กลายเป็นแฮชแท็กติดเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ไปแล้วสำหรับ #ทรงพระสเลนเดอร์ ที่เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เมื่อเย็นวาน (7 กุมภาพันธ์ 2562) หลังทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงตอบคอมเมนท์บนอินสตาแกรมนามแฝง nichax เมื่อมีผู้ลุ้นกันต่อเนื่องว่า พระองค์จะทรงตอบรับ และยินยอมให้พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยทูลกระหม่อมฯ ทรงให้คำตอบว่า “ถ้าลุ้นอย่าพูดว่าทรงพระเจริญเพราะไม่อินเทรนด์ ถ้าจะให้พรก็บอกว่าทรงพระสเลนเดอร์”
สำหรับที่มาของคำๆ นี้ พระองค์ทรงอธิบายไว้ในรายการทูบีนัมเบอร์วันวาไรตี้ (To be Number One Variety) ว่าใช้เพื่อความเป็นกันเอง “คำว่าทรงพระเจริญ นี่ดูไม่เป็นกันเองเนอะ ทำให้รู้สึกว่าเกร็ง รู้สึกว่าห่างเหิน พูดแบบนักการทูต ไม่ได้พูดอย่างเราๆ”
นอกจากนั้น ทูลกระหม่อมฯ ยังทรงให้เหตุผลติดตลกอีกว่า “เจริญแปลว่าอ้วน” ทรงพระเจริญจึงเหมือนบอกให้อ้วนขึ้น อวบสมบูรณ์ขึ้น
“เหตุผลพูดเล่นๆ ว่าทรงพระเจริญแปลว่า ทำให้อ้วน ก็เลยให้พูดว่าทรงพระสเลนเดอร์หรือไม่พูดเลย ถ้าใครอยากพูดก็ให้พูดว่าทรงพระสเลนเดอร์แทน เป็นการให้พรด้วย”
พระองค์ยังทรงแสดงความคิดเห็นย้ำผ่านทางอินสตาแกรมอีกหลายครั้งว่า ให้ใช้คำว่า #ทรงพระสเลนเดอร์ แทนคำว่า #ทรงพระเจริญ เนื่องจากเป็นคำโบราณพ้นยุคสมัยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองวันที่ผ่านมา หลังทรงพระสเลนเดอร์ปรากฏให้เห็นไม่ขาดตามโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนความหมายจะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร มองว่า เดิมทีเจตนาของคำๆ นี้เป็นลักษณะของการนำคำศัพท์แบบกึ่งวัยรุ่นมาช่วยลดระดับความห่างเหิน และสร้างความสัมพันธ์กับคนทั่วไป
“ด้วยการมีลักษณะแบบนี้ เป็นคนทันสมัยขึ้น แนวๆ หน่อย แล้วก็คนรุ่นเด็กๆ ใหม่ๆ ก็ชื่นชมเขาได้ มันเป็นลักษณะแบบนั้น ซึ่งที่ผ่านมา แบรนด์นี้ก็ประสบความสำเร็จนะ ในคนจำนวนหนึ่ง
“คือถ้าเรามองแบบวัฒนธรรมไทย ก็เหมือนชนชั้นสูงลดตัวลงมา เพื่อให้คนระดับที่เขามองว่าต่ำกว่าเนี่ยยอมรับเขา เขาก็ไม่ได้แสดงท่าทางแบบถอยห่างมากนักหรือว่าเชิดหยิ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้วตัวเขาเองก็อยู่ในวัฒนธรรมที่เขาสร้างกัน คือเขาหนีไม่พ้นจากการต้องใช้ราชาศัพท์อยู่”
หากย้อนมองกลับไปที่การใช้คำว่า ทรงพระเจริญ นั้นก็มักจะใช้เป็นคำสรรเสริญแบบหนึ่ง ทว่าในภายหลังคนไทยมีการใช้คำว่าทรงพระเจริญอย่างไม่แยกแยะ กล่าวคือใช้ในทุกสถานการณ์ที่เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ คล้ายกับที่เราใช้คำว่าสาธุทุกครั้งไม่ว่าพระสงฆ์จะกล่าวว่าอย่างไร
“มันถูกใช้โดยคนทั่วไปตามที่เขาอยากใช้ไปแล้วซึ่งให้กำเนิดคำมาได้อีกอย่างหนึ่งในบางบริบท มันเปลี่ยนบริบทการใช้ไปแล้ว ก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ทั่วไป”
ด้วยความเลื่อนไหลของภาษาในลักษณะเดียวกัน คำว่า ทรงพระสเลนเดอร์ ก็เปลี่ยนไปตามบริบทของแต่ละคน และเปลี่ยนไปตามจุดยืนของแต่ละฝ่าย
“ผมมองอย่างนี้ ถ้าเป็นชาวบ้านเขาก็จะรู้สึกว่า การใช้ศัพท์ตามเป็นการแสดงความเคารพ ไม่ได้ลบหลู่ แต่ถ้าเป็นพวกเคลื่อนไหว การใช้ศัพท์นี้อาจจะเป็นการจงใจในแง่ตามกระแสไป เพื่อว่าเหมือนไปหัวเราะเยาะพวก กปปส. พวกที่เคยออกมาแล้วตอนนี้มึนไม่รู้จะไปไหน เขาก็เลยเอาคำนี้มาใช้โดยตรง
“ก็ตอนนี้มันเหมือนว่าใครอยากจะเชียร์ก็จะใช้ ทรงพระสเลนเดอร์แทนไปเลย เป็นการประกาศตัวว่าเชียร์ฝั่งนี้ หรือบางคนก็เอามาใช้เล่น เช่น แหย่อีกฝั่งหนึ่ง เพราะรู้ว่ากำลังใจเขาเสีย ก็แหย่ให้เขาโกรธ หรือใช้แบบสะใจ มันเปลี่ยนไปตามบริบทแต่ละคนเลย ตามจุดยืนของแต่ละฝ่าย”