ไม่พบผลการค้นหา
‘เบญจา’ วอน ‘ประยุทธ์’ หยุดออกใบสั่งใช้มาตรา 112 กดปราบคนเห็นต่าง ใช้กฎหมายทำสงครามกับประชาชนแทนปืน ส่งผลร้ายต่อระบบยุติธรรม ด้าน ‘ส.ส.ก้าวไกล’ แห่ชูภาพ ‘บุ้ง-ใบปอ’ กลางสภาฯ ขอทวงสิทธิประกันตัว

วันที่ 22 ก.ค.2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน เป็นวันที่สี่ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งบิดเบือนการใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ระบบตุลาการบิดเบี้ยวและฉ้อฉล จนไม่อาจไว้วางใจให้อยู่ในตำแหน่งได้อีกต่อไปเพียงวินาทีเดียว เหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการรักษาอำนาจเพื่ออยู่ยาว จึงทำลายระบบกฎหมายปกติ เพื่อควบคุมและกดปราบประชาชนที่เห็นต่าง 

“จะใช้กำลังทหาร ใช้ปืนขู่บังคับประชาชนให้สยบยอม ก็คงจะน่าเกลียด ไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น จึงได้ใช้กฎหมายแบบ Rule by Law ทำสงครามกับประชาชนแทนอาวุธปืน จะได้ดูดีมีอารยะขึ้นมานิดหนึ่ง ทั้งที่ความจริงแล้วก็เป็นการเอากฎหมายมาห่อหุ้มปืนไว้เท่านั้นเอง”

หลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาล คสช. จับกุมพลเรือนดำเนินคดีในศาลทหารกว่า 2,408 คน เช่นเดียวกับการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 116 และ มาตรา 112 อย่างเข้มข้น ก่อนจะเบาบางลงช่วงปี 2561 และกลับมาเข้มข้นอีกครั้งในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และเกี่ยวข้องกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างชัดเจน

เบญจา ยังกล่าวต่อไปว่า ผู้ต้องหาคดี 112 ไม่มีสิทธิสู้คดีอย่างเป็นธรรม ไม่ได้ประกันตัว หรือได้ประกันในวงเงินที่สูง ศาลอ่านคำพิพากษาโดยลับ อีกทั้งยังมีอัตราโทษสูงเกินพฤติการณ์ความผิดด้วย นโยบายการดำเนินคดี ม.112 ผลักดันให้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศ จำนวน 6 คน ถูกบังคับให้สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) ส่งหนังสือถึงรัฐบาล แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายดังกล่าว

เบญจา ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา112  -E616-4E51-B494-15C45F903DE9.jpeg

เบญจา ยังได้เปิดเผยเอกสารสำคัญ หมาย จ.14 ที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี 6 แกนนำ กิจกรรมคนอยากเลือกตั้ง ปี 2561 ว่าด้วยการพิจารณาคดีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช. ระบุว่า แกนนำทั้ง 6 มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้คนขับไล่รัฐบาล ผิดต่อ มาตรา 116 ขัดต่อคำสั่ง คสช. เอกสารนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลนิ้คิดอย่างไรต่อประชาชน

เอกสารระบุว่า ได้มีดำเนินแบบเป็นขั้นตอน ที่ผ่านมาอาจไม่ได้ดำเนินคดีซ้ำ แต่ตอนนี้ต้องทำ เพื่อสร้างความสับสน และจำกัดเสรีภาพให้การแสดงออกทางการเมืองน้อยลง พร้อมดึงเวลาในการแจ้งความออกไป เพื่อให้มวลชนหันไปสนใจข่าวอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาดำเนินคดีอีกครั้ง ทั้งยังมีการใช้ปฏิบัติการไอโอ ด้อยค่าการชุมนุมว่าไม่ได้เป็นพลังบริสุทธิ์ มีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่เบื้องหลัง สร้างความแตกแยกให้สังคม จนสามารถสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลยึดอำนาจได้

“เป็นข้อสรุปว่า ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การครองอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการบิดเบือนกฎหมายอย่างเป็นระเบียบแบบแผน เพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง และผู้มีอำนาจเท่านั้น”

ในปี 2562 แม้การดำเนินคดีกับประชาชนจะน้อยลงหลังการเลือกตั้ง แต่ก็กลับมาอีกครั้งหลังการชุมนุมของประชาชนทวีความรุนแรงขึ้น ในปี 2563 การชุมนุมกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ้างสถาบัน โดยระบุว่า เหตุที่ไม่ใช้มาตรา 112 เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ว่า การใช้กฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันฯ หรือไม่ สุดท้าย 19 พ.ย. 2563 ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม รวมทั้ง มาตรา 112 ด้วย

เบญจา ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา112  -3428-4B29-A9AE-E0131BFA8DED.jpegเบญจา ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา112  -17CA-45EB-93CE-3A9D0ED5290A.jpeg

เบญจา อภิปรายว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศนโยบาย การแจ้งความ มาตรา 112 ก็เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง รวมถึงการรื้อฟื้นคดีเก่ามาเอาผิดด้วย จนเสมือนว่าเป็นการดำเนินคดีตามใบสั่ง แต่เมื่อไม่สามารถหยุดยั้งมวลชนได้ การดำเนินคดีกับแกนนำจึงเปลี่ยนเป็นไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้จะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนจึงอดอาหารประท้วง ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในและต่างประเทศ แม้จะให้ประกันตัว ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันทั้งหมด การบังคับใช้กฎหมายยังมีหลายมาตรฐาน บางพฤติกรรมที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้อง หรือเข้าข่ายความผิด ม.112 แต่ก็ถูกดำเนินคดี เช่น กรณีสาดสีที่พรรคภูมิใจไทย หรือกรณีโฆษณาลาซาด้า 

“พอเจอแรงต้านก็ค่อยผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข บีบแล้วคลาย จำกัดการเคลื่อนไหวด้วยการกำหนดเงื่อนไขประกันตัว แล้วทำเหมือนกันหมด ยิ่งยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้มีอำนาจ อย่างเป็นระบบแบบแผน”

เบญจา ยังได้ขออนุญาตกล่าวแทน บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ เยาวชนผู้ต้องหาทางการเมืองที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และยอมเอาชีวิตเข้าแลกด้วยการอดอาหารเพื่อขอประกันตัว หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมคือการคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่เมื่อเป็นคดี 112 กลับไม่มีใครในกระบวนการยุติธรรม ที่กล้าหาญพอจะยืนยันในหลักการ กลับซ้ำเติมให้ร้ายแรงขึ้น ขนาดรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงอุ้มชู แต่เพียงปล่อยให้เยาวชนกลับไปเรียนหนังสือ ยังไม่ยอมทำ

“เพียงถ้าพวกเราใช้สามัญสำนึกไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ดี นี่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายปกติเช่นที่ควรจะเป็น แต่เป็นการลงโทษเขาล่วงหน้าตามอำเภอใจให้สาสม โบยตีให้หมอบกราบราบคาบ ทำโทษพวกเขาโดยที่ยังไม่ต้องมีคำพิพากษาด้วยซ้ำ” 

“ดิฉันและพรรคก้าวไกล คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง สังคมไทยไม่อาจจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีอนาคต ดิฉันเรียกร้องให้ปล่อย บุ้ง เนติพร และ ใบปอ ณัฐนิช และนักต่อสู้ทางการเมืองทุกคน เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คืนความยุติธรรมให้กับสังคมนี้โดยด่วนที่สุด” เบญจา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ เบญจา อภิปรายในช่วงท้าย ส.ส. พรรคก้าวไกลในที่ประชุม ได้ลุกขึ้นยืน พร้อมชูภาพของ บุ้ง และ ใบปอ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ร่วมกัน

เบญจา ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา112  -6189-445C-94F1-AA175FEE341D.jpeg

พปชร.ประท้วงอภิปรายนอกประเด็น ล่วงเกินศาล

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการอภิปราย กองตรีอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงผู้อภิปรายว่าออกนอกประเด็น เรื่องการให้ประกันตัวเป็นเรื่องของอำนาจศาล ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติ 

ซึ่ง ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม วินิจฉัยว่า เบญจา ยังคงอยู่ในประเด็น แต่ขอติงว่าให้หลีกเลี่ยงการพูดถึงสถาบันฯ โดยไม่จำเป็น และไม่ควรพาดพิงถึงอำนาจตุลาการ เพราะอาจไม่เกี่ยวกับการบริหารของนายกรัฐมนตรี

ทำให้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แย้งว่า สิ่งที่อภิปรายมาจะไม่เกิดขึ้นเลย หากตำรวจไม่ดำเนินการ และย่อมเกี่ยวพันกับนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาองค์กรตำรวจ พร้อมย้ำว่าเนื้อหาอภิปรายเป็นข้อเท็จจริง จึงไม่ทำให้ศาลเสียหาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง