น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม และมีบางส่วนที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้น
ในข้อเท็จจริงแล้ว มติ ครม. ดังกล่าวเป็นการปรับแก้หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ให้มีขั้นตอนและระยะเวลาใหม่เพื่อให้เร่งรัดกระบวนการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนอยู่แล้ว มิได้เป็นการยกเว้นการต้องดำเนินการตามข้อกฎหมายที่อยู่แต่อย่างใด และในปัจจุบันบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม ตามมติ ครม. ก็เป็นผู้ที่ได้ยื่นต่อทางการและอยู่ในกระบวนการเพื่อขอมีถิ่นที่อยู่ถาวร และขอมีสัญชาติแล้ว
"ตามหลักเกณฑ์ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อ ครม. และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยว่ากรณีบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทยตามมติ ครม. ได้รับสัญชาติแล้ว ปรากฏในภายหลังว่า มีพฤติกรรมหรือคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถถอดถอนสัญชาติไทยในภายหลัง ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติได้" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลักเกณฑ์ฯ ที่ผ่าน ครม. เป็นการดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเท่าเทียมในชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ. 2542 จำนวน 3.4 แสนคน และเป็นคนไทยที่เกิดในประเทศไทย จำนวน 1.4 แสนคน แต่ติดเงื่อนไขจากกฎหมายในอดีต ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างคนไทยได้ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เพราะไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่ใช่เป็นการให้สัญชาติแก่คนต่างด้าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติของกลุ่มคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยไว้ในอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2542 และสำรวจเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2548 - 2554 พบว่ามีกลุ่มคนไร้สัญชาติคงเหลืออยู่ทั้งสิ้น ประมาณ 4.8 แสนราย อาทิ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน มากกว่า 20 ปี จำนวน 19 กลุ่ม ในจำนวนนี้ เป็นบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูง ประมาณ 124,000 ราย รวมถึงผู้ที่ตกหล่นจากการสำรวจในอดีตประชากร ประมาณ 215,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของชนกลุ่มน้อย 29,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของบุคคลที่ไม่มีสถานะตามทะเบียนประมาณ 113,000 คน