วันที่ 19 ก.พ. การประชุมคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการ มีการพิจารณา เรื่อง สืบหาข้อเท็จจริงการใช้อำนาจแทรกแซงการจัดงานวิ่งไล่ลุง โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุวัจน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ
น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ ถามถึงแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ควบคุมการวิ่งไล่ลุงครั้งที่ผ่านมา เพราะในแต่ละพื้นที่เจ้าหน้าตำรวจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังได้สอบถาม ถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนแผนการสืบสวนหาข่าวชุมนุมของตำรวจ เพราะเป็นวิธีที่กระทบกับเสรีภาพของประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมกับประชาชน
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้มีการตั้งแง่ ผบ.ตร.ว่ามีการปฏิบัติต่อม็อบที่ไม่เหมือนกัน ระหว่างม็อบสวนยาง กับม็อบอีกกลุ่มที่ดูเหมือนจะอยู่ตรงข้ามกับทหาร
ผบ.ตร.แจงไม่เคยเอียงข้าง
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชี้แจงว่า แนวนโยบายหลักที่ให้ไปเมื่อมีการวิ่งไล่ลุง คือให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ขอยืนยันว่าทหารไม่ได้มาแทรกแซงตนแต่อย่างใด ส่วนตัวไม่อยากให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน เราถอดบทเรียนมาตลอด การชุมนุมก็เรียบร้อยขึ้นมาก ทุกครั้งที่ตนดูแลจะกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลประชาชนเป็นอย่างดี ตนไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพียงแต่ต้องทำงานตามหน้าที่ตามกฎหมายปกติ
"ไม่ต้องสงสัยว่าตำรวจอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่ตำรวจไม่อยากเห็นเลยคือการลงถนน พวกผมเป็นคนกลาง ผมเอียงไม่ได้ ถ้าเอียง ผมก็โดนร้องอาญา 157 จากวิ่งพวกคุณก็มาอีกเวอร์ชั่น ผมก็เฝ้าดูอยู่ ผมขออย่างนี้แล้วกัน อย่าทำอะไรให้สุ่มเสี่ยงกฎหมาย เพราะมันอันตราย" ผบ.ตร. กล่าว
ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัจน์ กล่าวว่า แนวทางการดูแลการวิ่งไล่ลุงจากส่วนกลาง เราเพียงแต่ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่านดูแลเรื่องความปลอดภัย ถ้าทำผิดก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอาญา อย่างในเรื่องการสืบสวนหาข่าว เข้าใจว่าน่าจะเป็นแนวทางแผนกรกฎ (แผนรับมือมวลชน) ทุกวันนี้เราพยายามรีวิวว่า แผนดังกล่าวมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ แต่การสืบสวนหาข่าวเป็นอำนาจตามกฎหมาย
พล.ต.อ.สุวัจน์ กล่าวอีกว่า อำนาจของพนักงานสอบสวนส่วนกลางไม่สามารถเข้าร่วมได้ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาทุกคนได้รับการอบรมกันมาหมด แต่วิธีการคุยของเจ้าหน้าที่อาจแตกต่างกันไปบ้าง เพราะแต่ละพื้นที่มีความวิตกกังวลไม่เหมือนกัน เช่น มีการแจ้งชุมนุมหรือไม่ หรือบางกลุ่มอาจจะคุยยากเมื่อลงถนนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น
ส่วนแนวทางการปรับปรุงแผนการเตรียมการรับมือการชุมนุมนั้นต้องใช้ระยะเวลา ว่ารูปแบบที่ใช้อยู่สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันเพียงใด การใช้ระยะเวลาประเมินเพียงแค่ 2-3 เดือนถือว่า "สั้น" ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นการสืบสวนหาข่าวอย่างไรเสียก็ต้องทำ และทุกเรื่องต้องมีการพูดคุยเพื่อลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น
พล.ต.อ.สุวัจน์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหาและรับทราบความกังวลเรื่องสิทธิ หากท่านใดมีความกังวลขอให้บอกข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ และจะเรียกมาพูดคุย ปรับปรุงเป็นกรณี