นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ กล่าวนำเสวนาจุดกำเนิดของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทยในยุคสมัยสงครามเย็น เนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' ที่เขียนโดย ผศ.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
โดยนิธิ แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะจะทำให้ตาสว่างมากขึ้น ซึ่งจะพบว่า การที่มีมหาอำนาจอยู่ในประเทศ จะทำให้กลุ่มการเมืองต่างๆ มีความสัมพันธ์ทั้งแง่การแย่งอำนาจหรือรวมกลุ่มอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น ที่ทุกคนที่อยากจะมีอำนาจทางการเมืองในไทย ต้องอิงแอบกับประเทศมหาอำนาจ ทั้งอังกฤษ อเมริกา และอื่นๆ ทั้งสิ้น
การมองในแง่นี้ จะเห็นการขายชาติ ว่าต่างจากการขายก๋วยเตี๋ยวมากขึ้น เพราะคนที่เอาประโยชน์ของต่างชาติมาสนับสนุนผลประโยชน์ของตนเองมากที่สุด คือชนชั้นนำไทยตั้งแต่สมัยอยุธยามาแล้ว
"คนไร้อำนาจอย่างเราอยากขายแทบตาย แต่ไม่มีคนซื้อ เพราะไม่มีอำนาจและผลประโยชน์ที่สอดคล้องกับต่างชาติ ดังนั้นการด่าคนขายชาติ อย่าไปมองท่อน้ำเลี้ยง ให้มองข้างบนจะเห็นคนขายชาติเยอะแยะไปหมด ถ้าถือว่านั่นคือการขายชาติ" นิธิ กล่าว
นิธิ ยืนยันว่า เฉพาะกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ทำให้ทุกกลุ่มการเมืองมีจุดอ่อน คือ ไร้ความชอบธรรมทางการเมือง อาจยกเว้นกลุ่มปรีดี พนมยงค์ บางส่วน แต่ไม่มีกลุ่มไหนเลยมีเอกภาพอย่างแท้จริง และการเมืองไทยอ่อนแออย่างยิ่งช่วงหลัง 2490 เป็นต้นมา และแต่ละกลุ่มเปลี่ยนฝ่ายได้อย่างง่ายดาย ทำให้มหาอำนาจอเมริกาชี้นิ้วสั่งอะไรก็ได้
อย่างไรก็ตาม 'กลุ่มศักดินา' คือคนที่ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับพญาอินทรีย์หรือสหรัฐอเมริกามากที่สุด เพราะสหรัฐฯ เชื่อว่า ใช้สถาบันกษัตริย์ ยับยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทยได้ และมองว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นเหยื่อรายแรกอันโอชะของอเมริกา เพราะเป็นสิ่งแรกที่สหรัฐอเมริกาได้ไปในยุคสงครามเย็น
กลุ่มศักดินาไทย พบวิธีอยู่กับระบอบใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา
อาสา คำภา จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนา จุดกำเนิดของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทยในยุคสมัยสงครามเย็น เนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' โดยระบุว่า
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ เหมือนได้เจอจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ ที่จะเห็นช่องโหว่ต่างๆ เต็มไปหมด ซึ่งตนจะเน้นมิติ 'ศักดินา' โดยเห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างรัชกาลที่ 9 กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า แม้จะบอกว่า 'โปรเจ้า' แต่บางครั้งก็วิจารณ์เจ้าอย่างหนัก เพราะลักษณะนิสัยเป็นคนถือดี แต่จากการอ่านหนังสือเล่มนี้พบว่า ร.ม.ว.คึกฤทธิ์เป็น 'รอยัลลิสต์' ที่หนุนไปทาง 'ราชสกุลบริพัตร' จึงเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีบทบาทและท่าทีเช่นนั้น ซึ่งกลุ่มรอยัลลิสต์ ขัดแย้งกันมากโดยเฉพาะการสนับสนุนคนละสายราชสกุล ที่จะเป็นผู้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์
นอกจากนี้ จะเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มรอยัลลิสต์กับพรรคประชาธิปัตย์และทหารเรือ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 'ยิงยาวและฟังก์ชั่น' มาอย่างน้อยจนถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 โดยช่วงทศวรรษ 2490 เห็นการเปลี่ยนหรือสลับขั้ว ทั้งจับมือกันระหว่างกลุ่มการเมืองในการโค่นล้มกลุ่มการเมืองอื่นที่เป็นศัตรูร่วมในแต่ละสถานการณ์ แต่กลุ่มรอยัลลิสต์สามัคคีกันมาก เมื่อพื้นที่ในรัฐสภามีน้อยลง หลังจากมีการรัฐประหารที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ครองอำนาจ
ขณะที่ สหรัฐอเมริกา ไม่ชอบ 'กลุ่มราชครู' จึงผลักดันสาย 'จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์' และบทบาท ความต้องการของสหรัฐอเมริกา ก็สัมพันธ์กับ 'กลุ่มศักดินา'
โดย 'พันธมิตรไตรภาคี' ในหนังสือ คือ สถาบันกษัตริย์, กองทัพและสหรัฐอเมริกา นั้น มาจาก 'แนวคิดพระราชอำนาจนำ' ซึ่งเกิดขึ้นจากเงื่อนไขของสหรัฐอเมริกา และทำให้กลุ่มศักดินา พบวิธีปรับตัวเข้ากับระบอบใหม่ โดยใช้แนวคิด 'ราชประชาสมาสัย' ที่เกิดขึ้นปลายทศวรรษ 2490 คือเหตุ และแนวพระราชอำนาจนำ คือ ผล แต่ย้อนแนวคิดไปได้ถึงสมัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่อธิบายว่ารัชกาลที่ 5 เป็นกษัตริย์ของประชาชน เพื่อประชาชน แม้ไม่ได้มาจากประชาชนก็ตาม
ยอมแลกอธิปไตยทำไทยตกอยู่ในสถานะกึ่งเมืองขึ้นสหรัฐฯ
รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลั ระบุว่า จากหนังสือนี้เห็นชัดว่า บทบาทและอิทธิพลสหรัฐอเมริกาต่อการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา ภายใต้ยุทธศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดว่าไทยควรอยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ ขณะที่เงื่อนไขภายในคือ ความขัดแย้งและความปรารถนาของกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความต้องการของสหรัฐครั้งนี้ เป็นการเปิดประตูรับการช่วยเหลือและการแทรกแซงของสหรัฐฯในรูปแบบต่างๆ
ยิ่งกลุ่มการเมืองภายในไทยขัดแย้งกันมาก ก็ยิ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกและมีอิทธิพลในไทยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไดนามิค ที่ ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็น ขณะที่สหรัฐอเมริกายึดประโยชน์ชาติตนไว้อย่างมั่นคง พร้อมที่จะเปลี่ยนกลุ่มที่จะสนับสนุน และพร้อมสนับสนุนหรือขัดขวางประชาธิปไตยในไทยได้เช่นกัน
โดยจะเห็นผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจ การเมือง และทางทหาร ที่เป็นช่องทางทำมาหากินกับสหรัฐอเมริกา ของกลุ่มการเมืองและชนชั้นนำ รวมถึงนักการเมืองอนุรักษ์นิยมในรัฐสภาไทย แต่อธิบายและยืนยันว่า ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แม้การไปแอบอิงกับมาหาอำนาจสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามเย็น ก็ไม่ถือว่าเสียเอกราช
กระทั่งยอมให้ใช้ไทยเป็นฐานทัพทิ้งระเบิดและทำสงครามลับในประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้ไทยถูกเรียกว่าลิ่วล้อของอเมริกา และแม้ไทยเสียอำนาจอธิปไตยในแง่นี้ กลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไทยก็อธิบายว่าเป็นการลู่ตามลมอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่การเสียเอกราช ดังนั้น เส้นแบ่งการลู่ตามลมกับการเสียประโยชน์ให้มหาอำนาจเบาบางมาก ซึ่งหนังสือนี้ชี้ชัดว่า อย่างน้อยจากปี 2490 - 2500 หรือช่วงยุคสงครามเย็นต่อจากนั้นไทยตกอยู่ในสถานะกึ่งเมืองขึ้น