การรณรงร์ของกลุ่มนิยมสาธารณรัฐในครั้งนี้ จะเริ่มต้นขึ้นหลังจากวันฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ 2 มิถุนายนเป็นต้นไป ทั้งนี้ การฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถในพระชันษา 95 พรรษครั้งนี้ จะเป็นการฉลองในวโรกาสที่พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรที่ยังทรงพระชนม์ชีพและครองราชย์นานที่สุดในโลก
เกรแฮม สมิธ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มนิยมสาธารณรัฐของสหราชอาณาจักรระบุว่า
“ในขณะที่เสียงของคนกลุ่มน้อยต้องการจะฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีของราชินี เราจะต้องมองไปที่อนาคต การลงเอยอย่างที่เกิดขึ้นกับกษัตริย์ชาร์ลส์นั้นไม่น่าภิรมย์นัก และมันมีหนทางที่ดี และเป็นทางเลือกแบบประชาธิปไตยที่จะมอบให้” สมิธกล่าวถึงอนาคตของสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ที่อาจจะจบลงแบบอดีตกษัตริย์ชาร์ลส์ของอังกฤษซึ่งถูกบั่นพระเศียร
“มันถึงเวลาที่เราจะต้องมานั่งถกเถียงกันอย่างจริงจังถึงรัฐธรรมนูญของพวกเรา ยอมรับเสียเถิดว่าชาร์ลส์ไม่เหมาะแก่ประเทศนี้ และชาติของเราสามารถเลือกประมุขแห่งรัฐเองได้” กลุ่มนิยมสาธารณรัฐเอ่ยถึงมกุฎราชกุมารของสหราชอาณาจักร เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ว่าไม่มีคุณสมบัติดีพอจะขึ้นเป็นประมุขของสหราชอาณาจักร และประมุขคนต่อไปควรมาจากการเลือกตั้งไม่ได้สืบทอดตามสายเลือด
“มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปฏิเสธข้อกล่าวอ้างที่ไร้สาระเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ความมั่นคง และโพธิสมภารของราชวงศ์ที่แผ่ออกไป และมองในมุมที่สมเหตุผลว่าราชวงศ์คืออะไรกันแน่ และทำให้ประเทศเสียงบประมาณเพียงใด” สมิธระบุ “ราคาดังกล่าวไม่ได้เสียไปแค่เม็ดเงิน แต่คือประชาธิปไตยของเรา สถานะการเป็นประชากร และระเบียบแบบแผนของเราด้วยที่เสียไปด้วย”
กลุ่มนิยมสาธารณรัฐยังได้ระบุถึงเรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์ที่ผ่านมาเพิ่มเติมว่า “มันอยู่แค่ในระยะเวลา 12 เดือนเท่านั้น ที่ราชวงศ์ถูกกล่าวหาในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ ความหน้าซื่อใจคดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้งบประมาณแผ่นดินที่ผิดพลาด การมีความลับ การใช้เงินเพื่อเกียรติยศ การใช้เงินเพื่อเข้าถึงอภิสิทธิ์ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีของเจ้าชายแอนดรูว์ รวมถึงการปกป้องเขาจากกระบวนการยุติธรรม” ทั้งนี้ เจ้าชายแอนดรูว์กำลังเผชิญหน้าอยู่กับข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศ
“สถาบันอันเสื่อมโทรมนี้ไม่ควรมีต่อไป” กลุ่มนิยมสาธารณรัฐระบุ “มันถูกจัดวางเอาไว้เพื่อต่อต้านระเบียบแบบแผนประชาธิปไตยอันฝังรากลงลึกในชาติเรา มันได้กัดกินและซุกความลับ และมันเป็นสิ่งที่แย่ต่อประชาธิปไตยของสหราชอาณาจักร มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองไปยังอนาคต อนาคตที่ปราศจากราชวงศ์” ทั้งนี้ กลุ่มนิยมสาธารณรัฐจะทำการเปิดเผยรายละเอียดการรณรงค์ “ไม่เอาอีก 70 ปีแล้ว” อีกครั้งในอนาคต
จากผลสำรวจของ YouGov ซึ่งก่อตั้งในสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า ในปี 2021 มีคนรุ่นใหม่ระหว่างอายุ 18-24 ปี ของสหราชอาณาจักรจำนวน 41 เปอร์เซ็นต์ต้องการประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่ 31 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้ประมุขแห่งรัฐเป็นพระราชินีและพระราชา สถิติในปี 2021 แสดงให้เห็นว่า ความนิยมในสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรมีความตกต่ำลง หลังจากที่ในปี 2019 มีประชากรอายุ 15-49 ปีที่ยังคงให้การสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรที่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ต่อไปยังคงเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปกว่า 81 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงของการมีอยู่ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยของสหราชอาณาจักรยังคงเกิดขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรไม่มีความผิด และถือได้ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากสถาบันกษัตริย์มีภาวะผูกพันในฐานะองค์กรหนึ่งทางการเมืองที่ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การจัดทำผลสำรวจความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยผู้จัดกิจกรรมไม่ถูกคุกคามจากทางภาครัฐแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีโทษจำคุก 2 ปี ถูกยกเลิกลงตั้งแต่ปี 2010 โดยการดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์สหราชอาณาจักรเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 1715 หรือราว 3 ศตรวรรษที่แล้ว
ที่มา:
https://www.independent.co.uk/news/uk/politics/british-abolish-monarchy-survey-queen-b1851243.html