ไม่พบผลการค้นหา
4 องค์กรเห็นพ้อง คสช.ใช้ ม.44 ช่วยผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทำผลประโยชน์ชาติเสียหายนับแสนล้านบาท เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว

ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ ม. 44 อุ้มมือถือ : ใครได้ ใครเสีย และใครเสียท่า ?

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจกิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะประเด็นช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ที่ได้ขยายเวลาการชำระเงินประมูล 4G ในคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเวลา 10 ปี เท่ากับยกผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ, ให้อภิสิทธิ์ในการครองตลาดต่อเพราะแถม 5G, เอื้อประโยชน์นายทุนและผู้ถือหุ้น, เสี่ยงต่อการทุจริต, ขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ สร้างความเสียหายกับประเทศและประชาชนมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เพราะการยืดเวลาการชำระหนี้ไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยจากระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น

นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการริดรอดสิทธิประชาชนอย่างชัดเจน เพราะเป็นการเอื้อผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีสาระอะไรในการให้ประโยชน์กับผู้บริโภค ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท จากการผูกขาดคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะมีการจัดสรรให้กับผู้ประกอบการใช้เพื่อ 5G ในราคาเพียง 25,000 ล้านบาท จาก 15 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ประมูลจบไปล่าสุดจำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ ถูกประมูลไปกว่า 70,000 ล้านบาท ถือเป็นการปิดดีลการแข่งขันด้านโทรคมนาคม ซึ่งรัฐไม่ควรดำเนินการในลักษณะนี้ เนื่องจากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว

นางบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้นับแสนล้านบาท โดยคลื่นความถี่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ รัฐไม่ควรดำเนินการในลักษณะที่ทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ ส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตุว่าเหตุใดจึงต้องออกคำสั่งในช่วงวันหยุดที่ยากต่อการคัดค้านหรือตรวจสอบ ขณะเดียวกันได้ตั้งคำถามว่าหากประชาชนจะขอยืดชำระหนี้การใช้บริการ 10 เดือนได้หรือไม่

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวคือเรื่องไม่ปกติ และจะสร้างปัญหาระยะยาวต่อส่วนรวมแน่นอน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการได้ทำความเข้าใจและยอมรับกติกาการประมูลคลื่น 4G ที่เกิดขึ้น มีการวางแผนการเงิน บริหารความเสี่ยง ก่อนระดมทุนเป็นอย่างดี ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการทั้ง 3 รายที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ละรายมีกำไรหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นขอตั้งคำถามว่าในคำสั่งนี้มีความโปร่งใสเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลโดยตรง