สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ 'ยูเอ็นเอชซีอาร์' UNHCR เผยผลสำรวจสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั่วโลกตลอดปี 2018 พบว่า ปีที่แล้วมีผู้ลี้ภัย, ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นในประเทศ รวมแล้วมากกว่า 70.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี และตัวเลขผู้ลี้ภัยนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลงง่ายๆ
รายงานของยูเอ็นเอชซีอาร์บ่งชี้ว่า สาเหตุที่คนต้องลี้ภัย หรือแสวงหาที่ลี้ภัย เกิดจากสงครามความขัดแย้ง สภาพแวดล้อมในสังคมที่ใช้ความรุนแรง มีค่านิยมบางอย่างไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเด็นทางเศรษฐกิจและประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติในประเทศของตัวเอง
เนื้อหาในรายงานยังบอกอีกว่า ประชากร ราว 41.3 ล้านคนที่อยู่ในกลุ่มผู้ลี้ภัยกว่า 70 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว คือ กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า 'ผู้พลัดถิ่นในประเทศ' (internal displaced people) หรือ IDP ซึ่งหมายถึงคนที่จำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นที่อยู่เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศของตัวเอง ขณะที่ประชากรอีก 29.4 ล้านคนต้องอพยพลี้ภัยไปต่างประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่าเป็นผู้ลี้ภัย หรือ refugee รวมถึงผู้แสวงหาที่ลี้ภัย หรือ asylum seeker
กรณีของผู้ลี้ภัย หรือ refugee ส่วนใหญ่จะถูกบีบบังคับด้วยสภาพแวดล้อมให้ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสงครามความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรงในสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ และถ้าหากคนเหล่านี้ไม่ลี้ภัย ก็อาจจะต้องเสี่ยงอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
ส่วนกรณีของผู้แสวงหาที่ลี้ภัย หรือ asylum seeker มักจะเกิดจากการที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถอยู่ในประเทศต้นทางของตัวเองได้เพราะถูกคุกคามหรือตกเป็นเป้าการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ได้เป็นความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่เรียกได้ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพร้ายแรง เช่น ผู้หญิงที่อยู่ในสังคมที่มีค่านิยมขลิบอวัยวะเพศ หรือคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมจนถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่และไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ รวมถึงคนในประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายรุนแรงในบางเรื่อง เช่น การลงโทษทางอาญากับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งถ้าเป็นประเทศที่ยึดหลักนิติรัฐและสิทธิมนุษยชน จะไม่ถือว่าเป็นความผิด
ส่วนประเทศที่มีผู้ลี้ภัยไปต่างแดนมากที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา คือ 'ซีเรีย' ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อมาหลายปี โดยสถิติผู้ลี้ภัยจากซีเรีย คิดเป็นจำนวนกว่า 12.9 ล้านคน รองลงมาคือ โคลอมเบีย, ปาเลสไตน์, อัฟกานิสถาน, เซาท์ซูดาน, ดีอาร์คองโก, โซมาเลีย, ซูดาน, อิรัก และไนจีเรีย โดยประเทศทั้งหมดนี้มีการทำสงคราม และมีการสู้รบที่เป็นอันตรายกับประชาชนธรรมดา จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่คนต้องหนีตายไปเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอื่น
ขณะที่กรณีชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ลี้ภัยความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาไปที่บังกลาเทศ กำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อหาทางส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับประเทศ แต่ยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะเงื่อนไขของรัฐบาลเมียนมา ไม่สามารถทำให้ผู้ลี้ภัยมั่นใจได้ว่า ถ้าพวกเขาถูกส่งกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมแล้วจะได้รับการดูแลคุ้มครองที่ดีในฐานะพลเมืองเต็มตัวจากรัฐบาลเมียนมา
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือกับผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่นานาชาติต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะประเทศที่เป็นสมาชิก 'อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย' มีหน้าที่ที่จะต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก ด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และต้องไม่ส่งกลุ่มคนเหล่านี้กลับไปยังประเทศต้นทางที่หนีมา เพราะอาจทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตรายได้
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ วิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซูเอลา ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง และขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ชาวเวเนซูเอลานับแสนคนจึงตัดสินใจอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ถ้าหากรัฐบาลเวเนซูเอลาไม่สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจ หรือหามาตรการช่วยเหลือประชาชนของตัวเองได้ การอพยพลี้ภัยด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่มีทางเลี่ยง
องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งที่ให้ความสนับสนุนรัฐบาลที่รับผิดชอบดูแลผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะยูเอ็นเอชซีอาร์ จึงพยายามเตือนหลายๆ ประเทศว่า ตราบใดที่ปัญหาความขัดแย้งหรือความรุนแรงในประเทศต้นทางยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะไม่สามารถยุติปัญหาผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นได้ เพราะบางประเทศ แม้จะส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม เช่น อิรักและอัฟกานิสถาน แต่สุดท้ายผู้ลี้ภัยก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ และต้องลี้ภัยอีกครั้ง เพราะปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตยังคงเหมือนเดิม
อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน คือ มากกว่าครึ่งของผู้ลี้ภัยเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งต้องอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราว หรือต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ เฉลี่ยคนละประมาณ 17 ปี ถึงจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่หรือได้กลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งในระหว่างนี้ ผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กจะสูญเสียโอกาสทางการศึกษา และจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: