ไม่พบผลการค้นหา
'ประยุทธ์' พร้อมคณะร่วมทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู คาดใช้งานได้ปลายปีนี้ หวัง​ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

วันที่ 10 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) และร่วมทดสอบการเดินรถ จาก สถานีมีนบุรี สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ มาลงที่สถานีลาดปลาเค้า โดยมีรัฐมนตรีร่วมคณะ​ ประกอบด้วย​ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก​รัฐมนตรี​ ,อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาการรัฐมนตรีว่าการฯ และ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด 

IMG_20230710164225000000.jpg

หลังจากนั้นทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีชมพู นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาดูการทดสอบก่อนเปิดใช้งานจริงในช่วงสิ้นปีนี้ ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 97 เหลืออีกร้อยละ2-3 ซึ่งยังมีปัญหาของการทำระบบทางเชื่อม สรุปว่าวันนี้เส้นทางสายสีชมพู วิ่งได้ตลอดทั้งสายแล้ว แต่จะเปิดได้ครบทุก 30 สถานี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 จะเปิดใช้งานได้ในปลายปี 2566 จะเห็นว่าใช้เวลานานมากพอสมควร ไม่ได้ทำได้ง่ายๆเพราะมีกระบวนการเยอะ ตั้งแต่เริ่มโครงการ การกำหนดทีโออาร์ การประกวดราคา ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน

แต่ข้อสำคัญคือขอขอบคุณ ภาคประชาชนที่รัฐบาลสามารถ ทำเรื่องที่ดินได้สำเร็จโดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดิน ซึ่งถ้าอยากได้อะไร และร่วมมือกัน ก็สามารถทำได้หมด โดยให้ความเป็นธรรมและดูแลซึ่งกันและกัน เป็นไปตามกฎหมายและกระบวนการเหมือนกันซึ่งรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน ซึ่งมีความปลอดภัยและขอให้มั่นใจ หลายคนอาจไม่คุ้นชิน จะเห็นว่าได้พยามทำให้มีทางเชื่อมไปยังสถานที่สำคัญๆ ในหลายๆสถานี รวมถึงมีที่จอดรถ รองรับได้2,000-3,000 คัน วันนี้ได้ทำตามโครงสร้างที่ได้ร่างไว้ คงไม่ใช่เฉพาะรถไฟฟ้า แต่ต้องดูโครงสร้างทั้งหมด ทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ที่เรียกว่าคำเชื่อมโยง นั่นคือนโยบายเรื่องการทำโครงสร้างพื้นฐาน และกายภาพ ซึ่งหวังว่าทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

IMG_20230710164223000000.jpg

โดยโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานีรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ซึ่งหนึ่งขบวนมี 7 ตู้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูรวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่ากว่า 53,490 ล้านบาท​ พร้อมกับมีจุดเชื่อมรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัฐ​ หรือ​ สีม่วง​ ที่ศูนย์ราชการนนทบุรี สายสีแดง​ ที่สถานีหลักสี่ สายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และสายสีส้มที่สถานีมีนบุรี