4 พฤษภาคม 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงเขตคลองเตย เริ่มต้นเดินตั้งแต่เช้าที่ตลาดคลองเตยร่วมกับ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป รวมทั้งผู้นำชุมชนคลองเตย ย้ำนโยบายในการจัดการขยะและบำบัดน้ำเสียจากต้นทาง โดยเริ่มต้นจากตลาดในพื้นที่ กทม. จากนั้นเดินทางต่อไปยังชุมชนบล็อค 6 มูลนิธิดวงประทีป เพื่อรับฟังความต้องการของชาวชุมชน ครู ผู้ปกครองที่โรงเรียนอนุบาลดวงประทีปด้านที่อยู่อาศัยและศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนที่มีจำนวนไม่เพียงพอ
ชัชชาติ กล่าวว่า จากนโยบายรายเขตของทีมเพื่อนชัชชาติ พบว่าเขตคลองเตยมีปัญหาสำคัญเรื่องการสนับสนุนศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน เช่น ครูพี่เลี้ยงขาดสวัสดิการและมีรายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ขาดกำลังใจในการทำงาน ค่าอาหารของเด็กอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น กทม. ต้องเข้ามาดูแลและสนับสนุนศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนอย่างเพียงพอ ชัชชาติ เสนอนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กอ่อนและศูนย์เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน เพิ่มบุคลากรและจัดการอบรมเสริมสร้างความรู้ ความสามารถเพื่อให้มีขีดความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก รวมถึงปรับค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมกับค่าครองชีพและสอดคล้องกับค่าตอบแทนของตลาด เพิ่มค่าอาหารสำหรับเด็กอ่อนให้เป็น 40 บาทต่อวัน เพื่อให้ศูนย์เด็กอ่อนมีศักยภาพในการดูแลเด็กมากยิ่งขึ้น
“การพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนเป็นนโยบายที่เราทำน้อยแต่ได้เยอะ เพราะเด็กในวัย 0-6 ปี กำลังมีพัฒนาการที่สูงมาก ดังนั้น ถ้าเราลงทุนกับศูนย์เด็กเล็กให้มีบริการพื้นฐานที่ดี จะยิ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้ดียิ่งขึ้น เราจะพยายามดูแลศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนให้มีคุณภาพและให้กระจายไปในทุกเขตทุกแขวง" ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงกิจกรรมในวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค 65 ที่สวนลุมพินีว่า ตั้งใจนำเสนอผลจากการลงพื้นที่ 50 เขตกทม. กว่า 1,000 วันที่ผ่านมา ในการสำรวจปัญหาจริงร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครและประชาชน พร้อมนำเสนอนโยบายให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับทราบอย่างชัดเจน เพื่อมีส่วนในการตัดสินใจใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงโค้งสุดท้าย เบื้องต้นวางแผนเป็นกิจกรรมในรูปแบบไม่ใหญ่ เพื่อเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 แต่มีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ให้ติดตามอย่างทั่วถึงแน่นอน
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ลงพิกัดแต่เช้าที่เขตบางบอน กับผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 3 ณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ และ สากล ม่วงศิริ อดีต ส.ส.กทม. 4 สมัย ได้พบกับเจ้าของร้านแก๊สในพื้นที่โดยนำเสื้อมาให้เซ็น ชื่นชมประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคในดวงใจ ขอให้เชื่อใจประชาชน ประชาธิปัตย์ไม่เคยแพ้
สุชัชวีร์กล่าวว่า ได้รับการต้อนรับอย่างดี ภูมิใจอย่างยิ่ง ตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ ที่ดี ไม่ให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนผิดหวัง ตนมาบางบอนหลายรอบ เห็นและเข้าใจปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี ฝนตกแป๊บเดียวน้ำก็ท่วม มีทั้งปัญหาน้ำเน่า รถติด จึงได้นำเสนอนโยบาย 'กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ที่ทันสมัย ต้นแบบอาเซียน' อินเทอร์เน็ตฟรี 150,000 จุด ให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ พี่น้องประชาชนใช้ประโยชน์ได้ มีกองทุนจ้างงานชุมชน 6 แสนบาทต่อปี พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ทุกวัน กทม. ดูแลเรื่องความสะอาด ทำเทศกิจให้เป็นมิตรกับพ่อค้าแม่ค้า ตั้งใจทำโรงเรียน กทม. ให้เป็นโรงเรียนที่เรียนฟรีและมีคุณภาพสูง มีสาธารณสุขดีใกล้บ้าน
“ปัญหาของบางบอนมีตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วม ฝนตกมาน้ำท่วมขังระบายไม่ถึงทะเล มีปัญหาตั้งแต่เรื่องเครื่องสูบน้ำ ถึงเวลาที่ต้องใช้ระบบเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติเสียที และบางบอนวันนี้มีน้ำเน่าในคลองแทบทุกพื้นที่แล้ว น่าเสียดายบางบอนซึ่งเป็นพื้นที่ที่สวยงาม ท่อระบายน้ำไม่ได้ลอกมาตั้งนานแล้ว ผมตั้งใจจะมากำกับดูแลด้วยตัวเอง เมื่อได้เห็นทุกข์ของพี่น้องประชาชนแล้วก็ทุกข์ใจมากจริงๆ ผมตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่จัดการกับปัญหาน้ำท่วม น้ำเน่าในกรุงเทพฯ ให้ได้ ”
สุชัชวีร์กล่าวถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยว่า ในกรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หากร่วมกันมองกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งโอกาส พ่อค้าแม่ค้าต้องขายของได้ทุกวัน เรื่องขยะ เรื่องความสะอาด เรื่องฟุตบาทที่เรียบเสมอ เป็นเรื่องของผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เป็นความผิดของพ่อค้าแม่ค้า ตนตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ฟุตบาทต้องเรียบ คนเดินเท้าเดินได้สะดวก ที่ใดขายของได้ให้ขาย ที่ใดขายไม่ได้ก็ไม่ขาย
“อยากให้พ่อค้าแม่ค้าได้สบายใจว่า เทศกิจในยุคของผู้ว่าฯ ถ้าชื่อสุชัชวีร์ จะเป็นมิตรกับพ่อค้าแม่ค้า จะไม่มีเรื่องส่วย ไม่มีเรื่องกวนใจ และผมตั้งใจให้ฟุตบาทมีน้ำประปา น้ำสะอาดได้ใช้ฟรี รวมทั้งนโยบายอินเทอร์เน็ตฟรีในทุกพื้นที่ จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าได้ค้าขายได้อย่างมีความสุข ผู้ซื้อก็สามารถเข้าถึงอาหารราคาถูกและสะอาดได้ รวมทั้งเข้าสู่โลกออนไลน์ได้ฟรีทุกคนด้วย”
สำหรับในช่วงเย็นวันนี้ซึ่งจะมีการปราศรัยเป็นครั้งแรก สุชัชวีร์กล่าวว่า ไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะเสน่ห์ของการเลือกตั้งก็คือการปราศรัย กทม. ไม่มีเวทีปราศรัยผู้ว่าฯ มา 9 ปีแล้ว นี่คงจะเป็นครั้งแรกๆ ที่คลองสามวา วัดพระยาสุเรนทร์ ขอให้ทุกท่านได้ติดตามสุชัชวีร์ เบอร์ 4 ที่มาพร้อมกับผู้สมัคร ส.ก. ทั้ง 6 เขต ตั้งแต่ นที เข็มศรีสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 2 เขตคลองสามวา สุนันท์ มีนมณี ผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 6 เขตคันนายาว ณัฐิดา เตาเฟ็ส ผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 3 เขตหนองจอก ศรินทิพย์ มีนมณี ผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 6 เขตมีนบุรี ณรงค์ศักดิ์ ฤทธิวรผล ผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 3 เขตสายไหม สุชาดา เวสารัชตระกูล ผู้สมัคร ส.ก. เบอร์ 6 เขตบางเขน พร้อมกับประกาศว่า วันนี้ กทม. ทำงานคนเดียวไม่ได้ ผู้ว่าฯ มาคนเดียวทำงานไม่ได้ แต่ต้องมาพร้อมกับทีมสุชัชวีร์ ที่เรามาเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ทวีศักดิ์ อุ่มบางตลาด ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เบอร์ 1 เขตบางกะปิ ลงพื้นที่ตลาดบางกะปิ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เพื่อประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 พร้อมรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่
วิโรจน์ กล่าวว่า เขตบางกะปิถือว่าเป็นหนึ่งในเขตของกรุงเทพมหานคร ที่มีตลาดจำนวนมาก และมีปัญหาการจัดการขยะค่อนข้างสูง ถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร ประเด็นเเรก การจัดการขยะต้องดีกว่านี้ และขยะที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บล่าช้า ก็ส่งผลปัญหาให้กับการอุดตันของท่อระบายน้ำด้วย ซึ่งปัญหาตรงนี้ต้องแก้ไขปัญหาแบบควบคู่กันทั้งการระบายน้ำเเละการจัดการขยะ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบางกะปิดีขึ้น
วิโรจน์ กล่าวถึงช่วงสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ว่าเน้นการหาเสียงเชิงนโยบายเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้างของกรุงเทพมหานคร เเละที่มาของงบประมาณกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า นโยบายที่ตนผลักดัน ได้คิดถึงงบประมาณไว้เเล้วว่าเกิดขึ้นได้จริง จับต้องได้ อาทิ การเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เด็ก เเละคนพิการ รวมถึง การเพิ่มงบประมาณศูนย์เด็กเล็กจำนวนศูนย์ละ 5 ล้านบาท การกันงบประมาณจากผู้ราชการกรุงเทพมหานคร ในส่วนสำนักงานเขตมาสู่ประชาชนจำนวน 4,000 ล้านบาท ทั้งประชาชนที่อยู่ในและนอกชุมชน ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร เเละในเรื่องของการอุดหนุนตั๋วรถเมล์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ นำประชาชนจากที่พักอาศัยนำมาป้อนยังระบบรถไฟฟ้าที่เป็นขนส่งมวลชนขนาดใหญ่
“เราต้องการให้ประชาชนที่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงสวัสดิการของกรุงเทพมหานครที่ตอบโจทย์มากขึ้น อย่างเรื่องที่เราจะหารือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเพิ่มจำนวนคลินิกชุมชน เชื่อไหมว่า คนกรุงเทพเวลาเจ็บป่วยซื้อยาทานเอง เนื่องจากคลินิกชุมชนที่เราใช้บัตรทอง มันไม่ครอบคลุม ทั่วกทม.มีเพียง 200-300 แห่ง เทียบให้เห็นเลยว่า คลินิก 1 แห่ง ดูแลประชาชน 10,000 คน แต่สปสช.ดูแลเพียงหน่วยละ 3,000 คน” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลอดการลงพื้นที่ที่ผ่านมา บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก รวมถึงกำลังใจดีมากๆ ประชาชนให้การตอบรับเกินคาด และเข้ามาสอบถามพูดคุยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของกรุงเทพมหานครมากขึ้น มันสะท้อนว่า ประชาชนเข้าใจในนโยบายที่ตนสื่อสาร ยิ่งเห็นได้ชัดในเรื่องของงบประมาณที่จะจัดสรรอย่างเท่าเทียมให้ประชาชน และแก้ไขกติกา ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเพื่อให้คนกรุงเทพทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการลงพื้นที่ตลาดบางกะปิ และศูนย์การค้าแฮปปี้เเลนด์ มีประชาชนให้การตอบรับวิโรจน์ เเละทีม รวมถึงมอบดอกดาวเรืองคล้องคอให้วิโรจน์ และขอให้กำลังใจวิโรจน์กับทีมงาน พร้อมหวังว่าจะได้วิโรจน์ เข้ามาเป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานคร รับใช้ประชาชนคนกรุงเทพคนต่อไป
ขณที่ในการลงพื้นที่เขตวังทองหลาง วิโรจน์ พร้อมด้วย นฤธัช สีบุญเรือง ผู้สมัคร ส.ก เบอร์ 5 เขตวังทองหลาง พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่พบประชาชน โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล ร่วมรับฟังปัญหาของประชาชนในชุมชนจันทราสุข ซอยลาดพร้าว 87 พร้อมสาธิตนโยบาย “งบที่เลือกเองได้” ให้ประชาชนเลือกว่าอยากนำงบประมาณไปแก้ปัญหาด้านไหน
วิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา 8 ปี ประชาชนที่อยู่ในชุมชน นอกชุมชน ต้องการสิ่งใดก็จะไปเรียกร้องจากสำนักเขต เเต่เขตก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด งบที่เคยกระจุกที่สำนักงานเขต หากงบนี้จะใช้งานได้จริงต้องมีการกระจายงบ 4,000 ล้าน กระจายลง 2,000 ชุมชน เพื่อให้ชุมชนเเต่ละชุมชนได้มีงบประมาณสำรองไว้สำหรับดูเเลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
ด้านพริษฐ์ กล่าวว่า เราต้องการเน้นไปที่นโยบายการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นต้นเเบบการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเเน่นอนว่า จะส่งเสริมการกระจายอำนาจมาสู่ประชาชน เพื่อสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้เเข็งเเรง โดยเรามุ่งเน้นการกระจายงบประมาณให้ชุมชน ซึ่งพรรคก้าวไกล เรามองว่าเทคโนโลยีหลายอย่างๆ สามารถทำให้เกิดการกระจายอำนาจ เเละนำไปสู่การกำหนดงบประมาณเเละผลักดันเป็นนโยบายได้
“ประโยชน์ที่เราจะได้จากการที่ประชาชนกำหนดงบประมาณของตัวเอง คือ สร้างโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยเเท้จริง ประเด็นต่อมา ในเรื่องความโปร่งใส เมือเรากระจายงบประมาณให้ประชาชนได้กำหนดเอง ทำเกิดความโปร่งใส ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและอยากมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ประเด็นสุดท้ายคือประชาธิปไตย ที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ในชุมชน เป็นต้นแบบที่เราจะผลักดันไปสู่การเมืองในระดับท้องถิ่น เเละในระดับประเทศ”
ทั้งนี้ จากการรับฟังปัญหา ประชาชนในชุมชนจันทราสุขเสนอโครงการที่อยากแก้ปัญหาถึง 10 ด้าน อาทิ การสร้างหลังคาคลุมลานชุมชน การสร้างงานให้ผู้สูงอายุ การปรับปรุงทางเข้าออก การปรับปรุงเสียงตามส่ย ฯลฯ ทั้งนี้ จากการให้ประชาชนติดสติ๊กเกอร์โหวต พบว่าสิ่งที่ประชาชนในลุมชนจันทราสุขต้องการมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ 1. การทำหลังคาลานชุมชนให้ชาวบ้านใช้เป็นลานชุมชน 2. การติดเครื่องปรับอากาศในศูนย์พัฒน่เด็กเล็ก 3. การปรับปรุงเส้นทางเชื่อมเข้าออก 4. การทำโครงการสร้างงานสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ
“ผมคิดว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ต้องการจายอำนาจ’ แต่ยังไม่เข้าใจว่าการกระจายอำนาจคืออะไร สิ่งที่ท่านทำในวันนี้แหละครับคือรูปธรรมของการกระจายอำนาจไม่ใช่เราซื้อของไปตั้งในชุมชน ถ้าเกิดว่าเรากระจายงบประมาณแบบนี้ไปได้ เราก็จะเกิดบรรยากาศอบอุ่นแบบนี้ไปทั่ว 2,000 ชุมชน และนี่จะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของกรุงเทพ ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัยที่ต้องอ้อนวอนร้องขอ” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (อิสระ) เบอร์ 3 กล่าวระหว่างลงพื้นที่บริเวณตลาดนัดชุมชนรถไฟ กม.11 (ตลาดสายหยุด) และตลาดบางเขน เขตจตุจักร ว่า ได้มาลงพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็น ส.ส. และพื้นที่ตรงจุดชุมชนรถไฟ ซึ่งเป็นจุดที่เคยพูดถึงหลายครั้ง ใน 'สกลธีโมเดล' เกี่ยวกับการนำมาปรับเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ แต่ติดที่ กทม.ไม่ใช่เจ้าของที่ เช่น บริเวณนี้เป็นของการรถไฟ ที่เงินของ กทม.ไม่สามารถลงมาพัฒนาได้ เพราะจะสามารถใช้กับพื้นที่สาธารณะเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ได้พูดมาหลายครั้งว่าถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะต้องเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางพัฒนา ถึงแม้ กทม. จะลงเงินไม่ได้ แต่เป็นหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เพราะเวลามีปัญหา ประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะร้องเรียนกับใคร ดังนั้น จะต้องคุยกันให้มากกว่านี้ ซึ่งในอนาคตถ้าทำได้ก็ควรจะมีการแก้ระเบียบ เพื่อให้ กทม. นำเงินมาพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะได้
“จุดนี้ตั้งแต่สมัยผมเป็น ส.ส. เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เงินของ กทม. ลงมาไม่ได้ แต่เงินของการเคหะฯ ลงมาได้ ดังนั้นผมจึงอยากให้งบของ กทม. มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพื่อนำไปพัฒนาในที่ต่างๆ อย่างของการเคหะแห่งชาติที่มีความยืดหยุ่น ตอนสมัยที่ผมเป็น ส.ส. ก็มีการประสานเพื่อให้เงินมาลงในพื้นที่เอกชน หรือที่หน่วยงานราชการอื่นได้ จะทำให้การแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ยืดหยุ่นรวดเร็วกว่าเพราะบางครั้งการรอเงินจากหน่วยงานต้นสังกัดก็อาจจะไม่ทันการ ถ้า กทม.ทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมาเยอะ” สกลธี กล่าว
สำหรับแผนการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายนั้น นายสกลธี กล่าว ช่วงนี้มีการดีเบตจำนวนมาก ถ้าได้รับเชิญมาตนก็จะไป เพราะตอนนี้มีหลายๆ กลุ่มจัดดีเบตแยกกัน เช่นเดียวกับการดีเบตครั้งล่าสุด มีการพูดถึงเรื่องการเปิดพื้นที่ชุมนุมใน กทม. ซึ่งตนก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า ควรให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กฎหมาย ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เห็นว่าพื้นที่หลายๆ ส่วนของ กทม. ควรนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงเฉพาะการชุมนุม แต่อาจจะใช้ในจุดประสงค์อื่นได้ด้วย เช่น สวนสาธารณะก็อาจจะไม่ได้มีไว้เพื่อการวิ่งอย่างเดียว จะจัดดนตรีหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น
“ในกรณีที่ขอพื้นที่ในการชุมนุม ผมคิดว่า สำคัญอยู่ที่ กทม.จะต้องประสานงานกับภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ กทม.จะไปทำงานปะฉะดะ กับทุกหน่วยงานไม่ได้ เพราะ กทม.ไม่ได้มีอำนาจเต็มขนาดนั้น มีการทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน ดังนั้น คุณสมบัติของผู้ว่าฯ กทม. คือคนที่ประสานงานได้ดี แต่ว่าอะไรที่เป็นสิทธิของคนกรุงเทพฯหรือปัญหาของกรุงเทพฯ ก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ซึ่งผมมั่นใจ ในเรื่องการประสานงาน เพราะสมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ ก็ประสานกันมาด้วยดีตลอด ลักษณะของผม คือการประสานงานอยู่แล้วไม่ใช่ประสานงา” สกลธี กล่าว
ช่วงค่ำวานนี้ ที่ตลาดดินแดง-ห้วยขวาง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย ปัณณ์ธนัญญ์ ธรรมสุขสรกุล ผู้สมัคร ส.ก.หมายเลข 1 เขตดินแดง และอิทธิพล เลาหสุวัฒนกุล ผู้สมัครสก.เขตห้วยขวาง หมายเลข 4 พรรคไทยสร้างไทย ลงพื้นที่สองตลาดใหญ่ ย่านดินแดง - ห้วยขวาง พบปะพี่น้องประชาชน ได้รับการอย่างอบอุ่น พ่อค้าแม่ขายต่างเข้ามาสะท้อนถึงความทุกข์ยาก โดยเฉพาะการค้าการขายที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้นทุนสินค้าแพง กำลังซื้อจากประชาชนน้อยลง
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า นโยบายของ ศิธา ทิวารี หมายเลข 11 ให้ความสำคัญกับ 'คนตัวเล็ก' ตามหลักการของพรรคไทยสร้างไทย จึงได้สร้างนโยบายที่ช่วยยกระดับคนค้าขาย ทำให้คนตัวเล็กกลับมาทำมาหากินได้อีกครั้ง เช่น การเพิ่มพื้นที่ค้าขายให้พ่อค้าแม่ค้าได้ค้าขายกันอย่างเต็มที่ตลอด 7 วัน รวมทั้งจัดโซนส่งเสริมการค้าขายตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากอย่างบริเวณห้วยขวาง โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
รวมถึงเพิ่มพื้นที่ค้าขายทั้ง 50 เขต ให้ประชาชนมีพื้นที่ทำมาหากินมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องถูกไล่ที่ ทั้งทำ Street Food รวมของกินของอร่อยทั้ง 50 เขต ยิ่งไปกว่านั้นชาว กทม.ก็จะมีพื้นที่ผ่อนคลายหลังเวลาเลิกงานยามค่ำคืนเพิ่มมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ทีมผู้ว่าไทยสร้างไทย จะสนับสนุน 'กองทุนคนตัวเล็ก' หรือนโยบายกองทุนเคตดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก ของพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อให้ชาวกทม.มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มอบ 'บัตรเครดิตประชาชน' ให้คนตัวเล็กได้เข้าถึงแหล่งทุนในการทำมาหากิน เลิกพึ่งพิงหนี้นอกระบบ และกองทุนดังกล่าว จะเป็นเครดิตที่มอบให้ติดตัว สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ1 ต่อเดือน กู้ได้ตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ คาดหวังว่าจะช่วยสร้างพลังและปลดปล่อยคนตัวเล็ก พ่อค้าแม่ขาย ให้หลุดพ้นจากอุปสรรคทางการเงินและสามารถตั้งตัวได้ อีกทั้งเงินส่วนนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สูญเปล่าเหมือนการแจกเงินในปัจจุบัน
ดร.โภคิน พลกุล ผู้อำนวยการนโยบายพัฒนา กทม. พรรคไทยสร้างไทย เผยถึง 4 เหตุผลที่พรรคไทยสร้างไทย ตัดสินใจเลือก น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นผู้สมัครผู้ว่ากทม.ในนามพรรคว่า ปัจจุบันบ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน จึงต้องเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมกันสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุด เพื่อส่งมอบให้ลูกหลาน โดยจะทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อประโยชน์ของประชาชน และทีมไทยสร้างไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองที่เป็นของพี่น้องประชาชนทุกคน และเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยย้ำว่าต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น เราจึงจะก้าวข้ามปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างไปได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยรวมถึงกรุงเทพฯถูกกดทับจากความคิดแบบอำนาจนิยมและรัฐราชการ จนถึงวันนี้ยิ่งชัดเจนว่าฝ่ายผู้มีอำนาจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและวิกฤตให้ประชาชนได้ ทั้งยังได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
ดร.โภคิน เห็นว่าหากเราจะแก้ปัญหาแบบเดิมหวังว่าจะมีฮีโร่มาช่วย ขอบอกว่าไม่มี เพราะการแก้ปัญหาประเทศนี้ต้องปลดปล่อยและสร้างอำนาจให้ประชาชนเท่านั้นจึงจะเป็นไปได้ หากเราหวังจะให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ พี่น้องประชาชนจะต้องทำมาหากินได้ ที่ผ่านมาประชาชนยากลำบากแค่ขออนุมัติ ขออนุญาต เพียงอย่างเดียวพี่น้องประชาชนก็ใช้เวลารออย่างยาวนาน 6 เดือน 1 ปีจึงจะได้ประกอบอาชีพ ดังนั้นเราจึงมีแนวคิดว่าเราจะออกกฎหมาย เป็น พ.ร.ก.1 ฉบับเพื่อแขวนการบังคับใช้การขออนุมัติ ขออนุญาต และการลงโทษไว้ชั่วคราว 3-5 ปี เพื่อปรับปรุงกฎหมายใหม่ทั้งหมด และระหว่างนั้นจะปล่อยให้พี่น้องทำมาหากินได้เลย และเมื่อพี่น้องประชาชนได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการที่ถูกผูกมัดไว้แล้ว พรรคไทยสร้างไทย จะมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมเติมเต็ม องค์ความรู้และเงินทุนโดยตั้งใจจะมีกองทุน 4-5 กองทุนใหญ่ ที่สำคัญคือกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็กหรือกองทุนคนตัวเล็ก ที่ปัจจุบันประชาชนต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ต่อเดือน
ดร.โภคิน ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องเลือกศิธา ทิวารี หมายเลข 11 เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ และที่ทำให้ตนแปลกใจคือบุคคลที่มาจาก ระบบราชการเช่นนี้ น่าจะอยู่ในกรอบของอำนาจนิยม และอาจมองข้ามประชาชน แต่ตรงกันข้าม น.ต. ศิธา ทิวารี กลับคิดถึงประชาชน มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทั้งหมด ตรงกับปณิธานของพรรค จึงมาร่วมก่อตั้งพรรคด้วยกัน ดังนั้นการจะปลดปล่อยประชาชน กทม. หากอยู่ในอำนาจของผู้ว่ากรุงเทพฯจะทำทันที แต่ด้านใดที่ยังต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ หรือภาคเอกชนอื่น ทีมไทยสร้างไทยจะขอความร่วมมืออย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
โดยพรรคไทยสร้างไทยจึงเชื่อมั่นในศิธา ทิวารี เช่นเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการท่าอากาศยาน ได้คิดต่างด้วยการสร้างเลนจักรยานรอบสนามบิน ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นไปได้ จึงเชื่อมั่นว่า น.ต.ศิธา จะติดต่าง เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้มากที่สุด สามารถทำมาหากินได้มากที่สุด เพราะกล้าคิดต่าง และที่สำคัญเราต้องร่วมการต่อสู้กับแนวคิดแบบรัฐราชการ ที่ไม่เห็นหัวและกดทับประชาชน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เราจึงคิดระบบต่างๆที่จะให้พี่น้องประชาชนสามารถร้องเรียนได้โดยตรง โดยใช้เป็นระบบแบบดิจิทัลและมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอฝากศิธา ทิวารี และส.ก.พรรคไทยสร้างไทย ทั้ง 50 เขต