นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้และพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ปี 2567 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 15.30 น. โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนเอกชนกว่า 10 กลุ่ม ธุรกิจ 20 เครือ 18 บริษัท อาทิ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ผู้ผลิตสินค้า ค้าปลีก-ค้าส่ง โรงแรม หมู่บ้าน-คอนโด ปั้มน้ำมัน สายการบิน แพลตฟอร์ม อุตสาหกรรมแปรรูป-ส่งออก และนิคมอุตสาหกรรม และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมด้วย ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า
'ทุกหน่วยงานได้รับข้อสั่งการจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ดำเนินการเชิงรุก ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ควบคู่ไปกับพืชเศรษฐกิจหลัก รวมไปถึงสินค้าอาหารที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน ทุกส่วนจะร่วมกันบริหารจัดการ สร้างสมดุลทุกฝ่าย ให้กระจายสินค้าได้ทั่วถึง ให้คนไทยมีโอกาสบริโภคผลผลิตมากขึ้น บริหารสินค้าตามไทม์ไลน์ของผลผลิตในแต่ละเดือน ถ้าล้นตลาดจะบริหารจัดการร่วมกัน ทำงานเชิงรุกว่าแต่ละเดือนส่วนไหนต้องการสินค้าประเภทอะไร จะนำไปขาย แจกจ่ายหรือดูแลหน่วยราชการ อาทิ กองทัพ ราชทัณฑ์ เป็นต้น
เชื่อว่าทั้งปี จะสามารถควบคุมสินค้าให้มีราคาที่เหมาะสม แก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดได้ดีมากขึ้น และกระทรวงการคลังรับไปจัดการหาจุดสมดุลอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน ภายใต้นโยบาย 'ส่งเสริมคนตัวใหญ่และสนับสนุนคนตัวเล็กให้อยู่ได้ มีศักยภาพที่สูงขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในทุกส่วนอย่างสมดุล'
มาตรการดูแลพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง บริหารจัดการผ่าน 8 กลไก ได้แก่
1.การกระจายออกนอกแหล่งผลิต
2.การเชื่อมโยงต้นทาง-ปลายทาง
3.การทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า
4.การผลักดันส่งออก
5.การส่งเสริมการแปรรูป
6.การรณรงค์บริโภค
7.การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง
8.ความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตร
ทั้งนี้ ได้มีการนำร่องดูแลพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ได้แก่ ผลไม้ ผัก พืช 3 หัว (หอมใหญ่ กระเทียม หอมแดง) โดยจะร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนยักษ์ใหญ่กว่า 10 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 18 บริษัท ซึ่งมีความยินดีช่วยเชื่อมโยงรับซื้อจากเกษตรกรในเบื้องต้น รวมปริมาณกว่า 313,000 ตัน เสริมเพิ่มเติมจากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการไว้ก่อนหน้าแล้ว 1.344 ล้านตัน รวมปริมาณทั้งสิ้น 1.657 ล้านตัน และยังมีภาคเอกชนรายใหญ่อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาช่วยเชื่อมโยงรับซื้อเพิ่มเติมอีกในอนาคต
ส่วนสินค้าผลไม้ จะมีการติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต และการตลาดผลไม้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย ลองกอง ที่จะออกสู่ตลาดมากในระยะต่อไปกว่า 3 ล้านตัน
สำหรับปี 2567 ผลผลิตผลไม้ได้ออกสู่ตลาดเกินกว่าครึ่งทางแล้ว พบว่า 'ราคาดีทุกตัว' ไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ เป็นผลจากที่รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2567 ไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 รวมถึงการจัดคณะเจรจาเรื่องด่านกับรัฐบาลจีน ในช่วงก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ส่งผลให้ภาคการส่งออกมีความคล่องตัว ไม่ติดขัด
ในปี 2567 พืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง มีจำนวน 18 ชนิด คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 7.5 ล้านตัน แยกเป็นผลไม้ 11 ชนิด ได้แก่ 1.ทุเรียน 2.มังคุด 3.เงาะ 4.ลองกอง 5.ลำไย 6.สับปะรด 7.ลิ้นจี่ 8.ส้มโอ 9.ส้มเขียวหวาน 10.มะยงชิด 11.มะม่วง ผัก 4 ชนิด ได้แก่ 1.มะนาว 2.มะเขือเทศ 3.ฟักทอง 4.พริกขี้หนูจินดา และพืชสามหัว 3 ชนิด ได้แก่ 1.หอมแดง 2.หอมหัวใหญ่ 3.กระเทียม