'ศิปปชัย กุลนุวงศ์' นักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ แต่ต้องเผชิญกับมาตรการกักตัวช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 บอกเล่าประสบการณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุว่าเขาเห็นด้วยกับบทความ No Panic Here: I Am in South Korea Watching the Coronavirus Spread ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ National Interest เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา
บทความดังกล่าวระบุว่า สื่อตะวันตกเสนอข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเกาหลีใต้ โดยใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอ่อนไหวและตื่นตระหนก เช่น คำว่า 'แพร่กระจาย' 'เกินควบคุม' ซึ่งทัศนะของผู้เขียน ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวด้วยตัวเอง มองว่าเป็นการสะท้อนภาพที่ไม่เป็นธรรมกับเกาหลีใต้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ตื่นตระหนก และเกาหลีใต้ก็เป็นประเทศเสรี ไม่สามารถจับคนไปเข้าค่ายกักกันเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ แต่รัฐบาลมีการให้ข้อมูลและมีความพยายามอย่างจริงจังในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม
ขณะที่ 'ศิปปชัย' ระบุว่า "เห็นด้วยกับบทความ" โดยยืนยันว่าเขา "ไม่รู้สึกตื่นตระหนกมากนัก" แม้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน และประธานาธิบดีมุนแจอินเพิ่งประกาศสงครามต่อต้านโรคโควิด-19 แต่เมื่อได้เห็นการทำงานของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีความจริงจัง และปรับเปลี่ยนมาตรการ 'รับมือขั้นสูงสุด' ทันทีที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจายรุนแรง แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทำหน้าที่อย่างจริงจัง-แข็งขัน ทำให้คนมีความเชื่อมั่น จึงไม่ตื่นตระหนก และไม่เกิดวิกฤตกักตุนเสบียงอาหารหรืออุปกรณ์ป้องกันเหมือนที่เห็นในเมืองอู่ฮั่นของจีน
ศิปปชัยกล่าวว่า คนเกาหลีใต้จะเลี่ยงกิจกรรมที่พอหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้ที่ต้องไปทำงานหรือออกข้างนอกก็จะดูแลความสะอาดของตัวเอง ขณะที่รัฐบาลบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และตรงตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง (real time) โดยส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับด้วยว่าเกาหลีใต้เคยผ่านวิกฤตโรคซาร์สมาก่อน จึงอาจมีวิธีรับมือไว้แล้วบ้าง
สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ รัฐบาลเกาหลีใต้มีแถลงการณ์ออกมาประมาณวันละ 3-4 ครั้ง มีการส่งเอสเอ็มเอสไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเวลาที่มีประกาศสำคัญๆ และข้อมูลเหล่านี้มีผู้นำไปพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเตือนว่าพื้นที่ไหนบ้างที่มีผู้ติดเชื้อหรือเป็นพื้นที่เสี่ยง ช่วยให้ประชาชน 'มีข้อมูล' ในการบริหารจัดการตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ
นอกจากนี้ยังมี 'จุดตรวจโรคฟรี' แบบไดรฟ์ทรู ซึ่งจากการค้นข้อมูลเพิ่มเติมในสื่อเกาหลีใต้ พบว่าหน่วยงานสาธารณสุขใช้พื้นที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลให้บริการประชาชน โดยจัดเจ้าหน้าที่คัดกรองพร้อมชุดป้องกัน ให้บริการแก่ประชาชนซึ่งต้องการเข้ารับการวินิจฉัยโรค แต่ผู้รับบริการไม่ต้องลงจากรถเพื่อเข้าไปในอาคารโรงพยาบาล แต่สามารถรออยู่ในรถและเคลื่อนตัวไปตามคิวที่รอรับการตรวจวินิจฉัยได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
สื่อประเมินว่าผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทั้งแบบไดรฟ์ทรูและตามจุดบริการขนาดย่อยต่างๆ ทั่วเกาหลีใต้ น่าจะสูงประมาณ 9,000 - 10,000 คนต่อวัน
ขณะเดียวกัน ศิปปชัยระบุด้วยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้แจกหน้ากากอนามัยฟรี โดยจะกระจายไปตามสถานีรถไฟ ทั้งยังมีจุดบริการน้ำยาล้างมือ รวมถึงป้ายและใบปลิวบอกวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ติดให้เห็นกันทั่วไป ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อไปจนถึงลิฟต์ในอาคารต่างๆ
"เมื่อวานดูทีวี เห็นเจ้าหน้าที่เอาของพวกนี้ไปแจกให้คนไร้บ้านด้วย" ศิปปชัยกล่าวในเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่า "สิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้คนตื่นตัว พากันลดกิจกรรมนอกบ้านจนถนนค่อนข้างโล่ง หรือเวลาออกข้างนอกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ก็จะใส่หน้ากากกัน (ไม่ใส่อาจถูกสังคมรังเกียจ) และหมั่นล้างมือ พื้นที่ปิดที่เป็นแหล่งรวมคนเยอะๆ ก็ปิดไปก่อน อย่างตัวเองก็ได้รับผลกระทบเพราะมหาลัยเลื่อนเปิดเทอมไปสองอาทิตย์ โรงเรียนอนุบาล-มัธยมก็อาจจะเลื่อนออกไปอีก"
"แต่เราก็ยังไม่เห็นว่าร้านรวงจะปิดกันหมดนะ อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ยังมี หน้ากากหรือเจลก็หาซื้อได้อยู่ เพื่อนที่อยู่ในอีกย่านนึงก็บอกตรงกัน มันยังไม่ถึงกับเป็นวิกฤตแบบอู่ฮั่น (แต่แดกูมันก็คนละเรื่อง เพราะเป็นศูนย์กลางการแพร่เชื้อ) และสังคมก็ยังไม่ panic จนเกินไป"
"ที่เขียนมาซะยืดยาว คีย์เวิร์ดก็คือ เมื่อรัฐบาลทำหน้าที่แข็งขันในหลายด้าน คนก็มีความเชื่อมั่น และ "ไม่ตื่นตระหนก" อาจจะเลี่ยงกิจกรรมที่พอเลี่ยงได้ ส่วนคนไหนต้องไปทำงานหรือออกข้างนอกก็ดูแลความสะอาดของตัวเองเป็นพอ เพราะเอาจริงๆ คนที่ติดเชื้อหลายคนก็พอจะรักษาตัวกันได้อยู่ แต่ถ้า manage crisis ไม่ได้อาจจะพังกันหมด ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับด้วยว่าเกาหลีเคยผ่านวิกฤตโรคซาร์สมาก่อน เลยอาจมีวิธีรับมือไว้แล้วบ้าง"
ส่วนกรณีของหญิงสูงวัยที่เป็นสมาชิกลัทธิ 'ชินจอนจิ' ซึ่งกลายเป็นผู้แพร่เชื้อรายใหญ่ หรือ super spreader ก็ยังมีข้อดีแฝงอยู่บ้าง โดยศิปปชัยระบุว่า การแพร่เชื้อในโบสถ์แห่งนี้ทำให้นักวิจัยในอีกหลายประเทศเข้าใจรูปแบบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในพื้นที่ปิดและแออัด โดยที่ผู้ป่วยและผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยไม่ได้ป้องกันตัวเองและไม่มีสุขอนามัยเพียงพอ
ข้อมูลดังกล่าวทำให้สามารถนำไปปรับวิธีการรับมือได้ในเวลาต่อมา นำไปสู่การรณรงค์ให้รักษาความสะอาดส่วนบุคคลด้วยการล้างมือและการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดหรือมีคนแออัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: