เมื่อวันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชีย (Asian Forensic Sciences Network: AFSN) ครั้งที่ ๑๖ และการประชุมเครือข่ายองค์การรัฐที่ให้บริการด้านนิติเวชศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (the Asia-Pacifc Medico-legal Agencies Network: APMLA) ครั้งที่ ๑๒ โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายโกมล พรมเพ็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ PBGEN Constancio T Chinayog Jr. ประธานเครือข่าย AFSN ดร.ปานใจ โวหารดี ประธานเครือข่าย APMLA แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย AFSN ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากประเทศสมาชิกเครือข่าย และผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความก้าวหน้าด้านนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์สูงสุดจากทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกากว่า ๓๐ ประเทศ เข้าร่วมฯ ณ ห้องประชุมเจ้าพระยา ชั้น ๒ หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “เมื่อความจริงปรากฎ ความชั่วร้ายจะหายไป” ซึ่งในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานหรือเรียกว่าการค้นหาความจริงนั้น ข้อเท็จจริงด้านนิติวิทยาศาสตร์และด้านนิติเวชเป็นข้อเท็จจริงที่มีความมั่นคงในความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่น โดยต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีในการตรวจพิสูจน์ และมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูหลักนิติธรรม Rule of Law การปฏิรูปประเทศ กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไม่ล่าช้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม สิ่งท้าทายในอนาคตจากความร่วมมือในระดับเครือข่ายน่าจะถึงเวลาที่จะมีการเปิดสถาบันด้านนิติวิทยาศาสตร์ และด้านนิติเวชระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ เครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ทางวิชาการและการวิจัยมาช่วยในการสืบสวน สอบสวนและกระบวนการยุติธรรม เพื่อประโยชน์ต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีประชากรคิดเป็นสัดส่วน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกที่คาดว่ามีประมาณ ๔.๗ พันล้านคน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างมีทางเลือก ซึ่งเริ่มจากประเด็นท้าทายที่สำคัญ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านมนุษยธรรม ด้านการปกป้องคุ้มครองประชาชนให้พ้นภัยจากอาชญากรรมและยาเสพติด การทรมาน การอุ้มหาย การวิสามัญฆาตกรรม การสังหารนอกระบบ การพิสูจน์การเสียชีวิตในสถานที่คุมขัง การเสียชีวิตในสถานการณ์ข้อพิพาททางอาวุธ หรือการเสียชีวิตจากภัยพิบัติธรรมชาติ โดยมุ่งมั่นที่จะให้ระบบยุติธรรมมีความเป็นธรรมตามความเป็นจริงที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ใช้บริการและในการพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์คู่กรณีในกระบวนการยุติธรรม การประชุมวิชาการครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้เห็นความก้าวหน้าในด้านนิติวิทยาศาสตร์และด้านนิติเวช ซึ่งจะช่วยกันยกระดับคุณภาพความน่าเชื่อถือ และการยอมรับของกระบวนการยุติธรรมที่อยู่บนหลักการของบริการนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ การจัดประชุมเครือข่ายวิชาการมีกำหนดจัดขึ้นทุกปี โดยประเทศสมาชิกที่เป็นกรรมการบริหารเครือข่ายจะรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหมุนเวียนกัน ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับโอกาสในการจัดโครงการประชุมวิชาการเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชีย (Asian Forensic Sciences Network: AFSN) ครั้งที่ ๑๖ และการประชุมเครือข่ายองค์การรัฐที่ให้บริการด้านนิติเวชศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (the Asia-Pacifc Medico-legal Agencies Network: APMLA) ครั้งที่ ๑๒ ขึ้น โดยกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๖-๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๗