นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 184 (1) บัญญัติห้าม ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และมาตรา 108 ข. (2) บัญญัติห้าม ส.ว. ต้องไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมาตรา 269 (2) บัญญัติยกเว้นให้เฉพาะ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ 6 ตำแหน่งเท่านั้น มาตรา 184 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นให้ ส.ส.และ ส.ว.เป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของสภาฯ หรือกรรมการตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะเท่านั้น
ซึ่งหมายความว่า ส.ส. และ ส.ว. จะไปเป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของฝ่ายบริหารมิได้ ซึ่งกรณีการห้าม ส.ส. และ ส.ว. ไปเป็นกรรมการของฝ่ายบริหารนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วตามคำวินิจฉัยที่ 10/2551 ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 184 วรรคสอง ได้ถูกบัญญัติให้ชัดเจนขึ้นตามคำวินิจฉัยดังกล่าว
นอกจากนี้ มาตรา 98 (12) ที่บัญญัติห้าม ส.ส. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เป็นข้าราชการการเมืองมาสมัครเป็น ส.ส.ได้ แต่มาตรา 108 ข. (2) ได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามของ ส.ว. ว่า “ไม่เป็นข้าราชการ” ไว้เท่านั้น โดยไม่มีคำว่า “นอกจากข้าราชการการเมือง” แต่อย่างใด ดังนั้นผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว. ในขณะที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งควรอยู่ในความหมายเป็นข้าราชการด้วย จึงอาจเข้าข่ายต้องห้ามตามมาตรา 108 ข. (2)
“จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ทางส่วนราชการ พบว่า มี ส.ว.นับสิบราย และ ส.ส. หนึ่งราย อาจยังคงดำรงตำแหน่งในกรรมการยุทธ์ศาสตร์ชาติ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ กรรมการกฤษฎีกา และอาจมีอีกหลายสิบรายส่อขาดคุณสมบัติตามมาตรา 108 ข. (2) จากข้อมูลที่พบ เมื่อพิจารณาประกอบกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มี ส.ว. หลายสิบราย และ ส.ส. อีกหนึ่งราย ที่เข้าข่ายต้องถูกตรวจสอบว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 184 (1) และมาตรา 108 ข. (2) หรือไม่ ดังนั้นวันที่ 30 ก.ค. นี้ เวลา 09.45 น. ตนจะนำเรื่องนี้ไปร้องให้ กกต. ทำการตรวจสอบและยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป” นายเรืองไกร กล่าว