ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวัง 6 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำที่พบบ่อยในพื้นที่ประสบภัยแล้ง อาจขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. แนะนำประชาชนในการป้องกันโรค ยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" หากท้องเสีย อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งสภาพอากาศร้อน แล้ง อาจทำให้เกิดโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ ได้ให้กรมควบคุมโรค เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและผลกระทบต่อสุขภาพ และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้คำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรค หากมีอาการท้องเสีย อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบ หากพบกลุ่มก้อนการระบาดของโรคติดต่อที่สัมพันธ์กับภัยแล้ง ให้ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคทันที สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ในการป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ร้อน ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกันหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย หากมีอาการท้องเสีย ดูแลเบื้องต้นโดยการจิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ฃ

ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานตั้งแต่ต้นปี 2562 พบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร 6 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 575,112 ราย, โรคอาหารเป็นพิษ 59,360 ราย, โรคบิด 432 ราย, อหิวาตกโรค 9 ราย, ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 560 ราย, และไวรัสตับอักเสบเอ 224 ราย