รวินทรา คุปตา ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ เปิดเผยผลลัพธ์เชิงบวกหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคซึ่งมียีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 ให้แก่ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีรายหนึ่งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่งสำเร็จลุล่วงด้วยดีตั้งแต่ปี 2560 และผู้ติดเชื้อที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หยุดใช้ยาต้านไวรัสนาน 18 เดือนจนถึงปัจจุบัน (มี.ค. 2562) และตรวจไม่พบเชื้อในร่างกายอีก ทำให้แพทย์สันนิษฐานว่าผู้ป่วยรายนี้จะเป็นรายที่ 2 ของโลกที่ได้รับการรักษาจนหายจากการติดเชื้อเอชไอวี
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ผู้ป่วยรายแรกที่หายจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี คือ ทิโมธี บราวน์ ชาวอเมริกัน แต่เป็นที่รู้จักในแวดวงการแพทย์จากนามแฝง 'ผู้ป่วยเบอร์ลิน' (Berlin Patient) เนื่องจากเขาเข้ารับการรักษาอาการที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีระหว่างปี 2550-2551 โดยใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ซึ่งได้รับจากผู้บริจาคที่มียีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 เช่นกัน ทำให้คุปตาตั้งสมมติฐานว่า ยีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สามารถหายขาดจากอาการติดเชื้อได้
รอยเตอร์ ระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายที่ 2 ใช้นามแฝงว่า 'ผู้ป่วยลอนดอน' (London patient) เข้ารับการรักษาอาการโรคมะเร็งที่ศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน และแพทย์ตัดสินใจให้เขารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคที่มียีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 เพราะยีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อไวรัสได้ดี โดยมักจะพบในกลุ่มประชากรชาวสแกนดิเนเวีย
หลังจากรับการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย ผู้ป่วยลอนดอนก็ยังต้องต่อสู้กับภาวะที่สเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย หรือ Graft Versus Host Disease อยู่นานหลายเดือน แต่ในที่สุดร่างกายของผู้ป่วยก็ค่อยๆ ปรับตัว ทั้งยังตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีอีกแม้ว่าจะหยุดใช้ยาต้านไวรัสมานานกว่า 18 เดือนแล้ว
ขณะที่เว็บไซต์ VOX รายงานว่า กรณีของทิโมธี บราวน์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รักษาหายเป็นรายแรก เคยป่วยหนักจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว จนร่างกายไม่ตอบสนองต่อการใช้เคมีบำบัด แพทย์จึงตัดสินใจให้เขารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งผู้บริจาคไขกระดูกในกรณีของบราวน์เป็นผู้หนึ่งซึ่งมียีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 และหลังผ่าตัด บราวน์ต้องเผชิญกับภาวะต่อต้านของสเต็มเซลล์ใหม่เช่นเดียวกัน
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีมานานกว่า 30 ปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ (กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง) รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ประมาณ 35 ล้านคน ทั้งยังทำให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในหลายประเทศ จนภาคประชาสังคมและบุคลากรการแพทย์ต้องรณรงค์อย่างหนักเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์
จากที่ก่อนหน้านี้ราว 20 ปี ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมักจะตกเป็นเป้าโจมตีและถูกกีดกันจากสังคม แต่ในระยะหลังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงบริการตรวจร่างกายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ตลอดจนการรณรงค์ให้ยาต้านไวรัสเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการด้านสุขภาพในหลายประเทศ ช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นและได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2 รายในปัจจุบัน ช่วยให้เกิดความหวังว่า สักวันหนึ่งเทคโนโลยีการแพทย์และองค์ความรู้ที่ก้าวหน้ารอบด้าน จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้รับการรักษาจนหายขาดได้อย่างทั่วถึง แต่ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่าจะต้องทำอย่างไร ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกจึงจะสามารถปรับตัวหรือรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากชาวตะวันตกได้โดยไม่ต้องเผชิญกับภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย เพราะนอกจากผู้ป่วยทั้ง 2 รายที่ได้รับการรักษาให้หายจากการติดเชื้อแล้ว ยังไม่พบกรณีที่ประสบความสำเร็จรายอื่นๆ อีก
นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญอีก 2 ประการ คือ ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดนั้นแพงมาก และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รวมถึงดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ จึงอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์ จะได้รับการรักษาให้หายจากความเจ็บป่วยได้อย่างถ้วนหน้า
บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขจำนวนมากจึงย้ำว่า การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงการหลีกเลี่ยงใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ยังเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและได้ผลที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อไปแล้วต้องใช้ยาต้านไวรัสควบคู่กับการรักษาสุขภาพในด้านอื่นๆ ก็จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีอายุยืนขึ้นจนอาจจะไม่ต่างจากผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: