ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยกับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กำลังส่งกระทบหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และระบบการผลิตของโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ขณะที่ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสามารถบริหารจัดการของรัฐบาลไทย รวมถึงการจัดการของภาคเอกชนด้วย
โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจไทยหนักกว่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์วันนี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากเกิดขึ้นกับประชาชนฐานราก และคนชั้นกลาง ทำให้ได้รับผลกระทบมากกว่าปี 2540 ซึ่งขณะนี้ภาพของธุรกิจเอสเอ็มอี มีโอกาสล้มละลายและเจอสภาวะปิดกิจการจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาว่างงานที่อาจจะรุนแรงกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งกระจุกตัวในภาคการเงินและโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนที่ปิด แต่คราวนี้ได้กระจายวงกว้าง แต่ยังมองในแง่ดีว่าโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ในช่วงครี่งปีหลัง จะทำให้เศรษฐกิจของบางประเทศฟื้นตัวค่อนข้างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ประเทศไทย เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ และมีปัญหาภายในอยู่
“ถ้าเทียบ 2 ช่วง วิกฤตการณ์คราวนี้น่ากังวลมากกว่า เพราะกระทบผู้มีรายได้น้อย ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และกำลังโดนกดทับทางเศรษฐกิจ มีหนี้สินค่อนข้างสูง มีรายได้ต่ำ อาจจะเผชิญสภาวะถูกออกจากงานและลดเวลาทำงาน ไม่มีเงินออม ศักยภาพการหารายได้ และช่องทางอื่นๆ ให้อยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจมีน้อยกว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
มองมาตรการสู้โควิด-19 ชุดแรก ยังไม่เพียงพอ! แนะรัฐศึกษาออกมาตรการคิวอี
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึง "มาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1" ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เช่น มาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) รวมถึงการยืดเวลาชำระหนี้ เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากพอช่วยบรรเทาปัญหาของภาคธุรกิจได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ขณะที่มาตรการทางด้านภาษี เช่น การลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ช่วยบรรเทาปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะถ้าคนได้รับการยกเว้นภาษี หวังว่าคนจะเอาไปจับจ่ายใช้สอย แต่ประเด็นคือ คน หรือ กิจการ คาดการณ์ว่ารัฐบาลก็ต้องขึ้นภาษี ทำให้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเหมือนกัน เพราะนโยบายการคลังระยะต่อไปต้องขึ้นภาษี และเก็บส่วนต่างที่หักไม่ครบอยู่ดี ฉะนั้นผลกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้แนะว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอีก โดยต้องทำให้ 'เร็วและแรง' พอเพื่อให้ผลิกเศรษฐกิจได้ เช่น มาตรการ QE หรือ Quantitative Easing ซึ่งเป็นการทำนโยบายการเงินแบบนึง โดยหลักการจะเป็นสร้างกลไกนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมากๆ หรือเป็นดอกเบี้ยติดลบ เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินต่ำ โดยคาดหวังให้เอกชนลงทุน ประชาชนกล้าใช้จ่ายมากขึ้น
"อาจจะต้องเป็นมาตรการแรงๆ และชั่วเวลาหนึ่ง เมื่อดีขึ้นก็ถอนออก เช่น นโยบายคิวอีควรนำมาศึกษาดู ว่าเศรษฐกิจไทยสมควรใช้คิวอีหรือไม่ แต่ยังไม่ต้องใช้ก็ได้ แต่ก็ควรศึกษาไว้ เผื่อกรณีที่เกิดวิกฤติที่รุนแรงแล้วก็สามารถนำมาใช้ได้ เพราะการลดดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งเปอร์เซ็นต์อาจจะยังไม่เพียงพอ กระตุ้นให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น อันนี้เกี่ยวกับมาตรการนโยบายการเงิน" ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
ชี้มาตรการสู้โควิด-19 ชุดที่ 1 เกิดเงินหมุนเวียนไม่ถึง 400,000 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมิน "มาตรการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1" จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 400,000 ล้านบาทนั้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเม็ดเงินที่คำนวณส่วนหนึ่งเป็นมาตรการจากซอฟต์โลน เมื่อเอกชนหรือธุรกิจกู้เงิน แต่ไม่ได้นำไปดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ไม่นับว่าเป็นเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบ
ไม่ค้านแจกเงิน แต่ต้องมั่นใจว่าให้ตรงจุด ตรงกลุ่ม!
ส่วนมาตรการการคลัง ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า การแจกเงินรัฐบาลสามารถแจกได้ในบางสถานการณ์ แต่ว่าการแจกเงินจะต้องให้ตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย และต้องมีวิธีการที่มีประสิทธิภาพให้เกิดการหมุนหลายรอบ และทวีคูณในการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าสามารถทำได้ก็จะช่วยประคองเศรษฐกิจได้ในระยะหนึ่ง
ส่วนมาตรการเกี่ยวกับการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือนร้อนทางเศรษฐกิจได้ แต่ประเด็นใหญ่ตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้สถานประกอบการไม่เลิกจ้างคนงาน ที่สำคัญ คือ ต้องเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยังมีปัญหาเฉพาะหน้าคือเรื่องภัยแล้งอีก
"ปัญหาเฉพาะหน้าของเรามีภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเยอะ ทีนี้ก็ต้องมานั่งดูว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ มีงานทำ เมื่อภัยแล้งหนักหนักเขาก็ไม่จ้างงาน ไม่มีรายได้ และต้องเข้าใจคนกลุ่มนี้มีหนี้สิน ฐานะทางเศรษฐกิจก็ไม่ดี ฉะนั้นต้องมีมาตรการที่ชัดเจน พูดได้ว่าเอางบประมาณมาช่วยได้ แต่ประเด็นคืองบมีจำกัด ดังนั้นต้องมีการจัดสรรใหม่ อะไรไม่จำเป็นให้ชะลอออกไปก่อน เช่น การซื้ออาวุธต้องหยุดไว้ก่อน เรื่องไหนไม่จำเป็นต้องตัด เอาเงินทั้งหมดมาดูแลเรื่องสำคัญก่อน" ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
แนะรัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่สุดตอนนี้ ต้องทำให้โรงพยาบาลดูแลการแพร่ระบาดให้ได้ ต้องทุ่มเทงบประมาณและบุคลากรลงไปให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าคนไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องปัญหาการติดเชื้อ หรือการแพร่ระบาดของโรค ต่อให้รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ก็ไม่ทำให้คนออกมาใช้จ่าย หรือออกมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ดี เพราะคนทุกคนก็ต้องห่วงชีวิตของตัวเอง
“จะทำอย่างไรไม่ให้คนตื่นตระหนก เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้โรงพยาบาลขาดแคลนหน้ากากอนามัยเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญสุด” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อนุสรณ์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีโอกาสที่จะขยายตัว หรือหดตัวมากกว่าร้อยละ 1 เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่รอรับผลกระทบ รวมถึงปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้
สำหรับการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีีพี) ปี 2563 ก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวที่ระดับร้อยละ 1.8 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าหลายสำนักวิจัย แต่ขณะนี้ขอรอดูปัจจัยทางเศรษฐกิจอีก 1-2 เดือนจึงจะสรุปตัวเลขอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :