นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และ H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภายในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd จังหวัดชลบุรี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท CtrlS Datacenters จากประเทศอินเดีย เพื่อตั้งโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ (Hyperscale Datacenters) ในประเทศไทย โดยมี จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีซี และ Mr.Siddharth Singh รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาด (Senior Vice President, Marketing) บริษัท CtrlS Datacenters เป็นผู้ลงนามสัญญา
ทั้งนี้ จุฬา กล่าวว่า การลงนามสัญญาฯ ครั้งนี้ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของพื้นที่อีอีซี โดย บริษัท CtrIS ผู้ประกอบการดาตัาเซ็นเตอร์ชั้นนำระดับโลก (Hyperscale Tier4) จากประเทศอินเดีย และรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้เช่าพื้นที่ภายในเขต EECd ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจากอีอีซี จำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี ลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลด้านดิจิทัสได้สูงสุด และถือเป็นการขยายฐานการลงทุนนอกประเทศครั้งแรก รับกลุ่มลูกค้าด้านบริการข้อมูลชั้นนำระดับโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท
โดยจะมีการลงทุนเฟสแรก 4,500 ล้านบาท และเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนก.ค. และเริ่มปฏิบัติงานได้จริงในปีหน้า สร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ให้อีอีซี ประมาณ 1,300 ล้านบาท สนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 อัตรา เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับ บริการระบบข้อมูล (Cloud Service) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ การลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ จะใช้เทคโนโลยีจัดการพลังงาน และพลังงานสะอาดรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 150 เมกะวัตต์ รวมทั้งที่ตั้งจะอยู่ใกล้สถานีเคเบิ้ลใต้น้ำชลี 3 จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อที่มีความพร้อมทั้งโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน ด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำประสิทธิภาพสูง และเชื่อมต่อไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ
โดยคาดว่า จะพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 และจะเป็นโครงการสำคัญ ให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค รองรับนักลงทุนในและต่างประเทศในธุรกิจดิจิทัลขั้นสูง เช่น 5G ระบบ AI,Cloud ,IoT ,Smart City และสามารถดึงดูดผู้ประกอบการด้านบริการข้อมูลระดับโลกให้เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต่อไป
จุฬา ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd ว่า บริษัท CtrIS จากประเทศอินเดีย ถือเป็นรายแรกที่เข้ามาลงทุนใน EECd ซึ่งปีที่ผ่านมา อีอีซีรับมอบพื้นที่มาดูเอง ซึ่งอีอีซีพยายามจะเจาะไปยังบริษัทในเชิงยุทธศาสตร์ โดยคัดเลือกบริษัทที่สามารถช่วยดึงดูดเอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุนต่อได้ และในพื้นที่ EECd จะเน้นส่งเสริมให้กับบริษัทที่ลงทุนด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีต่างๆ
ทั้งนี้ จุฬา เปิดเผยว่า อีอีซีตั้งเป้าให้เกิดการลงทุนจริงประมาณ 1 แสนล้านบาท จากที่ผ่านมาเกิดการลงทุนจริงประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนโรดโชว์ที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นมา เน้นเรื่องพลังงานสะอาดและบีซีจี ซึ่งจะมีการลงทุนตามมาพอสมควร โดยเฉพาะพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฮโดรเจน เป็นต้น
สำหรับภาพรวมการลงทุนในอีอีซี จะมีการเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะล่าสุดมีภาคเอกชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีเอกชนบางรายส่อถอนตัว เพราะไม่เห็นโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เกิด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นั้น นายจุฬา ยืนยันว่า การลงทุนในอีอีซียังมีต่อเนื่อง ซึ่งในปี 66 มีเอกชนตัดสินใจขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 2.6 แสนล้านบาท ก็มีการลงทุนต่อเนื่อง และรถไฟความเร็วสูงจำเป็นต้องมี เพราะเป็นระบบเพิ่มการเชื่อมโยงในพื้นที่อีอีซีกับกทม. ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น และปัจจุบันทางอีอีซีพยายามขับเคลื่อนให้โครงการไปต่อ แม้จะมีความล่าช้าในช่วงที่ผ่านมาก็พยายามหารือกับภาคเอกชน
ทั้งนี้ จุฬา กล่าวว่า การลงทุนหลายโครงการในอีอีซีไม่จำเป็นต้องรอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และใน 5 ปีที่ผ่านมามีการลงทุนต่อเนื่อง และแม้เศรษฐกิจของไทยอาจชะลอตัวไปบ้าง แต่เกิดจากภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยวที่ลดลงไป แต่การลงทุนจากต่างประเทศยังลงทุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จุฬา ยืนยันว่า ยังไม่ได้ถึงขั้นยื่นคำขาดให้กับภาคเอกชนตัดสินใจเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะสัญญาเรื่องนี้ เป็นสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ส่วนอีอีซีเหมือนกับคนช่วยบริหารสัญญา หากเรื่องใดยังติดขัด อีอีซีก็เข้าไปช่วยให้สัญญาไปได้ แต่ยังตอบแทนเอกชนไม่ได้ว่า จะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ แต่กำลังดูว่า เดินต่ออย่างไร
“จะมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง คือ เนื่องจากบีโอไอไม่ต่อขยายเวลาเรื่องสิทธิประโยชน์ แต่ผลของเรื่องนี้จะมีเพียงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอหมดไปจากการที่เคยเสนอให้กับเอกชน แต่เอกชนสามารถขอใหม่ สามารถมาเริ่มใหม่ได้ หรือเอกชนอาจจะขอสิทธิประโยชน์ตามกฏหมายอีอีซีก็ได้เหมือนกัน” จุฬา กล่าว
จุฬา ยืนยันว่า หากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินล่าช้า ไม่กระทบกับโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เพราะแลนด์บริดจ์เป็นการเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ คล้ายกับการทำโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แต่อีอีซีสามารถส่งการพัฒนาไปยังแลนด์บริดจ์ได้