“ฝรั่งเศสตัดสินใจถอนเอกอัครราชทูตของตัวเองออก ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เอกอัครราชทูตของเราและนักการทูตหลายคนจะเดินทางกลับฝรั่งเศส” มาครงกล่าวพร้อมระบุเสริมว่า ความร่วมมือทางทหารของฝรั่งเศสกับไนเจอร์ "สิ้นสุดลงแล้ว" และกองทหารฝรั่งเศสจะเดินทางออกจากไนเจอร์ในอีก "ช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า"
อย่างไรก็ดี รัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนไนเจอร์ไป เมื่อช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ออกมาแสดงยินดีกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝรั่งเศส “วันอาทิตย์นี้ (24 ก.ย.) เราเฉลิมฉลองก้าวใหม่สู่อธิปไตยของไนเจอร์” รัฐบาลทหารระบุในแถลงการณ์ ที่ได้รับรายงานโดยสำนักข่าว AFP
ในไนเจอร์มีทหารฝรั่งเศสประจำการอยู่ประมาณ 1,500 นาย ทั้งนี้ ไนเจอร์เป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
การตัดสินใจของรัฐบาลฝรั่งเศสในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากช่วงเดือนแห่งความเกลียดชัง และการประท้วงต่อต้านการมีอยู่ของฝรั่งเศสในไนเจอร์ ซึ่งนำโดยทหารและมวลชนที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร โดยก่อนหน้านี้ มีการประท้วงต่อต้านฝรั่งเศสเกิดขึ้นเป็นประจำในกรุงนีอาเม เมืองหลวงของไนเจอร์เป็นประจำ
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝรั่งเศส ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อปฏิบัติการของฝรั่งเศส ในการต่อต้านกลุ่มติดอาวุธอิสลามในภูมิภาคซาเฮลที่ขยายวงกว้างมากขึ้น และอิทธิพลของฝรั่งเศสเองในไนเจอร์ อดีตอาณานิคม อย่างไรก็ดี มาครงกล่าวว่าฝรั่งเศสจะ "ไม่ตกเป็นเป้าของกลุ่มผู้วางกลยุทธ์" ขณะให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ TF1 และ France 2 ของฝรั่งเศส
มาครงกล่าวว่าเขายังคงถือว่า โมฮาเหม็ด บาซูม ประธานาธิบดีไนเจอร์ที่ถูกโค่นล้มลงจากอำนาจ ซึ่งปัจจุบันถูกผู้นำรัฐประหารคุมขังอยู่ ยังคงมีฐานะเป็น "ผู้มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว" ของไนเจอร์ และประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แจ้งให้ประธานาธิบดีไนเจอร์ทราบถึงการตัดสินใจของเขาแล้ว ทั้งนี้ มาครงเรียกประธานาธิบดีไนเจอร์ที่ถูกปลดว่ากำลังถูกจับเป็น "ตัวประกัน"
“เขาตกเป็นเป้าหมายของการรัฐประหารครั้งนี้ เพราะเขาดำเนินการปฏิรูปอย่างกล้าหาญ และเนื่องจากมีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์อย่างมาก และความขี้ขลาดทางการเมืองที่มากมาย” มาครงกล่าว
กองทัพไนเจอร์เพิ่งเข้ายึดอำนาจการปกครองได้ไม่นานนี้ ตามหลังบูร์กินาฟาโซ กินี มาลี และชาด ทั้งนี้ การทำรัฐประหารในประเทศอดีตอาณานิคมฝรั่งเศสครั้งล่าสุด เกิดขึ้นตามหลังจากไนเจอร์ที่กาบองในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากกระแสต่อต้านฝรั่งเศสผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ มีนักการเมืองท้องถิ่นหลายคนกล่าวหาฝรั่งเศส ว่าดำเนินนโยบายลัทธิล่าอาณานิคมใหม่ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ฝรั่งเศสปฏิเสธ
ยังมีความกังวลในชาติตะวันตก เกี่ยวกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ของรัสเซียในภูมิภาคซาเฮล ซึ่งกองกำลังดังกล่าวถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้ช่วยเหลือรัฐบาลทหารชุดใหม่บางส่วนในการเข้ายึดอำนาจประเทศ
กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส ได้ขู่ว่าจะมีการแทรกแซงทางทหารในไนเจอร์ เพื่อนำบาซูมกลับคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ทางกลุ่ม ECOWAS ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ต่อไนเจอร์จนถึงตอนนี้
ก่อนหน้านี้ ผู้นำทางทหารของไนเจอร์แจ้งต่อ ซิลแว็ง อิตเต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ว่า อิตเตต้องเดินทางออกนอกประเทศไนเจอร์ หลังจากกองทัพโค่นล้มบาซูมเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กำหนดเวลาคำขาด 48 ชั่วโมงสำหรับอิตเต ที่จะต้องเดินทางออกนอกไนเจอร์ ได้รับการประกาศไว้เมื่อเดือน ส.ค. ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น หรือยอมรับว่าระบอบการปกครองของทหารนั้นชอบธรรม
คำแถลงของมาครงในครั้งนี้ เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงภายหลังผู้นำรัฐประหารของไนเจอร์ สั่งห้ามไม่ให้ "เครื่องบินฝรั่งเศส" บินทั่วประเทศไนเจอร์ ทั้งนี้ ASECNA องค์กรความปลอดภัยทางอากาศระดับภูมิภาค ระบุว่า น่านฟ้าของไนเจอร์ "เปิดให้สำหรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ในระดับชาติและนานาชาติทั้งหมด ยกเว้นเครื่องบินของฝรั่งเศส หรือเครื่องบินที่เช่าเหมาลำโดยฝรั่งเศส รวมถึงของสายการบินแอร์ฟรานซ์"
คำแถลงดังกล่าวยังระบุด้วยว่า น่านฟ้าไนเจอร์จะยังคงปิดให้บริการสำหรับ "เที่ยวบินทางการทหาร เที่ยวบินปฏิบัติการ และเที่ยวบินพิเศษอื่นๆ ทั้งหมด" เว้นแต่จะได้รับอนุญาตล่วงหน้า ในขณะที่ แอร์ฟรานซ์ ระบุกับสำนักข่าว AFP ว่า ทางสายการบิน “ไม่ได้บินผ่านน่านฟ้าไนเจอร์”
ที่มา: