ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้านอินเดียยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ 'โมดี' ปมความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐมณีปุระ แต่ไม่น่าจะสั่นคลอนพรรครัฐบาลได้

ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่รัฐมณีปุระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย กำลังเผชิญกับความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม คือ ชนเผ่าเมเต (Meitei) ที่มีอิทธิพลมากกว่า และชนเผ่ากูกิ (Kuki) ที่ต้องการเรียกร้องสถานะทางสังคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 130 ราย และผู้คนต้องพลัดถิ่นฐานอีกราว 60,000 คน

โดยหนึ่งในชนวนเหตุความรุนแรง เกิดจากคลิปวีดีโอหนึ่งซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏภาพหญิงกูกิเปลือยกาย 2 คน กำลังถูกแห่ประจานโดยพวกผู้ชายเมเต หลังหมู่บ้านของพวกเธอถูกบุกและเผาทำลายในเดือนพฤษภาคม หลายฝ่ายมองว่า ความขัดแย้งดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้มณีปุระตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง

มณีปุระอินเดีย.jpg


ใครอยู่ที่มณีปุระบ้าง?

มณีปุระ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ติดกับฝั่งตะวันออกของบังกลาเทศ และมีพรมแดนติดกับเมียนมาร์ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 3.3 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดเป็นเมเต ในขณะที่ร้อยละ 43 เป็นกูกิและนากา (Naga) ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่

โดยกลุ่มเมเตได้ตั้งรกรากและอาศัยอยู่ทั้งในมณีปุระ เมียนมาร์ และบริเวณโดยรอบ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ขณะที่กลุ่มกูกินับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ตามพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย กูกิหลายคนที่อาศัยอยู่ในมณีปุระเองก็มีรกรากมาจากเมียนมาร์ด้วย 

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างเมเตและกูกิไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะต่างฝ่ายต่างต่อสู้ห้ำหั่นกันมาหลายสิบปี และทุกกลุ่มล้วนเคยผ่านการปะทะกับฝ่ายความมั่นคงมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องการแย่งพื้นที่อยู่อาศัยของกันและกัน ความแตกต่างทางศาสนา แต่ครั้งล่าสุดเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่ฝังรากลึกมายาวนานล้วนๆ

มณีปุระอินเดีย2.jpg


ใครคุมมณีปุระ?

มุขมนตรีประจำรัฐมณีปุระ คือ เอ็น บิเรน ซิงห์ ผู้เป็นชาติพันธุ์เมเต และสมาชิกพรรค BJP พรรครัฐบาลอนุรักษยนิยมฮินดู ภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี หัวหน้าพรรค BJP และ นายกฯ อินเดียคนปัจจุบัน

มีรายงานด้วยว่า ในสภาท้องถิ่นมีนักการเมืองที่เป็นชาติพันธุ์เมเตอยู่ถึง 40 ที่นั่ง จากทั้งหมด 60 ที่นั่ง หากดูจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดีย กลุ่มชาติพันธุ์เมเตมีอยู่เพียงร้อยละ 53 เท่านั้น แต่กลับมีอิทธิพลอย่างมากในแวดวงการเมือง


รัฐบาลรับมืออย่างไร ?
โมดีนายกอินเดีย.jpg

นับตั้งแต่ความรุนแรงในมณีปุระเริ่มต้น โมดี นายกฯ อินเดีย ในฐานะผู้นำรัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีใดจนกระทั่งคลิปวีดีโอขบวนแห่ประจานถูกปล่อยออกมา โดย โมดี ระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นสร้างความอับอายต่ออินเดียเป็นอย่างมาก ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษ ความโหดร้ายต่อผู้หญิงที่มณีปุระไม่สมควรได้รับการให้อภัย

อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมอินเดียต่างตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดนายกฯจึงออกมาให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ล่าช้านัก

ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภาอินเดีย เห็นชอบรับญัตติการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่ยื่นโดย นิคคัม ทากอร์ หัวหน้าพรรคคองเกรส พรรคฝ่ายค้าน เพื่อบีบให้ โมดี เข้าชี้แจงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในมณีปุระ

โดย โอม เบอร์ลา ประธานสภาฯ เผยว่า จะนัดหารือกับตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง และจะกำหนดวัน-เวลาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 10 วัน หลังมีการเสนอญัตติดังกล่าว

ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงให้สส.ส่วนใหญ่ในสภาฯ เกิดความมั่นใจในการบริหารราชการแผ่นดิน และพ่ายแพ้ในการลงมติหลังการอภิปราย โมดี และคณะรัฐมนตรีอาจจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

อย่างไรก็ดี พรรค BJP ของ โมดี นั้นครองเสียงข้างมากถึง 301 ที่นั่งจากทั้งหมด 542 ที่นั่ง ในสภาฯ ซึ่งหากรวมกับเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลอีกก็จะเป็น 332 ที่นั่ง ถือได้ว่าการลงมติไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ยังไม่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล โมดี ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาเกือบทศวรรษได้.

ที่มา : BBC, Aljazeera

ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog