ไม่พบผลการค้นหา
‘หมอชลน่าน’ เผยไม่แสดงตน เป็นกลไกการทำหน้าที่ของสภาฯ ระงับยังยั้ง กม.ที่ไม่เห็นชอบ

วันที่ 4 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงกรณีที่การประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 2565) ล่มว่า มีนัยทางการเมืองจริง เพราะพรรคเพื่อไทยมีเจตนารมย์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรก แต่เมื่อมีการสั่งการให้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) ด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หาร 500 ดังนั้นสิ่งตนคิดมาตลอดในการทำหน้าที่ในสภาฯ คือ จะทำอย่างไรให้กฎหมายที่ถูกเสนอโดยชอบนั้นกลับมามีผลบังคับใช้ให้ได้ โดยมี 3 แนวทางคือ 

1. ปล่อยให้มีการลงมติในวาระที่สาม แล้วจึงไปรอคำทักท้วงจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาให้ตีกลับมาพิจารณาใหม่

2. คว่ำกฎหมายในวาระที่สาม หรือให้เสียงสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

3. ปล่อยให้มีการพิจารณาไม่ทันตามกรอบเวลา 180 วัน

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ระบุอีกว่า ต้องดูที่ตัวร่างกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบ และต้องการให้มีการบังคับใช้หรือไม่ ซึ่งถ้ามองว่ามีปัญหา อย่างการลงมติตามกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ซึ่งขัดหลักการบัตรสองใบในระบบคู่ขนานที่แก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว และจะทำให้ยิ่งมีปัญหามากขึ้นในการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อไป เพราะฉะนั้น ตามกลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ที่ระบุว่า ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน ถ้าประชุมไม่แล้วเสร็จให้ใช้ร่างกฎหมายที่เสนอมาในวาระแรกบังคับใช้ได้เลย นี่จึงเป็นทางออกในการระงับยับยั้งกฎหมายที่สมาชิกเห็นว่าไม่ชอบ และบังคับใช้ไม่ได้ 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยไตร่ตรองมาตั้งแต่แรกแล้วว่า ชอบแนวทางที่ 3 เพราะแนวทางที่ 1 เราไม่รู้ว่าองค์กรเหล่านั้นจะทักท้วงมาหรือไม่ ส่วนแนวทางที่ 2 กฎหมายจะตกไปซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียวในสูตรหาร 500

“เพื่อไทยชอบแนวทางที่ 3 บอกให้เลย แต่ไม่จำเป็นต้องประกาศ เพราะเราเห็นว่า 500 ไม่ชอบด้วยกระบวนการ ทางออกมีทางเดียวคือกรอบเวลา 180 วัน มันไม่ใช่เป็นเกม แต่เป็นกลไกทางสภาฯ ที่เราคิดว่าเหมาะสมที่สุด ส่วนใครจะมาร่วมด้วยอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ชลน่าน กล่าว 

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยยึดประโยชน์สูงสุด ด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ยึดติดว่าจะหารด้วยอะไร ซึ่งความพยายามในการระงับยับยั้งกฎหมายคงเป็นเพราะสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งเห็นแล้วว่ากฎหมายมันมีปัญหา ซึ่งการไม่เป็นองค์ประชุม หรือไม่ร่วมลงมติ ถือเป็นกลไกการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง จะดีหรือไม่ดี ให้ดูผลที่เกิดขึ้น หากเป็นผลดีต่อประเทศชาติถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้านั่งอยู่ในสภาฯ เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของผู้มีอำนาจ ตนไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่ดี 

“มันเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ที่เสนอมาแต่แรก ซึ่งครม. ควรจะต้องอับอาย ที่หักร่างตัวเองทิ้งกลางสภาฯ” นพ.ชลน่าน กล่าว