสียง จึงยอม

นิกร ระบุว่าการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ นั้น บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้คิดริเริ่มแล้วจะปฏิเสธได้อย่างไร และการนับคะแนนเสียงแบบนี้คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก พร้อมกับมองว่ากฎหมายการเลือกตั้งคงไม่มีปัญหา และพรรคร่วมรัฐบาลเสนอหนึ่งร่างรวมกัน ถ้าในพรรคแต่ละพรรคเห็นต่างก็ขอให้ไปแปรญัตติ อีกครั้งหนึ่ง ส่วนฝ่ายค้านตนประเมินว่า คงส่ง 2 ร่าง

เมื่อถามย้ำว่าดังนั้นจึงควรยกเลิกระบบไพมารี่โหวตหรือไม่นั้น นายนิกร ระบุว่า ควรให้มีเป็นกึ่งไพรมารี่ เหมือนตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แก้ในครั้งนั้น หนึ่ง จังหวัดมี 100 คน ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

ส่วนจะแก้ทันตามกรอบหรือไม่นั้น นิกร ระบุว่า โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในยกร่างว่าต้องไม่เกิน 180 วัน 

ส่วนเมื่อกฎหมายโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วจะต้องยุบสภาเลยหรือไม่ นิกร ระบุว่า เราแค่ทำกฎหมายต้องรอดู เรื่องการยุบสภาเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ เราเพียงทำกฎหมายต้องรอดูกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องประชุมต่อไป 

ส่วนจะเสนอร่างประกอบรัฐธรรมนูญได้เมื่อไหร่นั้น นิกรระบุว่า ขณะนี้ทำเกือบเสร็จแล้ว โดยให้ทางกฏหมายเค้าดู เดิมไม่คิดว่าจะยื่นให้กกต เป็นผู้พิจารณา แต่ตอนนี้น่าจะขอความเห็นเขาได้ ซึ่งรัฐบาลน่าจะยื่นของตัวเองด้วย ซึ่ง กกต. จะเร่งให้ทัน ซึ่งทาง กกต.มีการเปลี่ยนแปลงเลขาจึงต้องรอระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง