นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร โดยระบุว่า หลักเกณฑ์ในการได้รับเงินเยียวยาจะพิจารณาจากการสำรวจทะเบียนเกษตรกรจากหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ทั้งในส่วนกระทรวงเกษตรและนอกกระทรวงเกษตรทั้งหมด 7 หน่วยงาน เพื่อรวบรวมจำนวนเกษตรกรส่งมอบให้กับกระทรวงการคลังในการพิจารณาจ่ายเงินเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนคนที่ยังสามารถประกอบอาชีพได้ มีรายได้ประจำ ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ ว่าจะจ่ายให้ใครบ้าง
ทั้งนี้ กระบวนการในการดำเนินการตนได้มีการรวบรวมรายชื่อเกษตรกร ที่มีการขึ้นทะเบียนกว่า 10 ล้านราย และเมื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อน เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2563 พบว่ามีจำนวน 8.3 ล้านราย ที่ได้ส่งให้กับกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในสำนักงานประกันสังคม ตาม ม.33 หรือข้าราชการบำนาญ และบางคนได้รับเงินเยียวยาจากโครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลังไปแล้ว กระทรวงเกษตรและมีการตัดสิทธิ์ไปอีกประมาณ 500,000 ราย
ดังนั้น จึงเหลือตัวเลขที่จะส่งไปยังกระทรวงการคลัง 7.8 ล้านคน คือคนที่ยืนยันสิทธิ์ก่อนวันที่ 30 เม.ย. โดยขณะนี้ได้มีการอนุมัติแล้ว 6.85 ล้านคน และส่วนที่เหลือที่มีเอกสารไม่ครบถ้วนรอดำเนินการแก้ไข ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาว่า ใครจะได้รับสิทธิ์ในส่วนนี้ ก่อนจะส่งข้อมูลให้กับธนาคารเพื่อการเกษตร และโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงกับผู้ได้รับสิทธิ์ และมีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรใหม่ในวันที่ 1-15 พ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมียอดเกษตรกรที่ยื่นทบทวนสิทธิ์และลงทะเบียนรายใหม่อีกประมาณ 1 ล้านราย
ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มเป็นเกษตรกรจริงแต่ยังไม่ได้เพาะปลูก เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งหรือปัญหาอื่นๆ ซึ่งได้มีการหยุดสิทธิ์เพื่อที่จะรักษาสิทธิ์ให้กับเกษตรกรโดยให้ลงทะเบียนภายในวันที่ 15 พ.ค. และระยะเวลาการรับรองสิทธิ์ยื่นให้ถึงวันที่ 15 ก.ค. เพื่อให้ทำการเพาะปลูกและแจ้งต่อคณะกรรมการผู้ตรวจสอบหลังการเพาะปลูก 15 วันตามหลักการ โดยจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. และได้รับเงินเยียวยาครั้งเดียวจำนวน 15,000 บาทกรณีการยื่นอุทธรณ์นั้น เกษตรกรที่ถูกตัดสิทธิ์กลุ่มแรกสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตั้งแต่ วันนี้-5 มิ.ย. และกลุ่มที่สองสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.-5 มิ.ย.
นายเฉลิมชัย ย้ำว่า เกษตรกรอยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ว่า กรณีที่อยู่ในประกันสังคมหากถูกพักการเลิกจ้าง สำนักงานประกันสังคมก็จะเข้าไปดูแลอยู่แล้วเพราะฉะนั้นโครงการเยียวยาเกษตรกรจึงไม่ได้ให้สิทธิ์ เกี่ยวกับข้าราชการบำนาญที่ไม่มีสิททธิ์ได้รับเงินเยียวยา เนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐดูแลอยู่แล้ว ส่วนเกษตรกร ที่เป็นข้าราชการด้วย ไม่มีการกำหนดผู้ที่ได้รับสิทธิ์ที่เป็นข้าราชการ และในส่วนนี้ได้รับการดูแลจากรัฐบาลที่มีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์