ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนแอลจีเรียรวมตัวติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 เดินขบวนขับไล่ประธานาธิบดีซึ่งถูกกล่าวหาว่ายื้ออำนาจ ขณะที่กองทัพปรับท่าทีโดยประกาศ 'อยู่ข้างประชาชน' หลังจากตอนแรกขู่ว่าจะแทรกแซงหากเกิดความไม่สงบภายในประเทศ

การเดินขบวนขับไล่นายอับเดลาซิส บูเตฟลิกา ประธานาธิบดีแอลจีเรีย วัย 82 ปี เกิดขึ้นทุกวันศุกร์ นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2562 และการเดินขบวนครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด จัดขึ้นในวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นหลายหมื่นคน หลัง พล.ท.อาเหม็ด กาอิด ซาลาห์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของแอลจีเรีย สนับสนุนให้รัฐสภาแอลจีเรียใช้มาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญในการพิจารณาถอดถอน ปธน.บูเตฟลิกา พ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

ข้อเรียกร้องของ พล.ท.กาอิด ซาลาห์ เป็นการเปลี่ยนท่าทีจากช่วงแรกที่มีการเดินขบวน เพราะกองทัพเคยประกาศว่าจะไม่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ และท่าทีล่าสุดของกองทัพทำให้มีผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกันตามท้องถนนในกรุงแอลเจียร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นสัญญาณว่ากองทัพน่าจะยืนอยู่ฝั่งประชาชน

อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมบางส่วนเปิดเผยกับอัลจาซีราว่า ไม่อาจไว้วางใจในท่าทีของกองทัพได้มากนัก เพราะที่ผ่านมา ทหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสืบทอดระบอบอำนาจประธานาธิบดีบูเตฟลิกา ซึ่งปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2542 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองแอลจีเรีย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. บูเตฟลิกาประกาศว่าจะไม่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปหากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 5 พร้อมประกาศว่าจะปรับคณะรัฐมนตรีเสียใหม่ ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจากเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.2562 ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และผู้ชุมนุมจำนวนมากไม่พอใจ จึงยืนยันว่าจะไม่ยุติการชุมนุมเป็นอันขาด เพราะมองว่าการปรับเปลี่ยน ครม. เป็นเพียงการยื้อเวลาให้ ปธน.จัดการเรื่องสืบทอดอำนาจให้แล้วเสร็จ ขณะที่กระบวนการพิจารณาถอดถอนบูเตฟลิกาโดยใช้มาตรา 102 ก็ไม่น่าจะหาข้อยุติได้ในเร็วๆ นี้

AFP-แอลจีเรียประท้วงไล่ ปธน.บูเตฟลิกา

"กองทัพเชี่ยวชาญด้านการสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลง"

กระแสความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลบูเตฟลิกา เริ่มขึ้นหลังจากที่เขาได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 4 เมื่อปี 2557 แต่ไม่อาจแก้ไขปัญหาต่างๆ ในประเทศได้ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจและภาวะว่างงาน นอกจากนี้ บูเตฟลิกายังต้องลางานไปรักษาตัวที่ต่างประเทศอยู่เป็นประจำ หลังจากประสบภาวะเส้นเลือดในสมองแตกเมื่อปี 2556 ประกอบกับอายุที่มากแล้ว ทำให้ประชาชนมองว่า เขาควรจะก้าวลงจากตำแหน่งเสียที

การเดินขบวนขับไล่บูเตฟลิกา ซึ่งถือเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของแอลจีเรียนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เริ่มขึ้นระหว่างที่บูเตฟลิกาบินไปรักษาตัวยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อต้นเดือน มี.ค. และการเดินขบวนทุกวันศุกร์มีประชาชนเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ภาพรวมการเดินขบวนยังเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ปราศจากการใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ืทำให้กองทัพแอลจีเรียเปลี่ยนท่าทีต่อผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ชาราน กรีวัล นักวิชาการสถาบันบรุ๊กกิงส์ ระบุว่าท่าทีของ ผบ.ทบ.อาเหม็ด กาอิด ซาลาห์ ที่ประกาศสนับสนุนประชาชน พร้อมระบุว่า "กองทัพคือกรรมการระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่าย" ซึ่งหมายถึง ปธน.บูเตฟลิกากับกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่ สะท้อนทัศนคติของทหาร ที่มองว่าพวกเขามีอำนาจชอบธรรมในการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศ แต่ข้อเท็จจริงในอดีตชี้ว่า กองทัพเป็นสาเหตุของสงครามกลางเมืองแอลจีเรียเมื่อปี 2535 เนื่องจากกองทัพประกาศยกเลิกการเลือกตั้ง เพราะมีแนวโน้มว่ากลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดอิสลามนิยมซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพ จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น

สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานด้วยว่า ผบ.ทบ.อาเหม็ด กาอิด ซาลาห์ ได้ออกมาเตือนกลุ่มผู้เห็นต่างจากกองทัพในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีการระบุชื่อเฉพาะเจาะจง แต่บอกเพียงว่า ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะขัดแย้งกับกองทัพซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญของประเทศ ถือเป็นการ 'ล้ำเส้น' จึงสอดคล้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่บ่งชี้ว่ากองทัพมีความเชี่ยวชาญด้านการสืบทอดอำนาจมากกว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังรายงานอ้างอิงสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางด้านเศรษฐกิจ 'มูดดี้ส์' ซึ่งประเมินว่า ท้ายที่สุดแล้ว กองทัพและขั้วอำนาจในรัฐบาลแอลจีเรีย จะต้องสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรายใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และต้องสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ด้วย เพราะที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ขณะที่บทบาทในอดีตของบูเตฟลิกาซึ่งก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากเจรจาต่อรองกับขั้วขัดแย้งต่างๆ จนนำไปสู่การยุติความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองได้ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เขายังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวแอลจีเรียจำนวนหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในแอลจีเรีย อาจส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ เพราะแอลจีเรียเป็นหนึ่งในผู้ผลิต-ส่งออกเชื้อเพลิงรายใหญ่ของโลก ทั้งยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญของชาติตะวันตกในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ

ที่มา: Aljazeera/ Brooking Education/ New York Times/ Reuters