นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ขณะนั้นลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 64/2559 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือ คสช.มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น
สืบเนื่องจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ถูกสั่งให้พักราชการชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบข้อครหาทุจริตในหลายโครงการของ กทม. (ดูรายละเอียดคำสั่งได้ที่ :http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/238/9.PDF)
หากย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 ที่มีพิธีฉลองก้าวสู่ปีที่ 45 ของกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ได้แถลงนโยบายให้ประชาชนรับทราบ โดยประกาศ 1 ภารกิจพิเศษ 5 นโยบายทันใจ 19 ภารกิจผลักดันทันที ที่พร้อมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทันที ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี ภายใต้แนวคิด 'ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที'
ประกอบไปด้วย ภารกิจพิเศษ คือ การบริหารจัดการมณฑลพิธีท้องสนามหลวงและดูแลประชาชนที่เดินทางมากราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดชให้ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด
ส่วน 5 นโยบายทันใจ ประกอบไปด้วย 1. สะอาด คือ บ้านเมืองสะอาด การบริหารราชการใสสะอาด 2.สะดวก ได้แก่ เดินทางสะดวก ใช้ชีวิตสะดวก ข้อมูลสะดวก 3. ชีวิตปลอดภัย ทรัพย์สินปลอดภัย และชุมชนและสังคมปลอดภัย 4. ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ และ 5. วิถีพอเพียง ภูมิใจในรากฐานไทย พอใจในความเป็นอยู่
อีก 19 ภารกิจ ผลักดันทันที ได้แก่ 1.การจัดตั้งศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด 2. บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ให้ชาวกทม. ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของบ้าน ร้านค้า จิตอาสา ร่วมทำความสะอาดย่านชุมชน ย่านการค้า คูคลอง ทั่วกทม. อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
3. รณรงค์เก็บผักตบผักชวาทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองทั่วกรุงเทพ โดยนำไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
4. แบงกอกทูยู รู้ทันเหตุการณ์ เป็นแอปพลิเคชันให้บริการข้อมูลประชาชน เกี่ยวกับสภาพฝน สภาพน้ำท่วม สภาพการจราจรบนท้องถนนที่เป็นปัจจุบัน 5. น้ำเร่งระบาย สั่งการได้ทันที 24 ชั่วโมง
6.ชวนเอกชนทำแก้มลิง อิงศาสตร์พระราชาในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม 7.ทางแยกห่วงใย ใส่ใจทุกคน เป็นการพัฒนาทางแยกปลอดภัยร่วมกับภาคเอกชนให้กับผู้พิการ ผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไป
8.ปรับจริง จับจริง รถจอดและวิ่งบนทางเท้า 9. สั่งปิดสถานบริการฝ่าฝืนกฎหมาย ดำเนินการทันที 10. พลับบิค อายส์ เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 24 ชั่วโมง
11. เปลี่ยนพื้นที่เปลี่ยวเป็นพื้นที่โปร่ง ตัดวงจรอาชญากรรม 12. ปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา
13. ปลูกต้นรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 14. บางกอก สเปเชียล แคร์ ดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ 15. เร่งรัดโครงการ “พระปกเกล้า สกายปาร์ค”
16. เปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็น “พื้นที่ชุมชนสามัคคคี สร้างสุขPภาวะดีเพื่อชีวิต” 1 เขต 1 ชุมชน 17.สร้างชื่อเสียงด้านการศึกษาและมาตรฐานวิชาการอย่างเท่าเทียมกัน
18. เปิดแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา และ19. จัด "ย่านเดินเพลินกรุงรัตนโกสินทร์"
จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 4 ปี ที่พล.ต.อ.อัศวิน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ผลงานของ พล.ต.อ.อัศวินที่เป็นที่กล่าวขานมากที่สุด นั่นก็คือ การทวงคืนพื้นที่ป้อมมหากาฬ เพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์ โบราณสถานของชาติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
นับเป็นการปิดตำนานมหากาพย์ของการยื้อชุมชนเพราะโครงการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นสวนสาธารณะ ประกาศมาตั้งแต่ปี 2546 ในยุคของผู้ว่าฯ กทม. สมัคร สุนทรเวช แต่มีการประท้วง เรียกร้อง และทำวิจัยจากทั้งชุมชนและนักวิชาการเพื่อที่จะรักษาชุมชนแห่งนี้ไว้
ในระหว่างนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวินยังมีผลงานต่างๆ
หากุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำไม่เจอ
ตลอดการทำงานที่ผ่านมาของ พล.ต.อ.อัศวิน อยู่ในสปอตไลท์ตลอดเวลา ดังนั้นไม่ว่าให้สัมภาษณ์อะไร มักจะเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะการออกมาสื่อสารในยามที่กรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญวิกฤติต่างๆ
ปี 2561 เหตุการณ์ที่ทำให้โซเชียลมีเดียรุมถล่มอย่างกว้างขวาง
1 ต.ค. 2561 กรุงเทพมหานครเกิดฝนตกกระหน่ำจนเกิดน้ำท่วมขังบริเวณวงเวียนบางเขน สูงประมาณ 20 เซนติเมตร และใช้เวลาระบายน้ำร่วม 2 ชั่วโมงนั้น พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำบริเวณปากซอยวิภาวดี-รังสิต 44 ว่า แม้ กทม.ดำเนินการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) เสร็จแล้ว เนื่องจากผู้รับเหมายังไม่ได้ส่งมอบงานให้ กทม. ทำให้เจ้าหน้าที่ กทม. ไม่มีกุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำ จึงสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทำกุญแจสำรองไว้หลายดอก เพราะปัญหาลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ยอมรับเป็นความผิดของ กทม.
ดราม่าเคลมผลงานป้ายรถเมล์ใหม่ ทั้งที่ไม่เคยช่วย
พล.ต.อ.อัศวิน ได้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กเรื่องที่ กทม. ได้ทดลองนำป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่มาทดลองใช้ โดยระบุว่า ได้รูปแบบจากแนวคิดของภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มเมเดย์ (Mayday)ซึ่งในปี 2562 กทม. จะจัดสรรงบประมาณมาปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์เป็นรูปแบบใหม่ จำนวน 500 ป้าย
ต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นตัวแทนของทีมเมเดย์ ออกมาตอบโต้ว่า พล.ต.อ.อัศวิน ไม่เคยมาร่วมประชุมเรื่องดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียว และไม่เคยให้การสนับสนุนใดๆ ในการทำโครงการดังกล่าว แต่กลับเคลมเป็นผลงานของตนเอง ทำให้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมาก เข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อว่าในเพจของ ผู้ว่าฯ กทม. ที่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง พร้อมเรียกร้องให้มีการให้เครดิตและให้เกียรติกับคนที่ทำงานจริงด้วย
ต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน ต้องออกมาชี้แจงว่า ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ ไม่ใช่ผลงานของตนเอง ซึ่งตนก็บอกไปในเฟซบุ๊กแล้วว่า เป็นการนำแนวคิดจากกลุ่มของภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มเมย์เดย์ มาผลิตเป็นป้ายหยุดรถเมล์ ซึ่งนำร่องไปแล้ว 30 ป้าย และ กทม.ก็ได้จัดสรรงบฯ ในปี 2562 และ 2563 เพื่อจัดทำป้ายไปติดตั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อการเดินทางและที่ที่มีประชาชนใช้เส้นทางจำนวนมาก
พล.ต.อ.อัศวิน ระบุว่า กทม.กับกลุ่มเมย์เดย์ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ซึ่งตนดีใจและขอขอบคุณที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เพราะสิ่งที่ท่านคิด ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์และตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนรวม กทม.เพียงแต่นำความคิดของท่านมาทำให้มันเกิดขึ้นจริงเท่านั้น
ไร้เงายามน้ำท่วมกรุง ยันลงพื้นที่แค่ไม่ได้ออกสื่อ
เกิดกระแสดราม่าในช่วงน้ำท่วม ไม่เจอหน้าผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจการระบายน้ำ แต่ พล.ต.อ.อัศวิน ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า คนวิจารณ์อาจเข้าใจว่าตนไม่ทำอะไร แต่ที่จริงแล้วทำงานตลอด แต่อาจจะไม่ได้ออกสื่อ เพราะหลายครั้งเกิดฝนตกหนักหรือน้ำท่วมในช่วงเวลากลางดึกก็ลงไปพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาทันที จะให้เชิญสื่อมาทำข่าวก็เกรงใจ
75 นักวิชาการจี้ทิ้งผู้ว่าฯ เปิดทางเลือกตั้ง
ในระหว่างนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น (คปท.) จำนวน 75 คน มีมติให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ตามเจตจำนงอันเป็นอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
ทั้งหมดคือผลงานในช่วง 4 ปีกว่า ของผู้ว่าฯ อัศวิน
แม้ล่าสุด ผู้ว่าฯ อัศวิน ให้สัมภาษณ์โดยไม่มีความชัดเจนจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่
พล.ต.อ.อัศวิน บอกเพียงว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่เตรียมตัวฟิตร่างกายตลอด ซึ่งประชาชนก็รู้ว่าตนเตรียมตัวอยู่แล้ว
ในระหว่าง 4 ปีกว่า ผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช.ก็อยู่ยาวจนถึงปีที่ 5 การแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ จะโดนใจหรือไม่
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเวลาอันใกล้นี้ที่คาดว่าไม่เกินปลายปี 2564 คงได้รู้คำตอบกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง