รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศเตรียมปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ กว่า 1.25 ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ชี้ว่า 'เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด' และ "เป็นปัญหาที่ไม่อาจหลีกหนี"
'โยชิฮิเดะ ซุกะ' นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ย้ำชัดว่า "การปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วออกสู่ทะเลคือหนทางที่เป็นไปได้จริงที่สุด...เราจะทำสุดความสามารถเพื่อรักษาสภาพน้ำให้อยู่เหนือมาตรฐานความปลอดภัย"
แม้ประกาศอย่างเป็นทางการจะออกมาในปีนี้ แต่การปล่อยน้ำเสียจะเริ่มเกิดขึ้นจริงในอีก 2 ปีข้างหน้า และอาจใช้เวลาเกือบ 40 ปี ในการปล่อยน้ำเสียปริมาณเทียบเท่า 500 สระว่ายน้ำสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ออกสู่ท้องทะเล
น้ำจากบ่อกักเก็บของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่จะปนเปื้อนรังสี 'ทริเทียม' ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจน ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตหากได้รับในปริมาณน้อย
ข้อสรุปดังกล่าวมีสาเหตุมาจาก พื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของ Tokyo Electric Power (TEPCO) ซึ่งตั้งอยู่ที่ จังหวัดฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่กักเก็บและบำบัดน้ำเสียเหล่านี้กำลังจะมีไม่เพียงพออีกต่อไป
ตามข้อมูลจาก statista TEPCO เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สุดในญี่ปุ่น ทั้งยังรั้งอันดับที่ 4 ของโลก เป็นรองแค่เพียง Enel จากอิตาลีที่รั้งอันดับ 1 และ EDF และ ENGIE ของฝรั่งเศสที่ครองอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
แทบจะทันทีหลังประกาศอย่างเป็นทางการจากญี่ปุ่นออกมา 'กรีนพีซ ญี่ปุ่น' ออกแถลงการณ์ประณามท่าทีดังกล่าว โดยย้ำว่า "เป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและผลประโยชน์ของผู้คนในฟุกุชิมะ ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยสิ้นเชิง"
คาซึเอะ ซูซูกิ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานของกรีนพีซญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นทำให้ชาวฟุกุชิมะผิดหวังอีกครั้ง จากการตัดสินใจที่ไม่ยุติธรรม โดยการจงใจทิ้งของเสียปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
"แทนที่จะใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อลดอันตรายจากรังสีโดยการจัดเก็บและบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีในระยะยาว พวกเขากลับเลือกใช้ทางเลือกที่ถูกที่สุด โดยการทิ้งน้ำปนเปื้อนรังสีลงในมหาสมุทรแปซิฟิก"
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยกรีนพีซญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าชุมชนส่วนใหญ่ในฟุกุชิมะและประชาชนในญี่ปุ่น ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนรังสีนี้ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้สมาพันธ์สหกรณ์การประมงแห่งประเทศญี่ปุ่นยังออกมาคัดค้านอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้
ด้าน เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซ สากล กล่าวว่า "ในศตวรรษที่ 21 เมื่อโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาสมุทรของโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและภัยคุกคามมากมาย รัฐบาลญี่ปุ่นและ บริษัท TEPCO กลับคิดว่าพวกเขาสามารถตัดสินใจได้อย่างชอบธรรมที่จะทิ้งกากนิวเคลียร์ลงในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเจตนา การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการละเมิดพันธะกรณีทางกฎหมายของญี่ปุ่น ภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า”
เมื่อ 11 มี.ค. 2554 เวลาประมาณ 14.46 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดขึ้น นอกชายฝั่งญี่ปุ่น มีจุดเกิดแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้พื้นดิน 32 กิโลเมตร
นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกสมัยใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2443
ความรุนแรงจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่สูงกว่า 14 เมตร ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิได้รับความเสียหาย ทั้งยังมีเหตุระเบิดใหญ่ขึ้นภายหลังจากการโดนสึนามิถล่ม จนสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหลออกมา
ประชาชนนับแสนคนต้องอพยพจากบ้านเรือนของตัวเอง จากนั้น รัฐบาลก็ทยอยยกเลิกคำสั่งอพยพตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้ชาวฟุกุชิมะค่อยๆ กลับไปใช้ชีวิตอย่าง "ปกติ" ที่บ้านของตัวเอง แม้แทบไม่มีอะไรกลับไปเป็น 'ปกติ'
อ้างอิง; NYT, BBC, DW, Science
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;